แนะใช้ผลิตภัณฑ์ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม "กรมทะเล" หนุนครีมกันแดดไม่ทำลายปะการัง
"วราวุธ" วอนเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม “กรมทะเล” จับมือ “มีสทีน” ร่วมมือต่อยอดวิจัยครีมกันแดดไม่ทำลายปะการัง
ภายหลังจากมีการประกาศห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่ผสมสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่อาจส่งผลกระทบต่อตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์ และทำให้เกิดปะการังฟอกขาว ด้านกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งยกระดับมาตรการในพื้นที่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อรักษาแนวปะการังไม่ให้ได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่ผสมในครีมกันแดด
โดยได้จับมือร่วมกับบริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องสำอางยี่ห้อมีสทีน ร่วมวิจัยและศึกษาผลกระทบต่อทรัพยากรปะการัง ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นวอนทุกฝ่ายให้ความสำคัญ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์และยั่งยืน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า นับตั้งแต่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประกาศห้ามนำและใช้ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่ผสมสารเคมี 4 ประเภท ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรปะการัง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากนักท่องเที่ยวและพี่น้องประชาชนที่เดินทางเข้าไปยังเขตอุทยานแห่งชาติอย่างดี ตนคิดว่าเรื่องนี้หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากเราสามารถช่วยรักษาระบบนิเวศปะการังในทุกช่องทางที่อาจจะส่งผลกระทบทางลบได้
นอกจากนี้ ตนได้หารือกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการหาแนวทางส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาวิจัยผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากสารเคมีอื่น เพื่อจะได้ป้องกันผลกระทบต่อปะการัง รวมถึง สิ่งแวดล้อมและคุณภาพน้ำทะเล อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าด้วยนวัตกรรมและงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมาก การคิดค้นสารที่ช่วยดูแลมนุษย์โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติคงไม่ใช่เรื่องยาก ตนอยากจะย้ำกับผู้ผลิตสินค้าและพี่น้องประชาชนในฐานะผู้บริโภคว่า
“การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนต้องคำนึงถึง ผลิตภัณฑ์บางอย่างอาจจะไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด แต่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ก็ควรเลือกสิ่งนั้น สิ่งเล็ก ๆ ที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ย่อมส่งผลที่ยิ่งใหญ่ต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติของโลกได้ต่อไปในอนาคต” นายวราวุธ กล่าว
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า ผลกระทบเนื่องจากสารเคมีหลักสำคัญ 4 ชนิด ได้แก่ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3), Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate), 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben ต่อปะการัง ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า สารเคมีดังกล่าวมีผลกระทบต่อตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์ และทำให้เกิดปะการังฟอกขาว ซึ่งหลายประเทศได้ห้ามใช้ครีมกันแดดที่ผสมสารที่ส่งผลกระทบต่อปะการัง เช่น ประเทศปาเลา รัฐฮาวาย หมู่เกาะเวอร์จิน คีย์เวสต์ (ฟอริดา) สหรัฐอเมริกา เกาะอารูบา และ เกาะโบเนเรอ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น ซึ่งสารเคมีที่ประกาศห้ามใช้จะเป็น 4 ตัว หลักเช่นเดียวกับที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนด
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้หารือกับนายดนัย ดีโรจนวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อหาแนวทางการยกระดับการดำเนินงานและต่อยอดงานวิจัยสารเคมีที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศปะการัง ซึ่งทางบริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ผลิตครีมกันแดด 2 ชนิด ที่ไม่ผสมสารที่ทำลายปะการังทั้ง 4 ตัว โดยจะวางจำหน่ายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 และมีแผนผลิตเวชสำอางที่เป็นมิตรกับทรัพยากรทางทะเลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนขอขอบคุณบริษัทเบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย)จำกัด ที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี
"อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำลังจะออกประกาศคำสั่งห้ามใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีทั้ง4ชนิด ในแหล่งดำน้ำกองหินใต้น้ำในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี,ระยอง,ชุมพร,สุราษฎร์ธานี,พังงาและสตูลรวม รวม20แห่ง" นายโสภณ กล่าว