ทำอย่างไร…ให้ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง
เจาะใจ มิตรสหาย เครือข่ายสหายธรรมของ "พระอโสโกภิกฺขุ" (กากัน มาลิค) กับภารกิจทำอย่างไร…ให้ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง
ย้อนกลับไปเมื่อไม่นานมานี้ ข่าวใหญ่ที่น่าอิ่มเอมมากเรื่องหนึ่งในฐานะพุทธศาสนิกชน คือเรื่อง พระกากัน อโสโก (มาลิค) นักแสดงบอลลีวูด ผู้รับบทเจ้าชายสิทธัตถะ ในเรื่อง Sri Siddhartha Gautama ได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เพื่อศึกษาหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้อวัตรปฏิบัติของนักบวช และเรียนรู้วิถีสันติภายใน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 เบื้องต้นกำหนดลาสิกขาในวัน ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 และได้เลื่อนไม่มีกำหนด
ข่าวดังกล่าว มีอีกหนึ่งบุคคลที่น่าสนใจ เป็นผู้ที่อยู่เคียงข้างตลอด พร้อมเป็นแรงสนับสนุน เชิญชวนให้ พระกากัน อโสโก เดินทางมาบวชที่วัดธาตุทอง พระอารามหลวง กรุงเทพมหานคร เขาผู้นั้นคือ ว่าที่ร้อยเอกณัฏฐกิตติ์ ชัยเฉลิมมงคล ในเมืองไทยหลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะ “ไวยาวัจกร” แต่ที่ประเทศอินเดียนั้น มีชาวพุทธหลายคนเรียกเขาว่า Buddhist Hero
เริ่มต้นจังหวะชีวิต ว่าที่ร้อยเอกณัฏฐกิตติ์ ชัยเฉลิมมงคล สู่ “ไวยาวัจกร” วัดธาตุทอง
ตอนนี้ผมเป็นไวยาวัจกรวัดธาตุทอง พระอารามหลวง ไวยาวัจกร คือ ตัวแทนของพระภิกษุ ในทางปฎิบัติแล้ว “ไวยาวัจกร” เปรียบเสมือนผู้ช่วยเจ้าอาวาสฝ่ายฆราวาส ที่จะต้องคอยรับใช้ สนองงานในสิ่งที่ท่านเจ้าอาวาสมอบหมาย โดยเฉพาะในเรื่องที่พระสงฆ์ท่านไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง เช่นการซื้อขาย การจัดการเรื่องการเงินหรือด้านผลประโยชน์อื่นๆ ของวัด ที่นี่ก็จะมีทั้งหมดแปดท่าน ถ้าไล่ลำดับลงมาก็เป็นคนในสังคม เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เป็นอาจารย์ ส่วนผมเองเป็นคนไม่มีโปรไฟล์แต่ด้วยความที่ผมรับใช้ใกล้ชิดหลวงพ่อและเป็นคนรุ่นใหม่ หลวงพ่อท่านมีวิสัยทัศน์จึงให้มาช่วยตรงนี้
วัดธาตุทอง มีทั้งหมด 54 ไร่ ใจกลางเมืองหลวงถือว่าเป็นวัดที่ค่อนข้างใหญ่ และผมก็วัยรุ่นที่เข้ามาทำตรงนี้ได้เพราะเป็นจังหวะ เพราะไวยาวัจกรส่วนใหญ่อายุหกสิบกว่าทั้งนั้น และหลวงพ่อเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันมองว่า ตอนนี้ศาสนาพุทธต้องการคนรุ่นใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลง และเชื่อมต่อระหว่างศาสนาและคนปัจจุบันให้มากขึ้น เพราะสมัยนี้เด็กรุ่นใหม่อาจจะสงสัยว่าศาสนาพุทธเป็นอย่างไร คนเข้าวัดน้อยลง และในปัจจุบันอัตราคนที่ไม่นับถือศาสนาอะไรเลยมีเยอะขึ้น
หลายคนอาจจะคิดว่าวัดธาตุทองเด่นเรื่องงานสวดพระอภิธรรมศพ งานฌาปนกิจศพ แต่จริงๆ แล้ว วัดธาตุทองเด่นเรื่องงานสังคมสงเคราะห์ เพราะภายในวัดธาตุทองนอกจากเขตพุทธาวาส และสังฆาวาสแล้ว ยังประกอบด้วยหน่วยงานอื่นๆ มีทั้งโรงพยาบาล มีสถานศึกษา ตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียนไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 และยังมีศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน ในสังกัดกรุงเทพมหานคร ส่งเสริมด้านอาชีพโดยเฉพาะทุกอย่างถูกปูมาตั้งแต่สมัยท่านเจ้าอาวาสองค์ที่แล้ว
ต่อมาหลวงพ่อพระราชวรญาณโสภณ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันก็ได้สืบสานเจตนารมณ์ต่อ ที่โรงเรียนอนุบาลวัดธาตุทอง เราช่วยเหลือเด็กที่ขาดโอกาสทางด้านการเรียนตั้งแต่อนุบาล โดยโรงเรียนอนุบาลวัดธาตุทอง สนับสนุนให้เด็กที่ขาดโอกาส สามารถที่จะมาเรียนได้เพราะเราไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียม บริหารงานโดย มูลนิธิวัดธาตุทอง ซึ่งวัดธาตุทองนั้น หากจะกล่าวก็เปรียบเสมือนจุดประสานบ้าน วัด ชุมชน โรงเรียน สถานพยาบาล สถานที่ราชการ ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง เป็นศูนย์กลางของสังคม ชุมชน เป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้าน ทุกชาติ ทุกศาสนา ทั้งทางโลกและทางธรรม
มิตรสหายเครือข่ายสหายธรรมในประเทศไทย เริ่มต้นอย่างไร?
จริงๆ ผมมีความผูกพันกับศาสนาพุทธมาตั้งแต่เด็ก ผมเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อ พระเดชพระคุณท่านเจ้าอาวาสตั้งแต่เด็ก ตอนหลังผมก็หันมาทำธุรกิจส่วนตัว พอพักจากงานธุรกิจส่วนตัว ผมก็ไปเรียนต่อระดับปริญญาโท ด้านพุทธศาสนา(วิชาสันติศึกษา) และด้วยความที่เราชอบทำกิจกรรมทางด้านศาสนาพุทธอยู่แล้ว ประกอบกับขณะนี้กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก หลักสูตรสันติศึกษา ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตรงนี้ ทำให้เรามีเครือข่ายคนที่ใจบุญ ญาติธรรมเยอะ ทั้งนักบวชและฆราวาส จึงเกิดความเชื่อมโยงกัน ระหว่างเครือข่ายเรา ซึ่งเครือข่ายค่อนข้างใหญ่ และก่อนที่ผมจะเรียนทางด้านพุทธศาสนา ผมก็เป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว ประกอบกับก่อนที่ตัดสินใจเรียนปริญญาโทไม่นาน ผมก็ได้รู้จัก พระกากัน อโสโก (กากัน มาลิค) จึงได้เข้าไปสัมผัสพุทธศาสนาที่ไม่ใช่พุทธศาสนาในเมืองไทย ไปดูวิถีของพุทธของคนอินเดีย
กลายเป็นจุดเริ่มต้น สนใจงานถ่ายทอดศาสนาพุทธให้กับคนทั่วไปอย่างจริงจัง
มาจากตอนที่ผมไปอินเดีย คือ ผมเข้าใจมาตลอดว่าอินเดียเป็นเมืองพุทธ พอได้เข้าไปสัมผัสจึงทำให้รู้ว่าแต่ก่อนมี ดร.อัมเบ็ดการ์ ซึ่งผมมองว่าเขาเป็นฮีโร่ของพระพุทธศาสนา เพราะศาสนาพุทธเคยหายไปจากอินเดีย วันดีคืนดี ดร.อัมเบ็ดการ์ พาคนฮินดูนอกวรรณะกว่า 300,000 คน ประกาศตัวเป็นพุทธมามกะ เหมือนการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งพระพุทธศาสนาให้กลับมาแผ่ร่มเงาขจัดทุกข์ให้กับผู้คนในอินเดียอีกครั้ง แต่ถึงกระนั้นศาสนาพุทธในอินเดียก็ยังไปไม่สุด คนพุทธที่นั้นต้องการการช่วยเหลือ ตรงนี้ทำให้รู้สึกว่าถ้าผมได้ช่วยทำอะไรบ้างก็จะเป็นบุญอย่างหนึ่ง เพราะคนที่เกิดในเมืองไทยชินกับการทำบุญ แต่สิ่งที่ท้าทายกว่าข้อต่อไปนี้คือ ทำอย่างไรให้ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง ถ้าใครทำได้คิดว่าคงเป็นกุศลมหาศาล
ส่วนตัวผมเชื่อว่า ใครไปอินเดียต้องค้นพบอะไรบางอย่างที่อินเดียกลับมา ตัวผมเองครั้งหนึ่งที่เดินทางไปทำกิจกรรมที่ประเทศอินเดียเมื่อหลายปีก่อนอยู่ ๆ ก็มีภาพขึ้นมาในหัว เห็นวันสุดท้ายของตัวเอง ผมนั่งอยู่ที่ทุ่งหญ้าสีน้ำตาล ริมน้ำ แล้วผมก็นั่งเขียนอะไรบางอย่างที่ทำให้ผมมีความสุขมาก ช่วงขณะนั้นทำให้รู้สึกว่าตนเองเกิดปัญญา ว่าชีวิตคนเราแท้จริงไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย ขอเพียงแค่วินาทีชีวิตสุดท้ายของทุกคน เรามีความสุข นั่นคือสวรรค์แล้ว ก็เลยเข้าใจว่าถ้าเราทำงานศาสนาแล้วมีความสุข แล้วเราทำต่อไปเรื่อย ๆ จนลมหายใจสุดท้าย นั่นคือ วันที่ผมคงมีความสุขมากและจากโลกนี้ไปสู่ภพภูมิที่ดี คิดว่าไหน ๆ ก็มาสายนี้แล้ว การจะไปให้สุดเราก็ควรจะต้องติดปีกหน่อ
การได้รับรางวัล "ผู้นำโลกรุ่นใหม่ สาขาสันติภาพ" ที่เนปาล
หลังจากที่ผมเปิดตัวว่าเป็นนักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางพุทธศาสนา คือคำว่า นักกิจกรรมทางพุทธศาสนา นั้นมันกว้างมากเพราะรวมถึงการเคลื่อนไหว การฟื้นฟู กิจกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนาทั้งหมดโดยไม่มีวาระแอบแฝงนั่นคืองานที่ผมอยากทำ แต่ต้องทำด้วยความเต็มใจ อย่างเช่นที่ผมได้มีโอกาสไปทำกิจกรรมที่อินเดีย ทางอินเดียก็ต้องเต็มใจ ไม่ใช่เราไปยัดเยียด หรือไปหลอกใคร ไม่อย่างนั้นผมคงไม่รู้สึกแฮปปี้แน่ ๆ แนวทางคือ การทำให้ทุกที่ที่เราไป เขาต้องรู้สึกแฮปปี้ เขาต้องได้ประโยชน์และอยากให้เรากลับไปอีก ตอนหลังกลับมา คนอินเดียก็เชิญชวนให้ผมไปทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาอีก มีพระภิกษุนักกิจกรรมองค์หนึ่งในอินเดียเคยกล่าวไว้ว่า หากถามว่า “ณัฏฐกิตติ์เป็นใคร?” ท่านสามารถตอบได้อย่างเต็มปากว่า “ณัฏฐกิตติ์ คือฮีโร่ของพวกเรา” เขาเรียกว่าผมเป็น Buddhist Hero ซึ่งผมไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนตอบแบบนี้ แต่คนไทยที่ร่วมเดินทางไปทำกิจกรรมกับผม กลับมาพูดต่อว่า ณัฏฐกิตติ์ เป็นฮีโร่ของชาวพุทธในอินเดียเลยนะ ซึ่งมันก็เป็นความรู้สึกลึกๆ ที่เราแอบภูมิใจ
นั่นเป็นจุดเริ่มต้น แต่ต่อมาซึ่งผมเชื่อว่าเป็นสาเหตุ คือ โดยปกติเวลาทำกิจกรรมอะไรผมก็จะโพสต์ไปเรื่อยๆ ก็ทำให้มีเครือข่ายคนพุทธมากขึ้นทั้งเมืองไทย เนปาล ศรีลังกา ฯลฯ ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้ก็จะรู้จักกัน จนมันเชื่อมโยงไปกับสภาเยาวชนโลก ซึ่งที่เนปาลเขาก็จัดฟอรัมขึ้นมา เกี่ยวเนื่องกับผู้นำรุ่นใหม่ โดยแต่ละประเทศสามารถร่วมกันส่งรายชื่อเสนอขึ้นไป เพื่อรับการพิจารณา ซึ่งก็จะมีหลายคน ปรากฎว่า เพื่อนผมซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก บอกว่า ได้เห็นและติดตามกิจกรรมที่เราได้ทำเพื่อพระพุทธศาสนา เลยอยากเสนอชื่อให้ มันก็แล้วแต่ยูว่าจะอยู่หัวข้อไหน ซึ่งผมก็เป็นหัวข้อ สันติภาพ ศาสนาพุทธคือศาสนาแห่งสันติภาพ ปรากฎว่าก็ได้ผ่านการคัดเลือกเข้ารับรางวัลอันทรงเกียรติดังกล่าวมา
ที่มาของการขนามนามให้เป็น Buddhist Hero?
เริ่มแรกผมไปกับคุณกากัน ที่อินเดียก็จะจำผมได้ ว่า กัปตันณัฏฐกิตติ์ อยู่ประเทศไทย เป็นชาวพุทธที่เลื่อมใสในศาสนาพุทธมาก แต่ผมไม่ได้คาดหวังเรื่องเกียรติยศชื่อเสียง เราแค่รู้สึกว่าเราเป็นนักกิจกรรมมาโดยตลอด อย่างพระท่านอยากได้ผ้าไตรจีวรเพื่อนำไปบรรพชาสามเณรสัก 100 ชุด กลับมาเมืองไทยเราก็เป็นสะพานบุญคุยกับเพื่อนที่ไทยว่า ที่อินเดียเขาจะบรรพชาเณรไม่ทราบว่าคนไทยสนใจไหม? ปรากฎว่าในเวลาอันรวดเร็วเราสามารถรวบรวมผ้าไตร 100 ชุดได้ตามที่เขาต้องการ และเราก็สามารถส่งให้เขาได้เลย เขารู้สึกว่านี่คือสะพานบุญที่ดีมาก
นั่นคือ Perception (การรับรู้) ของคนพุทธในอินเดีย คือมองว่าคนพุทธในต่างแดนเป็นที่พี่งได้ เขาสามารถขอความช่วยเหลือได้ ตอนหลังก็มีการสร้างพระประธานองค์ใหญ่ ไปมอบให้ในชุมชนชาวพุทธที่นั่น ครั้งแรกผมนำพระพุทธรูปนำไปมอบให้พระสงฆ์ ที่อินเดีย 200 องค์ ปรากฏว่ามันเป็นความนิยมของเขาด้วย และเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าประเทศไทย ช่วยเหลือทางศาสนาให้เขา เพราะพระพุทธรูปที่เราส่งไป เป็นพุทธศิลป์แบบไทย แจกไปสักพักคนจำภาพผมว่าผมมอบพระพุทธรูป บังเอิญมีโครงการกำลังใจของพระองค์ภาฯ (โครงการกำลังใจในพระดำริ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงฯ) สอนให้นักโทษที่มีโทษสูง มีกิจกรรมทำ
หนึ่งในนั้นคืองานปั้นพระพุทธรูปเป็นโครงการฯ ปั้นพระพุทธรูปจากนักโทษอุกฉกรรจ์ โดยมีนัยยะเพื่อช่วยขัดเกลาจิตใจพวกเขาด้วย บางคนปั้นไปน้ำตาไหลไป บางคนได้รับโทษประหารชีวิตแต่ปั้นพระพุทธรูปออกมาได้สวยงาม ชื่อโครงการว่า “ปั้นดินให้เป็นบุญ” โดยการนำของ อาจารย์อรสม สุทธิสาคร นักเขียน และศิลปินแห่งชาติ ซึ่งนักโทษจะปั้นพระพุทธรูปขึ้นมา ซึ่งแต่ละรุ่นจะมีการประกวดกันว่า พระพุทธรูปองค์ไหนที่สวยที่สุด แล้วเอาองค์นั้นมาหล่อเพื่อที่จะให้ประชาชนร่วมบุญ ทำบุญ สร้างพระพุทธรูปองค์นี้เพื่อนำไประดิษฐานตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ
บังเอิญมีรุ่นพิเศษที่ทำไว้ 51 องค์เพื่อที่จะส่งให้ดินแดนพุทธภูมิ หรือ อินเดีย ซึ่งรุ่นก่อนหน้านี้ส่งมอบให้เนปาล ซึ่ง อาจารย์ อรสม สุทธิสาคร โดยมีที่ปรึกษาโครงการฯ คือ พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ผู้สืบทอดเชื้อสายศากยะ จากสายพระอานนท์ ท่านก็แนะนำว่าถ้าจะส่งพระพุทธรูปไปประเทศอินเดีย ไปที่ ๆ เป็นชุมชนของชาวพุทธคนอินเดียจริง ๆ ท่านแนะนำให้คุยกับผม อาจารย์อรสม เลยติดต่อผมเพื่อขอคุยเรื่องรายละเอียดโครงการ และจะมีการส่งมอบผลงานส่วนหนึ่งไปประเทศอินเดีย
มันลงตัวตรงที่ว่า ผมรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร คือ ผมต้องมอบพระพุทธรูป (51 องค์ ที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคร่วมบุญมา) ให้สถานที่ ๆ ที่พวกเขาได้ประกอบศาสนกิจจริง ๆ ผมจะไม่ส่งมอบพระพุทธรูปใปในสถานที่ที่เขาไม่เห็นคุณค่าของพระพุทธรูปอยู่แล้ว ผมก็เลยประสานงาน กับท่านศรีราชกุมาร บาโดเล่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและช่วยเหลือพิเศษ ในขณะนั้น ผ่านคุณกากัน มาลิค ผมก็บอกท่านว่าอยากส่งพระพุทธรูปเหล่านี้ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วรัฐมหาราษฎร์ แต่มีข้อแม้ว่า สถานที่ ที่จะตั้งพระพุทธรูป
คนเหล่านั้นจะต้องนำไปกราบไหว้บูชา มีการสวดมนต์ ประกอบศาสนกิจจริงเท่านั้น และด้วยความรวดเร็ว ก็มีคนส่งใบสมัครมาเป็นพัน ๆ ใบ ซึ่งรัฐมนตรีบอกว่า 51 องค์ไม่พอแล้ว (ปี 60-61) ระหว่างนั้นผมก็จะประสานงานกับคุณกากันด้วย คือถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาผมจะคุยผ่านคุณกากัน เพราะผู้รู้สึกว่าเขาเหมือนเจ้าถิ่น หลังจากที่เรามอบพระพุทธรูป 51 องค์ไป คุณกากันก็ปิ๊งไอเดียว่าเราจะต้องดำเนินโครงการนี้ต่อไป
แนวคิดและความมุ่งมั่นนำมาสู่การตั้ง “ชมรมไตรรัตนภูมิ” ก้าวต่อไปคือ “มูลนิธิไตรรัตนภูมิ”
อย่างที่ผมบอกไปว่า ทำไมต้องหาเงินเยอะเพื่อที่จะใช้ชีวิตที่สุขสบายจนนาทีสุดท้าย จริงหรือ? หรือการที่เราทำสิ่งที่เรารักจนนาทีสุดท้ายแล้วมีความสุข คือคำตอบ ผมคิดว่าถ้าผมมีเป้าหมายว่า เราไม่ได้ต้องการจะหาเงินเยอะ ๆ เลย แต่ต้องการทำสิ่งที่อยากจะทำ เป็นสะพานบุญโดยไม่ได้ต้องการผลกำไร แต่มีคนร่วมทำด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเรื่อง ผ้าไตร ผมไม่ต้องการมีเงินเพื่อไปซื้อผ้าไตร ผมต้องการแค่คนมาช่วยผมซึ่งผมหิ้วไปเองก็ได้เพราะผมต้องไปอินเดียอยู่แล้ว ซึ่งผมใช้เวลาไม่นานและถ้าทำได้เรื่อย ๆ แบบนี้มันก็โอเค เลยคิดว่าแล้วเราจะมุ่งหาเงินทองเพื่อความร่ำรวยทำไมอีก ถ้ามีคนอยากทำบุญกับเรา เราก็เป็นเหมือนสะพานบุญ เป็นองค์กรการกุศลโดยไม่แสวงหาผลกำไร แต่ทุกอย่างมันก็ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่เราก็ไม่ได้ทำไปเพื่อความสุขสบายหรือร่ำรวย สุดท้ายเราไม่ได้นั่งบนกองเงินกองทองแต่เรานั่งบนความสุขของตัวเองเท่านั้นเอง หลังจากนั้นก็มี พาร์ตเนอร์ เครือข่ายสหายธรรม ไม่ว่าจะเป็น จีน ฟิลิปปินส์ อินเดีย อินโดนีเซีย คือหลากหลายประเทศมาก ยิ่งในประเทศไทย เราก็มีเครือข่ายของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ที่ผมศึกษาในระดับปริญญาโท ประกอบกับ คุณกวาง-ฐิติรัตน์ เฮงสกุล บอกว่ากำลังจะทำโครงการมากมาย ซึ่งมีประโยชน์กับสังคมมาก และ คุณกวางกำลังจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ เกี่ยวกับยา ซึ่งประจวบกับที่ผมก็ทำโปรเจกต์กับคุณกากัน เกี่ยวกับยาอายุรเวชเหมือนกัน มันเชื่อมกันที่เรื่องยาสมุนไพร คือคุณกากัน มาลิคอยากทำ ทำยาสมุนไพร เป็น อาหารเสริม อายุรเวท ในแบบอินเดีย เพื่อแจกจายให้กับพระภิกษุสามเณร และพุทธศาสนิกชนยากไร้
ผมกับคุณกากันมานั่งคิดว่าถ้าเราได้ทำผลิตภัณฑ์อายุรเวทที่มีประโยชน์ และเป็นที่ต้องการของคนทั่วไป ทำจำหน่ายสินค้า แล้วนำกำไรที่ได้ไปบำรุงพุทธศาสนา ควรจะทำอย่างไรดีผมก็นำไปคุยกับคุณกวาง ซึ่งคุณกวางก็ชอบแนวคิดดังกล่าว เราสามคนจึงมาร่วมกันพูดคุยถึงแนวทางในการทำองค์กรการกุศลด้านพระพุทธศาสนาโดยตรง โดยผลกำไรเราจะนำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไม่ได้นำไปใช้เพื่อความสุขของตัวเอง
ส่วน “ไตรรัตนภูมิ” ผมเป็นคนเสนอ “ไตร” หมายถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ “ภูมิ” คือ ภูมิ สื่อถึงแผ่นดินแห่งพระรัตนตรัย ซึ่งคำ ๆ นี้มีความหมายที่ลึกซึ้งและดีมาก สื่อชัดเจนว่า ชมรมของเราซึ่งต่อไปจะเป็นมูลนิธินั้น จะมุ่งเน้นไปทางพระพุทธศาสนา ที่ใดที่ไตรรัตนภูมิไปถึง ที่นั่นคือดินแดนของคนพุทธ ซึ่ง สัญลักษณ์ “ไตรรัตนะ” เป็นสัญลักษณ์เก่าแก่ย้อนได้ถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (แต่ก่อนมีเพียงสัญลักษณ์ เช่น ธรรมจักร ช้าง สิง ต้นโพธิ์ กวาง ฯลฯ คนที่สามก็ชื่อ กวาง อีก ฯลฯ) เรียกว่าเป็นธรรมะจัดสรร
โดยกิจกรรมจะมุ่งเน้นไปในด้านการส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้ตระหนักถึงหลักการแนวคิดและแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ร่วมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับมารุ่งเรืองและยั่งยืนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้พุทธศาสนิกชนที่สนใจ สามารถติดตามข่าวสาร กิจกรรม ความเคลื่อนไหวของชมรมไตรรัตนภูมิ ได้ที่ http://www.worldofbuddhist.com/