รวม 10 เรื่องน่ารู้ก่อนเปิดใช้ “สนามบินเบตง” 14 มี.ค.นี้
เปิด 10 เรื่องน่ารู้ เตรียมเปิดเส้นทางบิน "สนามบินเบตง" เชิงพาณิชย์สู่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ กระตุ้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว 14 มี.ค.นี้
ที่สุดแล้วพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีกำหนดการเป็นประธานเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา วันจันทร์ที่ 14 มี.ค.2565 ณ อาคารที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานเบตง ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
กว่าจะมาถึงการเปิดใช้สนามบินเบตงในปัจจุบัน โครงการเริ่มตั้งแต่เมื่อปี 2558 เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง (สนามบินเบตง) ในพื้นที่ ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา พื้นที่ 920 ไร่ ระยะรันเวย์ 1,800 เมตร กรอบวงเงิน 1,900 ล้านบาท โดยโครงการนี้ผ่านขั้นตอนสำคัญต่างๆ เรียบร้อยแล้ว อาทิ รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ผ่านความเห็นชอบตั้งแต่เดือน ก.ย.2557 และก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2562
ในเบื้องต้น "สนามบินเบตง" คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2564 แต่ด้วยปัญหาหลายปัจจัยทำให้สนามบินยังไม่สามารถเปิดให้บริการการบินเชิงพาณิชย์ได้ ถึงแม้จะมีบางสายการบินทำเรื่องขอดำเนินการไว้แล้ว โดยเฉพาะปัญหาไม่มีจุดจอดเติมน้ำมันสำหรับเครื่องบินที่ "สนามบินเบตง" หรือความกังวลว่าเส้นทางการบินจะรุกล้ำเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านของไทย
โครงการนี้ตามกำหนดที่ พล.อ. ประยุทธ์ จะเป็นประธานเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์วันที่ 14 มี.ค. จะเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ และเป็นไปตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ปัญหาการเดินทางสู่อำเภอเบตง ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันไม่สะดวกต่อการเดินทางให้สัญจรไปมาได้สะดวก ปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยมีการยืนยันว่าไม่มีเส้นทางการบินรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างที่หลายฝ่ายกังวล
เปิด 10 เรื่องน่ารู้ "สนามบินเบตง" ที่น่าสนใจ
1.เป็นสนามบินขนาดเล็ก รองรับได้แค่เครื่องบินแบบใบพัดเท่านั้น
2.ใช้เวลา 4 ปี กว่าจะได้เปิดใช้หลังก่อสร้างเสร็จ
3.สายการบินเชิงพาณิชย์ที่ได้ไปทำการทดลองบินมาแล้วคือ "สายการบินนกแอร์"
4.มีพื้นที่ 920 ไร่ ระยะรันเวย์ 1,800 เมตร
5.มีการศึกษาเส้นทาง หาดใหญ่ - เบตง และ ภูเก็ต - เบตง เพิ่มเติมแล้ว
6.เป็นสนามบินสำคัญในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
7.เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ในภูมิภาคพื้นที่ภาคใต้ต่อเนื่องมาเลเซียและสิงคโปร์
8.มีศักยภาพรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่งได้จำนวน 3 ลำ
9.ตกแต่งด้วย “ไม้ไผ่” สะท้อนเอกลักษณ์ท้องถิ่น เนื่องจาก “เบตง” หรือ “บือตง” เป็นภาษามลายู แปลว่า “ไม้ไผ่”
10.ห่างจากตัวเมืองประมาณ 12 กิโลเมตร