ปมร้อน "รับน้อง" โหดจนเสียชีวิต! รุ่นพี่ต้องโทษแค่ไหน ติดคุกกี่ปี
กิจกรรม "รับน้อง" ที่โหดเกินกว่าพี่น้องจะเล่นกัน! จนหลายครั้งถึงขั้นแก่ชีวิต กรุงเทพธุรกิจ ชวนเปิดกฎหมายเอาผิด หลัง 6 รุ่นพี่ มทร.อีสาน รับน้องโหดจนทำให้รุ่นน้องปี 1 เสียชีวิต ด้านผู้ปกครองระบุเอาเรื่องถึงที่สุด
ประเพณี "รับน้อง" และปัญหาความรุนแรงที่วนเวียนกลับมาเป็นประเด็นสังคมอยู่บ่อยครั้ง และมักถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการมีอยู่ของกิจกรรมดังกล่าวในทุกๆ ครั้งที่เกิดข่าว "รับน้องโหด" ซึ่งสะท้อนสภาพความรุนแรงของกิจกรรม
อย่างกรณีล่าสุดของการรับน้องที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ซึ่งเกิดขึ้นกับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 วัย 19 ปี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา (มทร.อีสาน) ที่เสียชีวิตหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องใหม่ โดยถูกรุ่นพี่ปี 2 ชักชวนไปเล่นกีฬา แต่กลับกลายเป็นการรับน้อง และทำการทำร้ายร่างกาย รวมถึงบังคับให้ดื่มเหล้าขาวจนหมดสติ ที่ จ.นครราชสีมา ถึงแม้รุ่นพี่พยายามปั๊มหัวใจช่วยชีวิตและนำส่งโรงพยาบาลค่ายสุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา แต่นักศึกษารายดังกล่าว ได้เสียชีวิตระหว่างทางเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา
แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรก และอาจไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ผลลัพธ์ของการรับน้องที่รุนแรง บานปลาย และแลกมาด้วย "ชีวิต" ชนิดที่ผู้จัดกิจกรรม หรือ ผู้กระทำความผิด ไม่อาจชดเชยแก่ครอบครัวเหยื่อได้ ไม่ว่าจะกราบเท้าขอขมากี่ครั้งก็ตาม
เช่นกรณีรายล่าสุดนี้ แม้รุ่นพี่ทุกคนยอมรับผิดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและกราบเท้าขอโทษ แต่ผู้ปกครองของนักศึกษาปี 1 ที่เสียชีวิต ก็ได้ยืนยันจะดำเนินคดีกับรุ่นพี่และผู้เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด
สำหรับผู้กระทำความผิดทั้ง 6 คน อาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 ซึ่งวางหลักไว้ว่า “ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” ซึ่งความผิดฐานนี้เริ่มมาจากเจตนาทำร้ายแต่มิได้มีเจตนาฆ่า แต่ผลที่เกิดขึ้นจากการทำร้ายนั้น ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต
ด้านผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ได้อธิบายว่า การรับน้องอยู่นอกมหาวิทยาลัยถือว่านอกเหนือการควบคุม แต่มหาวิทยาลัยจะแสดงรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยจะเยียวยาช่วยเหลือเต็มที่
- "รับน้องโหด" ปัญหาที่วนเวียน ซ้ำซาก
การเสียชีวิตจากการรับน้องของนักศึกษารายล่าสุด ไม่ใช่เหยื่อรายแรก ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน พ.ค.2564 นางมนัสนันท์ (สงวนนามสกุล) แม่ของน้องปลื้ม ผู้เสียชีวิตจากการรับน้องออกมาระบุว่า ลูกชาย อายุ 22 ปี เรียนคณะวิศกรรมโยธา สถาบันย่านปทุมวัน ถูกรุ่นพี่รับน้องโหด ทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส จนเสียชีวิตหลังจากรักษาตัวอยู่ที่ โรงพยาบาลเพียง 3 วัน
ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เคยส่งหนังสือแจ้งเวียนประกาศ สกอ. เรื่อง "การจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่ และประชุมเชียร์ในสถาบันอุดมศึกษา" ส่งไปยังทุกสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดและในกำกับของ สกอ. เพื่อกำหนดมาตรการจัดกิจกรรมรับน้องให้สร้างสรรค์ โดยเฉพาะการไม่ละเมิดสิทธิของนักศึกษาด้วยกัน
สำหรับความผิดอาญาในทางกฎหมาย ถูกกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มีดังนี้
- มาตรา 290 ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใด ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 20 ปี
- มาตรา 291 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
- มาตรา 295 การบังคับจิตใจ ผู้อื่นให้ฝืนใจทำบางอย่างที่ไม่ได้มีความเต็มใจ แต่ต้องทำเพราะถูกบังคับโดยการใช้กำลังประทุษร้าย หรือทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน อาจเป็นความผิดฐานข่มขู่ อาจต้องรับโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี ปรับสูงสุด 6,000 บาท
- มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปีอันตรายสาหัสนั้น คือ
(1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
(2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
(3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
(4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
(5) แท้งลูก
(6) จิตพิการอย่างติดตัว
(7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
(8) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน
- มาตรา 298 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 297 ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปีถึง 10 ปี
- มาตรา 309 แม้แต่เรื่องการกักบริเวณไม่ยอมให้ผู้อื่นกลับบ้าน เป็นความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยว อาจต้องรับโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี ปรับสูงสุด 6,000 บาท
- มาตรา 310 การลงมือทำร้ายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เช่น ต้องนอน โรงพยาบาลเกิน 20 วัน หรือจิตพิการอย่างติดตัว อาจต้องรับโทษสูงสุดจำคุก 10 ปี
- มาตรา 326 การลงมือทำร้ายถึงขั้นเลือดตกยางออก บวมเขียวช้ำ อาจเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย อาจต้องรับโทษสูงสุดในจำคุก 2 ปี ปรับสูงสุด 4,000 บาท
ทั้งหมดเป็นข้อกฎหมายอาญากรณีการละเมิดหรือทำร้ายผู้อื่นจนเสียชีวิต ซึ่งเหตุการณ์ "รับน้องโหด" ครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย หากมาตรการของสถาบันการศึกษายังไม่เข้มงวดถึงที่สุด