อาลัย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก นักปรัชญาศาสนาในวัย 83 ปี

อาลัย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก นักปรัชญาศาสนาในวัย 83 ปี

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก นักปรัชญาศาสนา เสียชีวิตลงแล้ว ในวัย 83 ปี เบื้องต้น ญาติแจ้งว่า สาเหตุหลักของการเสียชีวิต เนื่องจากอาการทรุดเพราะเส้นเลือดในช่องท้องกับตรงหัวใจที่ทำไว้แต่เดิมปริ

มีรายงานว่า ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก นักปรัชญาศาสนา เสียชีวิตลงแล้ว ในวัย 83 ปี ขณะเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเวลา 18.33 น.ของวันที่ 6 เมษายน 2565 เบื้องต้น ญาติแจ้งว่า สาเหตุหลักของการเสียชีวิต เนื่องจากอาการทรุดเพราะเส้นเลือดในช่องท้องกับตรงหัวใจที่ทำไว้แต่เดิมปริ

 

 

สำหรับศพของ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก นั้น จะมีการตั้งศพที่วัดตรีทศเทพและจะสวดอภิธรรมเป็นเวลา 5 คืน หลังจากนั้นจะเก็บศพไว้ 100 วัน ก่อนพระราชเพลิงต่อไป

 

ประวัติคร่าวๆ

ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นอาจารย์และนักวิชาการทางด้านศาสนาพุทธและภาษาบาลี ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์ และยังเป็นนักเขียนบทกวี ตำรา และบทความในนิตยสารหลายฉบับ เริ่มเขียนบทความให้นิตยสารต่วยตูน แล้วได้รับการชักนำให้เขียนลงคอลัมน์ประจำให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ก่อนจะย้ายไปเขียนประจำให้หนังสือพิมพ์ในเครือมติชนและข่าวสด มีชื่อเสียงโด่งดังจากการเขียนวิจารณ์พระสงฆ์ที่ปฏิบัตินอกรีต โดยเฉพาะกรณีอดีตพระยันตระ อมโร รวมทั้งยังนับได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกการตั้งชื่อเป็นมงคลนามแก่ตัวเจ้าของชื่อด้วย

 

ทางด้าน สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักเขียนชื่อดังก็ได้โพสต์อาลัยต่อ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก ด้วย โดยมีข้อความระบุว่า 

 

แด่ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

 

เสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นสามเณรประโยค 9 รูปแรกในรัชกาลที่ 9 และเป็นรูปแรกแต่เกิดการสอบแบบข้อเขียนแทนการสอบปากเปล่าดังแต่ก่อน เขาเป็นศิษย์ของพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) แห่งสำนักเรียนวัดทองนพคุณ

 

ต่อมาเสฐียรพงษ์ได้ทุนไปเรียนที่วิทยาลัยตรีนิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทั้งๆ ที่ยังบวชอยู่ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นพระไทยรูปแรกที่จบจากที่นั่น เสียดายที่กลับมาไม่ทันไร เขาก็สึก

 

เขาถนัดเป็นนักหนังสือพิมพ์มากกว่าเป็นครูบาอาจารย์ ทั้งที่เขาเคยอยู่มหาวิทยาลัย เดิมเขาเขียนให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ต่อมาเมื่อไทยรัฐไม่เล่นงานธรรมกาย เขาจึงย้ายมาอยู่กับมติชน และมีผลงานรวมเล่มมากมาย ทั้งกับสำนักพิมพ์มติชน และกับทางเคล็ดไทย ภาษาไทยเขาดี หนังสือที่มีชื่อเสียงก็เป็นหนังสือตั้งชื่อ ที่เขาสามารถตั้งชื่อคนเพราะๆ

 

ผมกับเขาเป็นกัลยาณมิตรกันมายาวนาน เมื่อเขาตายจากไป ก็หวังว่าเขาจะไปสู่สุคติในสัมปรายภพ

 

ส. ศิวรักษ์
6-4-65

 

 

CR พระสุธีวีรบัณฑิต.รศ.ดร. เจ้าคุณโชว์