"ประกันสังคม" แจ้งผู้ประกันตน ม.33 ม.39 ม.40 กรณีอุบัติเหตุ-ป่วยฉุกเฉิน ช่วงสงกรานต์
ตรวจสอบด่วน "ประกันสังคม" แจ้งผู้ประกันตน ม.33 ม.39 ม.40 กรณีอุบัติเหตุ-ป่วยฉุกเฉิน ช่วงสงกรานต์ 2565
สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน แจ้งผู้ประกันตน เนื่องในช่วงหยุดยาว มักมีการเดินทาง ไม่ว่าจะท่องเที่ยว หรือกลับภูมิลำเนา จึงอยากให้ทุกคนเตรียมความพร้อมก่อนเหตุฉุกเฉินจะมาถึงเพราะสถานการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39
เกิดเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุระหว่างการเดินทาง และเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดที่ใดก็ได้ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน
ขั้นตอนง่ายๆ
เพียงยื่น “บัตรประจำตัวประชาชน” เพื่อแสดงการเข้าใช้สิทธิ์
- เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560
- กรณีผู้ประกันตนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตไม่สามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลตามสิทธิได้
หากเข้าหลักเกณฑ์ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย
ผู้ป่วยที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตต้องมีอาการดังนี้
1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม
4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6.มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เดิม ผู้ประกันตนหรือสถานพยาบาลเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่ประกาศคณะกรรมการแพทย์กำหนดครอบคลุม 72 ชั่วโมงไม่นับรวมวันหยุดราชการ
กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน/ฉุกเฉินวิกฤต ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและให้รีบแจ้งสถานพยาบาลตามสิทธิเพื่อรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายใน 72 ชั่วโมง
ส่วน ผู้ประกันตนมาตรา 40 การรักษาพยาบาลใช้สิทธิของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
ที่มา ประกันสังคม