วว. ร่วมประชุมกับ CSIRO ออสเตรเลีย แลกเปลี่ยนความรู้ด้านการวิจัย และการสร้างระบบนิเวศการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน
วว. ร่วมประชุมกับ CSIRO ออสเตรเลีย แลกเปลี่ยนความรู้ด้านการวิจัย
และการสร้างระบบนิเวศการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เดินหน้าโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ด้วยนวัตกรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานปลัด อว. สร้างความร่วมมือเครือข่ายนานาชาติด้านนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ นำคณะ วว. และ อว. ร่วมประชุมหารือกับ องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ประเทศออสเตรเลีย พบ ทีมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทีมเกษตรสมัยใหม่และทีมพลาสติก แลกเปลี่ยนความรู้ด้านการวิจัย และการสร้างระบบนิเวศการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม
ในการประชุมครั้งนี้ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (กวท.) ให้เกียรติเข้าร่วมประชุมพร้อมด้วย ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดร.บุณณณิดา โสดา ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ (กวส.) สำนักผู้ว่าการ วว. และดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัยอาวุโส ศนก. ขณะที่ Ms.Andrea Sosa-Pintos, IPPIN Senior Program Manager และตัวแทนจากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ได้นำทีมปัญญาประดิษฐ์ (AI), ทีมเกษตรสมัยใหม่และทีมพลาสติกเข้าร่วมหารือ
ในการหารือ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เล่าถึงบทบาทและหน้าที่ของ อว. รวมไปจนถึงความเกี่ยวข้องของ วว. จากนั้น ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้บอกเล่าถึงประเด็นหลักที่สำคัญที่ วว. ให้ความสนใจในขณะนี้ ซึ่งรวมไปถึงงานด้านการเกษตรที่ทำโดยผ่านศูนย์วิจัยนวัตกรรมการเกษตร และงานทางด้านพลาสติก
จากนั้น ได้มีการถกถึงประเด็นประเด็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) ปัจจุบัน ปัญหาหลักของ AI ในออสเตรเลียคือปัญหาทางด้านจริยธรรม จึงมีเครือข่าย หรือชมรมจริยธรรมมากกว่า 150 แห่ง เนื่องเพราะชาวออสเตรเลียคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวเป็นสำคัญ ในขณะที่คนทำงานส่วนมากจะมีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคเป็นหลักมากกว่าการให้ความสำคัญด้านจริยธรรม นอกจากนี้ ยังพบกว่า 70% ของผู้ประกอบการทางด้าน AI ในออสเตรเลียเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่มีคนทำงานน้อยกว่า 4 คน ดังนั้น ผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แบบประเมินตนเอง (self-assessment tools) เพราะไม่มีเงินทุนมากพอที่จะสามารถจัดซื้อระบบมาจากบริษัท AI รายใหญ่ได้
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ประเทศไทย ประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวยังไม่ใช่ปัญหาหลัก เมื่อเทียบกับประเด็นการสูญเสียงานเนื่องจากนำเทคโนโลยีมาใช้แทนกำลังคน ขณะที่ ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ซักถามเพิ่มเติมถึงแนวทางการลงทะเบียนเข้าหน่วยงานต่างๆ ในออสเตรเลียที่ขอข้อมูลส่วนตัวจำนวนมาก ว่ามีแนวทางการปกป้องข้อมูลส่วนตัวอย่างไร ซึ่ง CSIRO เล่าว่า องค์กรไม่มีนโยบายแชร์ข้อมูลส่วนตัวใดๆให้หน่วยงานภายนอก และโดยปกติการมีข้อมูลเพียงไม่กี่ข้อมูล เช่น ทราบเพศ ทราบเมืองที่อาศัย และทราบวันเดือนปีเกิด เพียงเท่านี้ ก็สามารถระบุตัวตนบุคคลได้
จากนั้นได้ถกถึงประเด็น การเกษตรสมัยใหม่ ทีม CSIRO แจ้งว่าได้ดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่มีต่อพืชผลทางการเกษตรทั้งในออสเตรเลียและประเทศพันธมิตร ซึ่งภูมิภาคอาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดแห่งหนึ่ง สำหรับโครงการวิจัยการเกษตรและเพาะปลูกพืชผล โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ตอบรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate smart agriculture) เป็นเรื่องที่จำเป็น และพร้อมจะร่วมมือกับประเทศไทย
โอกาสนี้ ได้มีการหารือถึงประเด็น ความร่วมมือทางด้านพลาสติก ทางทีม CSIRO เผยว่า กำลังจะเปิดตัวโครงการ Indo-Pacific Plastics Network (IPPN) สำหรับภูมิภาคแม่โขงในต้นปี 2566 ซึ่งในประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) และ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้เข้าร่วมแล้ว และ วว. ได้แจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมกับโครงการนี้ และยังได้เล่าถึงโครงการ RDF5 ประเด็นขยะมูลฝอย และขยะพลาสติก ประเทศไทยได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง โดยมุ่งเน้นไปที่การทำงานในพื้นที่ชนบท รวมไปถึงการวิจัย และการสร้างระบบนิเวศการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืน ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ภายใต้หลักการ BCG (BIO-CIRCULAR-GREEN ECONOMY) ช่วยยกระดับทั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์และต่อยอดสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เผยว่า ประเด็นความร่วมมืออื่นๆ ที่เป็นไปได้ คือ ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคจากทาง CSIRO ในการพัฒนาโมเดลทางธุรกิจของการจัดการขยะในประเทศไทยแบบครบวงจร การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญระหว่างกัน โดยทาง วว. ได้เสนอผู้เชี่ยวชาญทางด้าน biodegradable รวมถึงระบบการออกใบรับรองและขั้นตอนการทดสอบ ในขณะที่ CSIRO เสนอผู้เชี่ยวชาญทางด้านการประเมิน Life Cycle ต่อไป”