NT เข้าร่วมประชุมผู้ให้บริการโทรคมนาคมระดับนานาชาติในงาน PTC’23 ณ โฮโนลูลู ฮาวาย
บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคมของประเทศไทย โดยเข้าร่วมงาน PTC’23 งานประชุมนานาชาติด้านโทรคมนาคม งานที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารระดับ Global มารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งจัดประจำทุกปี ณ โฮโนลูลู รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 -18 มกราคม 2566
โดย PACIFIC TELECOMMUNICATIONS COUNCIL หรือ PTC นั้น เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้บริหารระดับสูงทางด้าน ICT ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก พร้อมกับเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลและความร่วมมือทางธุรกิจ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีระหว่างกันในทุกปีผ่านงานประชุม PTC โดยมีผู้บริหารและตัวแทนเข้าร่วมงานกว่า 5,000 ราย จากอุตสาหกรรมโทรคมนาคมระดับโลก เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ในอุตสาหกรรม อาทิ Global Service Providers, Subsea Cable Suppliers, Satellite Providers, Data Center providers, MNOs/MVNOs ฯลฯ เพื่อเตรียมพร้อมธุรกิจสู่ปี 2023 โดยปีนี้มี นายเสกสรรค์ มิตรเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและผลิตภัณฑ์, นายอภิชาติ สวรรค์คำธรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มตลาดผลิตภัณฑ์ และ นางอุบลพรรณ ชื่นชม ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ จาก บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เข้าร่วมงาน
นายเสกสรรค์ มิตรเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและผลิตภัณฑ์ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวว่า การเข้าร่วมงานประชุมด้านโทรคมนาคมระดับโลก เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ NT เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยสู่สายตาผู้บริหารในแวดวงโทรคมนาคมนานาชาติที่มารวมตัวกัน และเป็นโอกาสในการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกันสำหรับอุตสาหกรรมการสื่อสารระดับ Global เพื่อการพัฒนาโครงข่ายพื้นฐานด้านโทรคมนาคมระหว่างประเทศและภายในประเทศ และเตรียมพร้อมรองรับความต้องการใช้งานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้นของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการใช้งาน 5G, ปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นของ OTT และความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตขึ้นอย่างมาก ผู้ให้บริการ Content หลายรายขยายการให้บริการมายังประเทศไทยโดยการตั้ง POPs เพื่อให้ได้ประสบการณ์การใช้งานด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัลแก่ผู้ใช้ที่ดียิ่งขึ้น NT จึงพัฒนาและขยายการให้บริการเพื่อรองรับเทรนด์ดังกล่าว ไปพร้อม ๆ กับการอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีของโลก ที่กำลังจะมาถึง อาทิ เทคโนโลยี AI ที่จะถูกพัฒนาให้มีศักยภาพและความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น, การขยายบริการ Cloud Platform ในเชิงลึกของภาคอุตสาหกรรม, Platform Engineering ที่ธุรกิจต่างสร้างแพลตฟอร์มเพื่อใช้งานด้วยตัวเองผ่านระบบอัตโนมัติ, เทคโนโลยีไร้สายอย่าง 5G, WiFi หรือ Bluetooth ที่จะถูกพัฒนานวัตกรรมให้เหนือกว่าแค่ใช้ในการสื่อสาร และ Superapps ที่รวบรวมหลากหลายบริการ เป็นต้น ซึ่งเทรนด์เทคโนโลยีเหล่านี้ ล้วนต้องการโครงข่ายพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่มีศักยภาพ
และด้วยความพร้อมของ NT ที่ได้ดำเนินการโครงการขยายอินเทอร์เน็ตเกตเวย์และระบบเคเบิลใต้น้ำที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลไทย ซึ่งจะเป็นประตูสู่การค้าที่สำคัญของประเทศไทย ครอบคลุมทุกรูปแบบการลงทุนและความร่วมมือทางธุรกิจ กับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และ เวียดนาม รวมถึงการร่วมลงทุนในระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศเส้นใหม่ Asia Direct Cable (ADC) ซึ่งจะเชื่อมต่อประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศเวียดนาม ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น โดยมีกำหนดเปิดใช้งานปลายปี 2023
ประกอบกับจุดแข็งสำคัญของ NT ได้แก่ เสาโทรคมนาคมกว่า 25,000 ต้น ทั่วประเทศ กระจายสัญญาณให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ, เคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศ 9 ระบบ ที่เชื่อมต่อไปยังทุกทวีป, คลื่นความถี่หลักเพื่อให้บริการ 5 ย่าน รวม 540 เมกะเฮิรตซ์, ท่อร้อยสายใต้ดินที่มีระยะทางรวม 4,600 กิโลเมตร, สายเคเบิลใยแก้วนำแสง 4 ล้านคอร์กิโลเมตร, ระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เข้าถึงจากทุกประเทศทั่วโลกแบบไร้ข้อจำกัด และ Data Center 13 แห่งทั่วประเทศ ที่เพิ่มขีดความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลอย่างปลอดภัยด้วยบริการ Cloud และ Cyber Security ของ NT จึงมั่นใจได้ว่าเราจะสามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการของธุรกิจและเพิ่มศักยภาพความพร้อมของไทยที่จะเป็น Digital Hub ด้านโทรคมนาคมของภูมิภาคนี้ได้อย่างเข้มแข็งและสมบูรณ์แบบ