มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยกุญแจสู่อนาคตของคนรุ่นใหม่ รับมือโลกการทำงานยุคดิจิทัล
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แนะทักษะแห่งอนาคตและการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ เน้นเก่งรอบด้าน สร้างตัวตนจากแพสชัน คิดสร้างสรรค์ และรู้จักยืดหยุ่น
ปัจจุบันโลกการทำงานได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งด้านการแข่งขันในโลกธุรกิจ สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้องค์ความรู้และรูปแบบการเรียนรู้แบบเดิมในมหาวิทยาลัย ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ เช่นเดียวกับองค์กรต่างๆ ต้องการบุคลากรที่มีทักษะเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่หมุนผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทาง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงได้แนะนำทักษะและการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาช่วยรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต
ค้นหาแพสชัน เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบ
ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยถึงเทรนด์การศึกษาและทักษะสำคัญในโลกยุคใหม่ว่า จุดเริ่มต้นที่เราจะรู้ว่าอะไรคือทักษะสำคัญในโลกอนาคต การที่เราควรให้ความสำคัญกับการหาแพสชัน (Passion) หาสิ่งที่ตัวเองรัก ถ้าทำอะไรด้วยแพสชันจะทำให้สู้กับปัญหาหรืออุปสรรคได้ดีกว่า ไม่ว่าอนาคตจะมีเรื่องอะไรใหม่ๆ เข้ามาก็พร้อมจะเรียนรู้
"การทดลองเรียนรู้ ลงมือทำให้หลากหลาย ช่วยให้เราค้นหาตัวเองเจอ และระหว่างการค้นหา เราอาจจะค้นพบหลายแพสชันก็ได้ และแพสชันอาจจะเปลี่ยนได้ในอนาคต เมื่อเจอสิ่งใหม่แล้วได้ลงมือทำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงเน้นการเรียนการสอนที่ให้นักศึกษาได้ลงมือทำ ค้นหาความถนัดของตัวเองและสนับสนุนการมองในมุมกว้าง เพิ่มองค์ความรู้และทักษะหลากหลาย เสริมความสามารถในอาชีพได้ดีขึ้น เช่น เรียนการท่องเที่ยว ได้ศึกษาการทำคอนเทนต์แบบนิเทศศาสตร์ ต่อยอดสู่อาชีพบล็อกเกอร์ ยูทูบเบอร์สายท่องเที่ยวได้ หรือกิจกรรม D.O.T. Project ที่เด็กบริหารธุรกิจและเด็กนิเทศฯ ได้มาทำโปรเจกต์ร่วมกัน, กิจกรรม Blender to Metaverse ที่คณะสถาปัตย์ฯ วิศวะฯ และไอที ได้มาทำงานออกแบบโลกเสมือนร่วมกัน, BU x Workpoint Creative Sandbox และอื่นๆ อีกมากมาย"
ผศ.สรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเรียนในมหาวิทยาลัย เป็นการเรียนที่อยู่ร่วมกับคนที่มีความหลากหลาย ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เปิดมุมมองใหม่ๆ ได้เจออาจารย์และวิทยากรที่มีประสบการณ์ในสายงานตรงๆ รวมทั้งได้ทำงานกลุ่ม ร่วมกิจกรรมที่จะช่วยเปิดมุมมองที่มีต่ออาชีพที่เราใฝ่ฝัน และมีประสบการณ์ที่พร้อมทำงานได้ทันทีเมื่อเรียนจบ
ความยืดหยุ่น คือทักษะใหม่ที่ช่วยให้อยู่รอด
ผศ.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน วิธีคิดและการเรียนรู้แบบเดิม ไม่สามารถตอบสนองคนในยุคปัจจุบันได้ จากที่เคยใช้เนื้อหาตำราต่างๆ เป็นตัวตั้งหลักสูตรขึ้นมา แต่วันนี้วิชาต่างๆ มีความล้าสมัยไปอย่างรวดเร็ว เพราะรูปแบบการทำงาน รวมทั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก
ดังนั้น นอกจากเรื่องของแพสชันแล้ว ผศ.สรรเสริญ แนะนำต่อว่า คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่า "ทักษะความยืดหยุ่น" เพื่อต่อยอดไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ได้อย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งทาง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เริ่มจับมือพูดคุยกับภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ ถึงความต้องการทักษะในการทำงานใหม่ๆ ว่ามีความต้องการด้านใดบ้าง เพื่อนำมาปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัย รวมทั้งยังมองไปถึงอนาคตในอีกหลายปีข้างหน้า หากมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เหมือนกับที่นักศึกษาได้เรียนรู้จากมหาวิทยาลัยใน 4 ปี ถ้าเป็นแบบนี้แล้วเราจะทำเช่นไร
"แนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนที่จะมีการนำองค์ความรู้ใหม่ๆ ใช้ได้จริงในภาคเอกชนมาสอน ทำให้นักศึกษาเมื่อเรียนจบออกไปแล้ว มีประสบการณ์และความรู้ที่สามารถทำงานจริงได้ทันที แต่ในขณะเดียวกันทั้งตัวสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ ก็ต้องมองไปข้างหน้าถึงเทรนด์ในอนาคตว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเช่นไร ในจุดนี้เองการสอนเรื่องความยืดหยุ่น รู้จักการนำทักษะที่มีไปประยุกต์ใช้กับความต้องการของตลาด และเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลาไปทั้งชีวิต จะไม่มีวันเป็นคนที่ตกยุค ตกงานในอนาคตอย่างแน่นอน"
ความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำคัญอย่างไร?
ความคิดสร้างสรรค์คืออีกหนึ่งทักษะที่สำคัญ เรื่องนี้ ผศ.สรรเสริญ กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์ ช่วยทำให้เราไม่ยึดติด กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง รู้จักความยืดหยุ่นในการทำงาน ทำให้เกิดผลงานที่มีความสร้างสรรค์ เป็นที่ต้องการของทุกคน สามารถมองเห็นโอกาส และคิดหาแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับลูกค้าใหม่ๆ ได้เสมอ เพราะรูปแบบการทำงานหรือการใช้ชีวิตแบบใหม่ ย่อมต้องมีปัญหาใหม่ๆ ให้เราต้องหาทางแก้ไขเสมอ
"มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เราจึงเน้นสร้างสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้กับนักศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต ช่วยทำให้เราเป็นคนที่ไม่ตกยุค ในฐานะที่มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งการเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถปรับรูปแบบการเรียนให้ตรงกับความสนใจ และสร้างรูปแบบการเรียนรู้เฉพาะตัวได้ เพราะแต่ละคนมีรูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน มหาวิทยาลัยต้องทำตัวให้เป็นแหล่งความรู้ที่นักศึกษาสามารถกลับมาเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เพราะในอนาคตพวกเขาจะต้องหาความรู้ เพิ่มเติมทักษะใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ในโลกอนาคตเราจะพบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างไร้ขอบเขต การยึดติดกับบางสิ่งบางอย่าง ไม่มีทางทำให้เราไปรอด คนรุ่นใหม่ที่พร้อมด้วยทักษะรอบด้าน สร้างตัวตนจากแพสชัน มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักยืดหยุ่น และรักการเรียนรู้จะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองของโลกที่เปลี่ยนไปและเป็นหนึ่งในผู้เปลี่ยนแปลงโลก สามารถอยู่รอดได้ทุกการแข่งขันในโลกอนาคต" ผศ.สรรเสริญ กล่าวทิ้งท้าย