Bangkok University จับมือ Berkeley SkyDeck Fund ร่วมปั้นสตาร์ทอัพไทย
Bangkok University จับมือ Berkeley SkyDeck Fund จัดแข่งขัน BU X Berkeley SkyDeck Fund Mini Hackathon 2023 เฟ้นหา Tech Startup เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาโชว์ศักยภาพ ยกระดับ SME สู่การสร้างสตาร์ทอัพระดับโลก
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือ Bangkok University มุ่งมั่นให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ระดับโลก จับมือกับ เบิร์กลีย์ สกายเดก ฟันด์ หรือ Berkeley SkyDeck Fund หนึ่งในองค์กรให้คำปรึกษาและแหล่งเงินทุนกับสตาร์ทอัพ จัดการแข่งขัน BU X Berkeley SkyDeck Fund Mini Hackathon 2023 Food Service Tech Startup เปิดโอกาสให้นักศึกษาเสนอแผนธุรกิจสตาร์ทอัพต่อคณะกรรมการที่มีประสบการณ์ในการปลุกปั้นสตาร์ทอัพ ให้ประสบความสำเร็จเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นในซิลิคอนวัลเลย์ที่ทุกคนใฝ่ฝัน
ยกระดับจาก SME สู่การสร้างสตาร์ทอัพระดับโลก
ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการร่วมมือระหว่างกันในการนำองค์ความรู้ด้านการพัฒนาสตาร์ทอัพระดับโลก มาปรับใช้ในการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งทางเบิร์กลีย์ สกายเดก ฟันด์ เป็นองค์กรที่จัดตั้งโดย University of California, Berkeley สถาบันการศึกษาอันดับต้นๆ ของโลก มีประสบการณ์ในการให้คำแนะนำกับบรรดา สตาร์ทอัพ มามากมาย การที่ได้ร่วมมือกับทางเบิร์กลีย์ สกายเดก จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยกรุงเทพในการพัฒนาจากมหาวิทยาลัยที่มีจุดแข็งทางด้านการสร้างผู้ประกอบการในระดับ SME ไปสู่สตาร์ทอัพที่สามารถสร้างธุรกิจใหม่ที่ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมระดับโลก
รศ.ดร.ศุภเจตน์ จันทร์สาส์น ผู้ช่วยอธิการบดีสายวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล่าถึงความร่วมมือที่นำมาสู่การแข่งขันด้านธุรกิจสตาร์ทอัพในครั้งนี้ว่า หัวข้อการแข่งขันในรูปแบบของแฮกกาธอนนี้คือจุดเด่นของประเทศไทย "Food Service Tech Startup" การนำธุรกิจทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือน ไปจนถึงการขนส่งอาหารทั้งหมด รวมเข้ากับการนำเอาเทคโนโลยีมาใส่ในธุรกิจเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง สร้างรูปแบบสินค้า และบริการรูปแบบใหม่ให้กับผู้บริโภค
การแข่งขันในครั้งนี้มีคณะกรรมการที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพและประสบความสำเร็จในวงการมาเป็น Mentor และคณะกรรมการตัดสินรางวัลให้กับนักศึกษา อย่าง กฤษฎา เฉลิมสุข ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท โอ เม็นทอริ่ง จำกัด ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท บัซซ์ ฟรีส โซลูชั่น จำกัด, ภาณุพงศ์ ธนารักษ์วุฒิกร ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท Attra จำกัด, อรรถพล ระตะนะอาพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สุรพลไฟน์เนสท์ จำกัด และ Stupid Fries, ไพลิน สันติชัยเวคิน Investment Manager off Disrupt Impact Func, 500 Tuk Tuk, จิตรภณ จิรกุลสมโชค Innovative Developer, Innovation for the Economy Development, National Innovation Agency, วรวุฒิ สายบัว ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ brandnista.com ซีอีโอบริษัท Beauty Nista จำกัด, กันภัทร รุ่งสวัสดิทรัพย์ ซีอีโอบริษัท CastleC-Castle of Cosmetic และ ไบรอัน บอร์ดลีย์ (Brian Bordley) ผู้ร่วมก่อตั้ง เบิร์กลีย์ สกายเดก ฟันด์
แผนธุรกิจเพื่อพลิกโฉมตลาดโลก
ไบรอัน บอร์ดลีย์ (Brian Bordley) เผยถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า โดยปรกติแล้วเบิร์กลีย์ สกายเดก ฟันด์ จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับทางมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ เพื่อให้ความรู้และแนวทางการเป็นสตาร์ทอัพ และสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อความสำเร็จในเส้นทางธุรกิจสตาร์ทอัพ และภายใน 5 ปีที่ผ่านมา มีสตาร์ทอัพเข้าร่วมกับเบิร์กลีย์ สกายเดก ฟันด์มากกว่า 200 สตาร์ทอัพ จาก 30 กว่าประเทศทั่วโลก ระดมทุนในธุรกิจตั้งแต่ 2 แสนไปจนถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สิ่งที่เบิร์กลีย์ สกายเดก ฟันด์สอนไม่ได้มีแค่การจะทำอย่างไรให้เป็นสตาร์ทอัพที่ดี แต่เรายังมีแหล่งเงินทุน ที่จะช่วยทำให้ธุรกิจของ สตาร์ทอัพ ประสบความสำเร็จได้อีกด้วย
“ความร่วมมือระหว่างเบิร์กลีย์ สกายเดก ฟันด์ กับทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพนั้น มองว่า เป็นความร่วมมือที่ดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการคิดนอกกรอบ การคิดแบบสร้างสรรค์ มีคณะวิชาที่สอนด้านการเขียนโปรแกรม มีการเรียนเรื่อง AI มีคณะวิศวกรรมที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก รวมทั้งการสอนให้นักศึกษามีจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ เหมาะสมกับยุคดิจิทัล การจับมือทำงานร่วมกันในครั้งนี้สิ่งที่นักศึกษาจะได้ก็คือ การเรียนรู้เรื่องการนำเสนอแผนธุรกิจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ แผนธุรกิจของสตาร์ทอัพไม่ได้เสนอพูดคุยกันในระดับ 10 ล้าน หรือ 100 ล้าน แต่จะสอนให้นักศึกษาเรียนรู้เรื่องการนำเสนอแผนธุรกิจให้กับนักลงทุนระดับพันล้านขึ้นไป ธุรกิจอะไรที่จะสร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแข่งขันในตลาดโลกแบบพลิกโฉมหน้าเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง และจากการพูดคุยกับนักศึกษาที่เข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ ต้องยอมรับว่านักศึกษาไทยมีไอเดียและแผนธุรกิจที่น่าสนใจเทียบเท่ากับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก” ไบรอัน กล่าว
การสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ
ไบรอัน กล่าวเพิ่มเติม ถึงการสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จไว้ว่า องค์ประกอบอย่างแรกก็คือ ต้องมีผู้ประกอบการที่มีไฟในการทำงานมีพลังงานในการทำธุรกิจเยอะๆ มีความกล้าเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องเป็นคนอายุน้อยเท่านั้น นักธุรกิจที่อยู่ในวัยกลางคนแต่ยังมีไฟในการเริ่มต้นธุรกิจก็สามารถทำได้เช่นกัน
องค์ประกอบที่ 2 ก็คือ Mentor หรือคนที่ให้คำแนะนำที่คอยให้คำปรึกษาด้านต่างๆ ให้กับนักธุรกิจ ซึ่งตัวสตาร์ทอัพเองก็ต้องเป็นคนที่มีใจเปิดกว้างสามารถยอมรับความจริงและพร้อมปรับเปลี่ยนได้ ในขณะเดียวกันที่ปรึกษาก็ต้องเปิดรับไอเดียใหม่ๆ และวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้จากประสบการณ์ เพื่อให้คำแนะนำอย่างถูกต้อง
สุดท้ายคือ ศูนย์รวมนักลงทุนที่จะเข้ามามองหาไอเดียธุรกิจที่น่าสนใจ และร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพรายนั้น จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมทางเบิร์กลีย์ สกายเดก ฟันด์ ถึงทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและมีศักยภาพในการพัฒนาอบรมสตาร์ทอัพรายใหม่ให้ประสบความสำเร็จไปพร้อมๆ กับส่วนจัดหานักลงทุนหรือแหล่งลงทุนที่จะเข้ามาทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จต่อไป
BU X Berkley SkyDeck Fund ได้ทั้งความรู้และประสบการณ์ที่ดีร่วมกัน
"พีรณัฐ อุณหะนันทน์" นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มุ่งเน้นวิทยาการข้อมูลและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตัวแทนทีม "Fealth" ผู้ชนะเลิศการแข่งขัน BU X Berkley SkyDeck Fund Mini Hackathon 2023 เล่าถึงประสบการณ์ในการเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ว่า เพราะอยากนำชื่อ "เบิร์กลีย์ สกายเดก" มาอยู่ในโปรไฟล์ประวัติการลงแข่งขัน แต่สิ่งที่ดีที่สุดที่ได้รับกลับมาจากการแข่งขัน ไม่ได้เป็นเรื่องของชื่อเสียงของผู้จัดงาน แต่เป็นประสบการณ์และความรู้หลายอย่างที่หาไม่ได้จากการแข่งขันในรายการอื่น เช่น เพื่อนร่วมทีม การทำงานด้วยกัน ในช่วงแรกยอมรับว่า ติดขัดอยู่บ้าง เพราะมาจากคณะที่ต่างกันและต่างคนต่างมีความสามารถในแนวทางของตนเอง จนถึงจุดที่ปรับตัวแบ่งหน้าที่กันชัดเจน ตนเองกับเพื่อนที่อยู่คณะไอทีรับผิดชอบเรื่องการสร้างระบบโปรแกรมให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ส่วนเพื่อนร่วมทีมที่มาจากสายบริหารธุรกิจจะดูเรื่องแผนและภาพรวมที่จะทำให้ธุรกิจเดินไปได้ตามแผนโดยไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียดด้านโปรแกรม ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบของตนเองออกมาให้ดีที่สุด แล้วก็ทำออกมาได้ดี ทำให้ตนเองมองเห็นภาพการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จว่า ควรจะต้องมีคนที่เก่งด้านต่างๆ มาทำงานร่วมกัน ซึ่งหลังจบการแข่งเพื่อนคณะบริหารธุรกิจยังชวนผมกับเพื่อนไปลงแข่งด้วยกันในรายการอื่นอีกด้วย
"อีกอย่างที่คิดว่าทีมของเราได้ความรู้และประสบการณ์ที่ดีจากการแข่งขันในครั้งนี้คือ การได้พูดคุยนำเสนอแผนธุรกิจกับไบรอัน ที่มาจาก เบิร์กลีย์ สกายเดก เริ่มต้นทางทีมนำเสนอธุรกิจขนส่งอาหาร แต่ไบรอันเล่าจากประสบการณ์ของเขาว่า ธุรกิจขนส่งอาหารที่ผ่านมาไม่ได้เป็นธุรกิจที่ทำแล้วร่ำรวย ถ้าเป็นธุรกิจที่ทำแล้วไม่รวยก็ไม่ควรทำ เพราะการเป็นสตาร์ทอัพที่ดี คือการสร้างธุรกิจที่มีศักยภาพในการทำเงิน และเกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม และรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคอย่างชัดเจน" พีรณัฐ กล่าว
พีรณัฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไบรอันยังเสนอแนวคิดการเป็น สตาร์ทอัพ เรื่องการ Cloud kitchen หรือครัวกลาง ซึ่งมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการมากกว่า ทางทีมเราจึงเอาแนวคิดจากคำแนะนำนี้มาปรับเปลี่ยนเป็นธุรกิจครัวกลาง ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพและให้บริการสั่งและส่งผ่านแอปพลิเคชัน "Fealth" Health food delivery แอปพลิเคชันที่จะช่วยให้ผู้รักสุขภาพได้รับอาหารเพื่อสุขภาพ นอกจากฟังก์ชันการสั่งอาหารแล้ว ยังมีการคำนวณแคลอรีในอาหารเพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพเป็นหลัก ซึ่งทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ หลังจากได้รับรางวัลคิดว่าได้ความรู้และประสบการณ์หลายอย่างในการเป็นสตาร์ทอัพ ได้เรื่องมุมมองธุรกิจ การนำเสนอแผนธุรกิจให้กับนักลงทุนระดับพันล้าน
ผสานความสามารถสร้างจุดแข็งธุรกิจ
รศ.ดร.ศุภเจตน์ กล่าวทิ้งท้ายถึงความสำเร็จในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ว่า การแข่งขันในรูปแบบแฮกกาธอนนี้ จะช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องการนำเสนอ และการเสนองานอย่างไรให้นักลงทุนสนใจเข้าร่วมลงทุน ซึ่งในครั้งนี้ทาง ม.กรุงเทพ โชคดีที่ไบรอันเดินทางมาประเทศไทยและร่วมพูดคุยกับนักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขัน แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่มีค่าของตนเอง ในขณะเดียวกันกิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมที่มีความร่วมมือระหว่างคณะ เพราะที่ผ่านมาคณะต่างๆ ก็มีกิจกรรมการแข่งขันของตนเอง ต่างคนต่างทำ ต่างแสดงความสามารถลงแข่งขันในด้านที่ตนเองถนัด แต่พอมีกิจกรรมการแข่งที่จำเป็นต้องดึงนักศึกษาที่มีศักยภาพแตกต่างกันมาทำงานร่วมกัน ผลการแข่งที่ออกมาก็ทำได้ดี เพราะในโลกของการทำธุรกิจ ไม่มีใครเก่งทุกอย่าง ในทีมของเราที่ชนะเลิศประกอบไปด้วยเด็กที่เก่งจากคณะบริหารธุรกิจ และคณะไอทีมาทำงานร่วมกัน ซึ่งต่างก็ใช้ความสามารถของตนเอง ทำให้เกิดจุดแข็งในธุรกิจจนคว้าชัยชนะมาได้
"ที่สำคัญที่สุดคือ การแข่งขันในครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดี และจุดประกายให้พัฒนาระบบการเรียนการสอนเพื่อนำไปสู่การเป็นสตาร์ทอัพ ในอนาคตคงมีความร่วมมือกันอีกในหลายๆ ด้านกับทาง Berkley SkyDeck Fund ทั้งในระดับอาจารย์ผู้สอน ระดับนักศึกษา การจัดการแข่งขัน และความร่วมมือในด้านต่างๆ มากขึ้น เพื่อปูทางให้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นมหาวิทยาลัยที่บ่มเพราะสร้างสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จระดับโลกต่อไปในอนาคต"