มหิดลอินเตอร์ จับมือ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช ปั้นนวัตกรสู่นวัตกรรมการแพทย์
วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล จับมือ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล ปั้นนวัตกรสู่นวัตกรรมการแพทย์
วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาหลักสูตร Designing Health Innovations หรือ การออกแบบนวัตกรรมด้านสุขภาพให้เป็นวิชาเลือก สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาลัยนานาชาติ และหลักสูตรระดับปริญญาโท วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบทางการแพทย์ หรือ Biodesign หลักสูตรนานาชาติ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อมุ่งหวังผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ อันจะส่งผลดีต่อระบบสาธารณสุข สังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬธิดา โฉมฉาย คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol University International College : MUIC) เปิดเผยถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเรื่องโครงการดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียน การสอน หลักสูตรวิชาโท สาขาวิชา Designing Health Innovations หรือการออกแบบนวัตกรรมด้านสุขภาพ และหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบทางการแพทย์ (Biodesign) หลักสูตรนานาชาติ กับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (Faculty of Medicine Siriraj Hospital) ว่า วิทยาลัยนานาชาติฯ เล็งเห็นว่า หลักสูตร Biodesign ซึ่งมีสอนอยู่ในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลอยู่แล้ว เป็นหลักสูตรที่ดี เพราะเป็นการเรียนที่มุ่งเน้นการปฏิบัตินำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้แก้ปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ เป็นการสอนให้นักศึกษาคิดวิเคราะห์ ศึกษาวิจัยจนได้กระบวนการใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จึงนำมาเป็นหลักสูตรวิชาโท (minor) ให้นักศึกษาของวิทยาลัยนานาชาติฯ ได้เรียน
"เราทดลองสอนมาก่อนหน้านี้แล้วโดยเชิญอาจารย์จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาสอนนักศึกษาประกอบการเรียนวิชา Scientific Research and Presentation ซึ่งเป็นรายวิชาหนึ่งของวิทยาศาสตร์ชีวภาพ การสอนจะเป็น workshop ให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริงเพื่อให้นักศึกษาได้ค้นพบความเป็นนวัตกร (Innovator) ในตัวเอง ให้นักศึกษาได้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ออกแบบบางอย่างเพื่อแก้ปัญหาที่เขาสนใจ เชิญมาสอนอยู่ 2 เทอม ได้รับการตอบรับจากนักศึกษาดีมาก จึงคิดว่าหลักสูตร Biodesign น่าจะมีการปรับให้นำมาสอนในระดับปริญญาตรีที่ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ MUIC อย่างเป็นทางการ และไม่ควรจำกัดเฉพาะกลุ่มนักศึกษาวิทยาศาสตร์ชีวภาพเท่านั้น จึงทำให้เกิดหลักสูตรนี้ขึ้นมาโดยให้เป็นวิชาโทที่นักศึกษาทุกๆหลักสูตรใน MUIC สามารถเรียนได้ ตอนนี้เราได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรที่จะใช้สอนเสร็จแล้ว กำลังรอนำเสนอเพื่อการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยมหิดล คาดว่าจะสามารถเปิดสอนได้ในภาคการศึกษาใหม่เดือนกันยายนที่จะถึงนี้เบื้องต้นคาดว่าจะมีนักศึกษาสนใจเรียนไม่ต่ำกว่าปีละ 30 คน"
ส่วนหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาโทวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาวิชาการออกแบบทางการแพทย์ ซึ่งจะทำการเรียนการสอนที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจะเป็นหลักสูตรที่คณาจารย์จากวิทยาลัยนานาชาติฯ ที่มีความชำนาญด้านอื่นๆ นอกเหนือจากด้านการแพทย์ จะเข้าไปร่วมสอนเพื่อให้ผู้เรียนที่เป็นทั้งนักศึกษาแพทย์และสาขาอื่นๆ มีองค์ความรู้ที่กว้างขึ้น
"คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีความรู้ลึกทางด้านการแพทย์อยู่แล้ว แต่อาจจะไม่รู้กว้างในด้านอื่นๆ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล จะเข้าไปช่วยเติมความรู้ในส่วนนี้ เช่น ความรู้ทางธุรกิจ เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ครบวงจรทั้งการวิจัย การผลิต การจดสิทธิบัตร การนำผลผลิตที่ได้ออกไปสู่ตลาด คือเขาจะรู้หมดว่าจะผลิตอะไร ผลิตแล้วขายให้ใคร ควรขายเท่าไหร่ จะสื่อสารอย่างไรให้คนสนใจในสิ่งที่เขาคิดค้นขึ้นมาได้ เพราะปลายทางของ innovation คือสินค้า หรือบริการ ต้องนำออกมาใช้ได้จริง"
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬธิดา กล่าวเสริมอีกว่า เรื่องของการสร้างบุคคลที่มีความรู้ด้านนวัตกรรมทางการแพทย์มีมานานแล้ว แต่นวัตกรรมต่างๆ อาจจะไม่สามารถถูก commercialize หรือเผยแพร่สู่คนหมู่มากได้อย่างเหมาะสม หลักสูตร Designing Health Innovations จึงตอบโจทย์เรื่องนี้เพราะว่าสอนให้เรียนรู้ครบวงจร คิดค้นได้แล้วต้องสามารถนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนในสังคมได้จริง และยังต้องสร้างรายได้กลับไปสู่คนที่คิดค้นได้ด้วย และหลักสูตร Designing Health Innovations ยังถือว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มุ่งเน้นเรื่องการสร้างนวัตกรรมและสร้างประสบการณ์ตรงให้กับนักศึกษาเพื่อให้มีแรงบันดาลใจในการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตจริง ถ้าประเทศไทยต้องการเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมโดดเด่น เราจำเป็นต้องสร้าง นวัตกร จำนวนมากเพื่อมาช่วยผลิตนวัตกรรม เพราะยิ่งเรามีนวัตกรรมมากโอกาสที่จะประสบความสำเร็จยิ่งมีมากตามไปด้วย เราจึงต้องช่วยกันสร้างนวัตกรเพื่อมาสร้างนวัตกรรม
สำหรับหลักสูตรวิชาโทที่นักศึกษาจะได้เรียนทั้ง 5 วิชา ประกอบด้วย 1. Community Health Innovations 2. Design Thinking in Health 3. Case Studies in Health Innovations 4. Cutting-Edge Technology for Health Innovations และ 5. Entrepreneurship and Innovation in Science
ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทั้งสองสถาบันเห็นตรงกันว่าหากได้แลกเปลี่ยนนักศึกษาซึ่งกันและกันจะเกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากคณะแพทยศาสตร์ฯ มีหน้าที่ผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่วิทยาลัยนานาชาติฯ มีความเชี่ยวชาญทางด้านศิลปะ ด้านการบริหารจัดการ ด้านธุรกิจ มีองค์ความรู้เกี่ยวกับความเป็นนานาชาติที่โดดเด่น เมื่อมาร่วมมือกันจัดการเรียนการสอนจะทำให้นักศึกษามีมุมมองวิสัยทัศน์ที่กว้างขวางมากขึ้น สามารถประยุกต์เอาความรู้ที่ได้ไปใช้ในการทำงานในอนาคตได้
"เราเป็นแพทย์ไม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับธุรกิจแต่ว่ามีความจำเป็น เพราะเราต้องมองถึงความยั่งยืน ความอยู่รอด การบริหารจัดการ การที่เราต้องคิดเรื่องใหม่ๆ ที่มีผลดีต่อตัวเราเอง มีผลดีต่อคนไข้ ต่อสังคม ประเทศชาติ มันมีประโยชน์ทั้งหมด"
ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ กล่าวต่อไปว่า วิชาการหยุดนิ่งไม่ได้แพทย์ต้องเจออะไรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสูงมาก เราจึงต้องการนวัตกรรมใหม่ที่มีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการ ยา หรือผลิตภัณฑ์ที่จะมาแก้ปัญหาทำให้สุขภาพหรือคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ซึ่งการจะได้นวัตกรรมใหม่มันมีกระบวนการที่เริ่มตั้งแต่การคิดริเริ่ม การออกแบบ การทดลอง การแปลงกระบวนการทางความคิดให้ออกมาเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปทดลองใช้จนได้สิ่งใหม่ออกมา กระบวนการเหล่านี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีเรื่องของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทาง วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ ถ้าเรามีความเป็นแพทย์แล้วสามารถที่จะกลายเป็นสตาร์ทอัพที่สามารถพัฒนาอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ ก็เป็นเรื่องที่ดี ตอนนี้ทั่วโลกให้ความสนใจสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเรื่องสุขภาพที่มีความหลากหลายอย่างมาก แต่กระบวนการที่จะทำให้เกิดสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันต้องเรียน ต้องฝึกฝน จึงทำให้เกิดความร่วมมือของสองคณะ และเกิดหลักสูตรนี้ขึ้นมา ซึ่งจะเป็นหลักสูตรชี้วัดการออกแบบทางการแพทย์ทุกอย่างที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิต ที่เราอยากให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ได้ลงมือทำ ได้เห็นตัวอย่างที่ดี ที่สำคัญคือการมีโอกาสที่จะได้ทำในเรื่องที่เขาสนใจ ส่วนสิ่งที่เขาคิดขึ้นมาจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยให้เขาได้คิด ได้ทำ ได้นำเสนอ ซึ่งการนำเสนอออกมาบางทีคนที่มองมาจากข้างนอกอาจมองเห็นโอกาสที่จะนำไปพัฒนาต่อยอดได้ เขาก็จะมาช่วยสนับสนุนจนได้กระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ทุกอย่างต้องเริ่มจากแนวคิดแล้วกระบวนการมันก็จะพัฒนาของมันไปเอง
"มั่นใจว่า การร่วมมือกันของทั้งสองคณะครั้งนี้จะเกิดประโยชน์ จะทำให้เราสามารถผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ มีทักษะ มีความสนใจที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีผลดีต่อตัวเอง ต่อสังคมโดยรวม และสร้างผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป" ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ กล่าวทิ้งท้าย