แพทย์ชี้ 'มะเร็งตับ' ตรวจพบแต่เนิ่นๆ ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษา
"มะเร็งตับ" อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้ชาย และอันดับ 4 ในผู้หญิง ด้านแพทย์ชี้ปัจจัยเสี่ยง เกิดจากพฤติกรรมการกิน ทำคนเสียชีวิตมากขึ้น แนะตรวจเร็ว รู้เร็ว รักษาได้
ช่วงไม่กี่ปีหลัง พบสถิติคนไทยเสียชีวิตจาก "มะเร็งตับ" มากขึ้น ซึ่งในอดีตโรคเกี่ยวกับตับ มักมีสาเหตุจากไวรัสตับอักเสบเรื้องรัง แต่วันนี้สาเหตุเกี่ยวกับโรคตับเปลี่ยนแปลงไปและกำลังเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเป็นโรคมะเร็งตับมากขึ้น ขณะเดียวกัน สังคมไทยยังขาดความตระหนักว่า โรคตับ เป็นอีกโรคภัยที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด
ศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานเสวนาวิชาการหัวข้อ "Improved HCC Surveillance Program using Triple HCC Biomarkers and GALAD Score in Thailand" หรือการพัฒนาศักยภาพการตรวจคัดกรองและการเฝ้าระวังของมะเร็งตับระดับปฐมภูมิด้วย 3 สารบ่งชี้การก่อมะเร็งที่จำเพาะกับมะเร็งตับชนิดปฐมภูมิและ GALAD Score ถึงสถิติของมะเร็งตับทั่วโลกว่า ปัจจุบันมะเร็งตับ เป็นมะเร็งอันดับ 6 ของโลก และเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ป่วยทั่วโลกเป็นอันดับ 3 โดยส่วนใหญ่พบมากในคนเอเชีย รวมถึงคนไทย
"สำหรับไทย องค์การอนามัยโลกเผยว่า มะเร็งตับพบมากเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 4 ในเพศหญิง ในอดีตโรคเกี่ยวกับตับส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากการแพร่ระบาดของไวรัสตับอักเสบบีและซีในทวีปเอเชีย เนื่องจากการติดเชื้อโรคตับอักเสบบีหรือโรคตับอักเสบซีอาจนำไปสู่ภาวะตับแข็ง และความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับในเวลาต่อมา แต่ปัจจุบันโรคเกี่ยวกับตับกำลังมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งพบว่ามีอีกสาเหตุสำคัญ เกิดปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมสุขภาพของคนในยุคนี้ที่มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตไม่ระมัดระวังในการบริโภค" ศ.นพ.ทวีศักดิ์ กล่าว
ศ.นพ.ทวีศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มีอุบัติการณ์เบาหวานและโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โรคอ้วนที่เพิ่มมากขึ้นทำให้มีไขมันคั่งในตับมากขึ้น ขณะเดียวกันหากดูภาพรวมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยมีอัตราเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ตับเสื่อมมากขึ้น ซึ่งผู้ป่วย มะเร็งตับ ที่เกิดจากเซลล์ตับโดยตรง มากกว่าร้อยละ 90 ต้องผ่านภาวะตับแข็งมาก่อน ซึ่งถ้าเราดูข้อมูลในประเทศไทย แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากภาวะตับแข็งปีละ 5 - 6 หมื่นราย ขณะที่มีมะเร็งตับ ประมาณ 2 - 3 หมื่นคน
"หากปล่อยให้ตับและเซลล์ตับเสื่อมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะถูกแทนที่ด้วยแผลเป็นคือ มีพังผืดเพิ่มขึ้นในตับ พอมีพังผืดเกิดมากขึ้น เซลล์ตับก็ทำงานน้อยลง โดยพังผืดที่มากขึ้นนี้เองจะไปบีบรัดทำให้การไหลเวียนหลอดเลือดในตับเปลี่ยนไป จากปัจจัยข้างต้นจะทำให้ตับสร้างสิ่งที่ต้องการน้อยลง สังเกตได้จากมีภาวะท้องบวม เท้าบวม เพราะตับสามารถทำลายสารพิษได้น้อยลง หรือที่รู้จักกันคือ อาการตับแข็ง และเป็นสาเหตุที่เสียชีวิตมากที่สุด รวมถึงการนำไปสู่โรคมะเร็งตับในผู้ป่วยบางราย" ศ.นพ.ทวีศักดิ์ กล่าว
ยิ่งพบช้า ยิ่งเสียชีวิตสูง
อีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตจาก มะเร็งตับ ค่อนข้างสูงนั้น เกิดจากการตรวจพบโรคที่ช้ากว่ามะเร็งชนิดอื่น เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งตับในระยะแรกมักไม่แสดงอาการใดๆ ทำให้ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะทราบว่าตนเองเป็นมะเร็งก็ถึงระยะลุกลามหรือระยะสุดท้ายแล้ว
ผศ.นพ.สุพจน์ นิ่มอนงค์ อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ โดยในร่างกายคนเรามักมีตับขนาดประมาณสองกิโลกรัม หากมีมะเร็งตับขนาด 3 - 4 เซนติเมตร จะไม่มีอาการเลย
"การตรวจพบสัญญาณโรคเกี่ยวกับตับ เป็นเรื่องค่อนข้างยาก บางครั้งต่อให้ผู้ป่วยที่ติดตามสุขภาพประจำก็ตาม ด้วยความที่ตับใหญ่มากกว่าที่เราจะตรวจแสดงว่ามะเร็งอาจลุกลามขนาดใหญ่มาก อีกทั้งเนื่องจากข้างในตับเป็นอวัยวะที่ไม่มีความรู้สึก จะรู้สึกมีอาการเมื่อโรคลุกลามไปถึงผิวตับแล้ว หรือไม่ก็ใหญ่มากจนรู้สึกอึดอัดเบียดกระเพาะอาหารแล้ว ซึ่งแสดงว่าต้องใหญ่มากจริงๆ" ผศ.นพ.สุพจน์ กล่าว
ศ.นพ.ทวีศักดิ์ กล่าวเสริมว่า อีกเหตุผลคือ ตับเป็นอวัยวะที่มีทุนสำรองเยอะ เช่น หากตับเสียหาย จะยังเหลือประมาณร้อยละ 20 ที่สามารถทำงานได้ปกติ โดยไม่รู้ว่าแท้จริงตับเราหายไปหรือสูญเสียไปแล้วเกินร้อยละ 80 อย่างไรก็ดี คนไข้ที่ตรวจพบส่วนใหญ่ มักมีอาการปวดท้องที่ชายโครงท้องด้านขวา ซึ่งแสดงว่าอาจเป็นมะเร็งตับลุกลามขนาดใหญ่หมดแล้ว นั่นคือประมาณ 5 - 10 เซนติเมตร ปัจจุบันคนที่มาหาแพทย์ในระยะเริ่มต้นที่พอจะรักษาได้ทันมีประมาณเพียงหนึ่งในห้าของผู้ป่วยที่เป็นโรคตับทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่จะมาในระยะลุกลามแล้วกว่าร้อยละ 80
"ในประเทศไทย มีผู้ป่วยมะเร็งตับเฉลี่ย 25,000 รายต่อปี มีเพียง 12,000 รายที่ตรวจพบเป็นมะเร็งตับปฐมภูมิชนิด Hepatocellular carcinoma (HCC) ซึ่งตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่า การตรวจคัดกรองเป็นประจำและการมีเทคโนโลยีการคัดกรองที่แม่นยำจะช่วยให้การวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงที เรามักจะเห็นจากข่าวนักร้องดาราที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับทั้งหลายรับรู้ว่าเป็นก็ต่อเมื่อใกล้เสียชีวิต เนื่องจากในความเป็นจริง โรคตับมักไม่มีการอาการจนกว่าถึงวาระสุดท้ายของโรค รวมถึงมะเร็งตับก้อนขนาด 3 - 4 เซนติเมตรก็จะไม่มีอาการ ผู้ป่วยจะทราบว่าเป็นโรคตับก็ต่อเมื่อมีอาการในระดับรุนแรงแล้ว" ศ.นพ.ทวีศักดิ์ กล่าว
รู้เร็ว รู้ก่อน ลดเสี่ยง
ด้านการป้องกันโรคตับที่จะเป็นโอกาสนำไปสู่ มะเร็งตับ โดยการป้องกันในกลุ่มผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีและตับอักเสบซี ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขพยายามสร้างความรับรู้เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันไว้รัสตับอักเสบบีและซีสำหรับคนที่ไม่ได้ฉีดตั้งแต่เด็กๆ นอกจากนี้แม่ตั้งครรภ์ที่เป็นไวรัสดังกล่าว ยังได้รับยาเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกได้รับเชื้ออีกด้วย ขณะที่ไวรัสตับอักเสบซีปัจจุบันมียาที่กินเพื่อรักษาให้หายได้ ปัญหาในอนาคตคือกลุ่มที่มีอาการเกี่ยวกับโรคตับอันเนื่องจากปัจจัยแอลกอฮอล์และไขมันที่เป็นสาเหตุของโรคไขมันคั่งตับซึ่งกำลังมีแนวโน้มมากขึ้น
ศ.นพ.ทวีศักดิ์ แนะนำว่า ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมตนเองโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีพฤติกรรมชัดเจนว่ามีโอกาสเป็นโรคตับแข็งหรือภาวะไขมันคั่งตับ ซึ่งคนเราพออายุเกิน 35 ปี โอกาสเป็นไขมันคั่งตับมีเกือบร้อยละ 40 แต่ยังมีเพียงส่วนน้อยที่จะมีอาการลุกลามไปเป็นภาวะตับแข็ง แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นด้วย เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันสูง ไขมันสูงอยู่แล้ว หรือคนที่มีรอบเอวเกิน 36 นิ้ว ในเพศชาย และ 32 นิ้ว ในผู้หญิง แม้ไม่มีอาการใดแต่การมาตรวจคัดกรองเป็นระยะจะช่วยให้ให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น
ศ.นพ.ทวีศักดิ์ กล่าวถึงแนวทางการรักษาว่า หากมีการมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นในการช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคหรือสามารถตรวจเจอพบแต่ระยะแรก รวมถึงการช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงง่ายขึ้นและราคาถูกลงในระยะยาวก็จะเป็นหนทางที่ช่วยลดจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้ได้ในที่สุด เพราะหากพบอาการโรคโดยไวก็มีโอกาสหายได้ถึงร้อยละ 80 - 90
ปัจจุบันด้วยวิทยาการด้านการแพทย์และการรักษาที่พัฒนามากขึ้น จึงเริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ ตรวจมะเร็งตับที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สุภัทรา สุภรัมย์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดระดับภูมิภาค (ผลิตภัณฑ์เพื่อการวินิจฉัยภายนอกร่างกาย) แผนกธุรกิจระบบทางการแพทย์ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลโดยยกเคสประเทศญี่ปุ่นว่า จากสถิติผู้ป่วยมะเร็งตับในประเทศญี่ปุ่น พบผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยตรวจพบเนื้องอกเซลล์มะเร็งตับตั้งแต่ที่ขนาดยังโตไม่ถึง 2 เซนติเมตร และได้รับการรักษาทันท่วงที จนทำให้ผู้ป่วยมะเร็งตับในญี่ปุ่นมีอัตราการรอดชีวิตสูง เกิดจากการมีระบบการตรวจคัดกรองที่มีความไวและความจำเพาะสูง โดยอาศัยตัวบ่งชี้ทั้ง AFP, PIVKA-II และ AFP-L3 โดยฟูจิฟิล์มได้มีส่วนร่วมในการช่วยวินิจฉัย จากนวัตกรรมที่พัฒนาน้ำยาที่ใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งตับดังที่กล่าวมาข้างต้น
ล่าสุด ฟูจิฟิล์ม นำเสนอเทคโนโลยี AFP-LP3 และโซลูชัน Fully Automated Immunoanalyzer "μTASWako i30" เครื่องตรวจวิเคราะห์สารบ่งชี้มะเร็งตับในเลือดแบบครบวงจร มาจัดแสดงภายในงานประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 18 สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย "THASL Annual Meeting 2023"
"ด้วยโซลูชันทางการแพทย์ด้านการวินิจฉัยโรคที่ครบวงจรของฟูจิฟิล์ม พร้อมกับการเดินหน้าสร้างความตระหนักรู้เรื่องการคัดกรอง มะเร็งตับ และการฉีควัคซีนป้องกันโรคในไทยที่สอดคล้องกับพันธกิจในการยกระดับวงการสาธารณสุขทั่วโลก ภายใต้วิสัยทัศน์ของฟูจิฟิล์มในการช่วยแก้ไขปัญหาทางสังคมและช่วยสร้างสังคมที่ยั่งยืน เพื่อสุขภาวะที่ดีขึ้นของทุกคน" สุภัทรา กล่าวทิ้งท้าย