“เบื้องหลังความสำเร็จของ กต. กับภารกิจการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566”
“เบื้องหลังความสำเร็จของ กต. กับภารกิจการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566”
“บทบาทของ กต. และภาพรวมการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566 เป็นอย่างไร”
คนไทย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยผู้ที่มีถิ่นพำนักในต่างประเทศ หรือผู้เดินทางไปต่างประเทศไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใด และไม่สามารถไปลงคะแนนเสียงในประเทศไทยได้
ก็สามารถขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นหน่วยงานหลักในภารกิจสำคัญนี้ โดยมีสถานเอกอัครราชทูต (สอท.) และสถานกงสุลใหญ่ (สกญ.) ทั้ง 94 แห่งทั่วโลก เป็นเสมือน “คูหาเลือกตั้ง”
การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนเวลาที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สนง. กกต.) กำหนด โดย สอท./สกญ. อาจจัดเลือกตั้งมากกว่า 1 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทยในต่างประเทศและอำนวยความสะดวกแก่คนส่วนใหญ่ เช่น ในประเทศที่คนไทยไปทำงานภาคบริการซึ่งวันเสาร์อาทิตย์จะเป็นวันที่ลูกค้ามาใช้บริการจำนวนมากและได้หยุดวันธรรมดา ก็จะจัดคูหาเลือกตั้งในวันที่คนไทยส่วนใหญ่หยุดงาน
สำหรับวิธีการเลือกตั้งในต่างประเทศนั้น สนง. กกต. กำหนดไว้ 3 วิธีเพื่อเป็นทางเลือก เนื่องจากประเทศต่าง ๆ มีบริบทและลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน โดย สอท./สกญ. จะพิจารณากำหนดวิธีการที่เหมาะสมกับชุมชนไทยในประเทศนั้น ซึ่งเน้นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเป็นสิ่งสำคัญได้แก่ (1) แบบคูหา ซึ่งจะจัดที่ สอท./สกญ. (2) ทางไปรษณีย์ ซึ่งเหมาะกับประเทศที่มีระบบไปรษณีย์ที่มีประสิทธิภาพ และการเดินทางห่างไกล ยากลำบาก คนไทยอยู่กันกระจัดกระจาย (3) วิธีอื่น ๆ เช่น การจัดหน่วยเลือกตั้งเคลื่อนที่เพื่อเข้าถึงพี่น้องคนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณที่มีชุมชนไทยหนาแน่น เช่น ค่ายพักคนงาน ฟาร์มเกษตร วัดไทย เป็นต้น รวมถึงประเทศในเขตอาณาซึ่ง สอท. ดูแลรับผิดชอบแต่ไม่มีสำนักงานตั้งอยู่
“คนไทยในต่างประเทศตื่นตัวเพียงใดในการเลือกตั้งครั้งนี้”
จากสถิติการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในปีนี้ เห็นได้ชัดว่า คนไทยในต่างประเทศให้ความสนใจและมีความตื่นตัวในการเลือกตั้งเป็นอย่างยิ่ง โดยการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566 มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ 115,227 ราย และมีผู้มาใช้สิทธิ 99,927 ราย คิดเป็นร้อยละ 86.72 ซึ่งมีอัตราส่วนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยประเทศที่มีจำนวนผู้มาใช้สิทธิ สูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ออสเตรเลีย 2) สหรัฐอเมริกา 3) สหราชอาณาจักร 4) ญี่ปุ่น และ 5) เยอรมนี ตามลำดับ โดยเมื่อปี 2562 ยอดลงผู้ทะเบียนขอใช้สิทธิ 119,232 ราย และมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 101,003 ราย คิดเป็นร้อยละ 84.71
“การดำเนินภารกิจอันสำคัญนี้ กต. เตรียมพร้อมอย่างไร”
กต. ให้ความสำคัญอย่างมากกับภารกิจนี้ โดยได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ตามหลัก “การทูตเพื่อประชาชน” ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อดูแลและอำนวยความสะดวกให้คนไทยในต่างประเทศได้ใช้สิทธิออกเสียงและกำหนดอนาคตของประเทศไทยร่วมกัน โดยเมื่อประเมินเงื่อนเวลาต่าง ๆ จากการเลือกตั้งรอบที่แล้วและวาระการดำรงตำแหน่งของรัฐบาล กต. จึงได้เตรียมความพร้อมล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 เพื่อให้มั่นใจว่า การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566 จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุผลสำเร็จตามแผนที่วางไว้ กต. ได้หารือและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะ สนง. กกต. กรมการปกครอง (สำนักบริหารการทะเบียน) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) ตั้งแต่การพัฒนาระบบการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การแก้ไขระเบียบและการบริหารจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร รวมทั้งแนวทางการจัดส่งบัตรเลือกตั้งจากต่างประเทศและการขนส่งไปยังเขตเลือกตั้งทั้ง 400 เขตทั่วประเทศ โดยมีประสบการณ์และบทเรียนจากการจัดเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเมื่อปี 2562 และข้อเสนอแนะจาก สอท./สกญ. ในฐานะหน่วยงานด่านหน้าที่ต้องประสานงานกับคนไทยในต่างประเทศโดยตรง
ขณะเดียวกัน กต. ได้เตรียมความพร้อมเพื่อสร้างทีมงานที่เข้มแข็งภายใน กต. โดยจัดตั้งคณะทำงานเตรียมการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ อาทิ ระบบ IT งบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์ โดยมีอธิบดีกรมการกงสุลเป็นประธาน และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องภายใน กต. ร่วมเป็นคณะทำงาน ซึ่งแต่ละคนมีประสบการณ์หลากหลาย เคยจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเมื่อครั้งประจำการในต่างประเทศและประสานงานต่าง ๆ ภายใน กต. จึงได้ระดมสมองและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อถอดบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ และแสวงหาแนวทางที่จะทำให้การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในครั้งนี้มีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ตลอดจนเตรียมความพร้อมให้แก่ สอท./สกญ. โดย กต. ร่วมกับ สนง. กกต. จัดการอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ สอท./สกญ. ทั่วโลก 2 ครั้ง ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ เพื่อซักซ้อมแนวปฏิบัติให้การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นระบบ และถูกต้องตามระเบียบ กกต. รวมทั้งมีการตั้งกลุ่มแชทเพื่อตอบคำถามและให้คำปรึกษาแนะนำต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด
“อะไรคือ Pain Point และความท้าทายของการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร”
ด้วยเครือข่าย สอท./สกญ. ทั่วโลก 94 แห่งในภูมิภาคต่าง ๆ มีบริบทที่แตกต่างกัน ทั้งจำนวนและลักษณะของชุมชนไทยที่อยู่กระจัดกระจาย โซนเวลา ระยะทาง ข้อจำกัดด้านการขนส่ง และบริบทเฉพาะของแต่ละประเทศ ที่อาจเป็นทั้งปัจจัยเกื้อหนุนและความท้าทาย ดังนั้น การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรโดยอิงกับรูปแบบ การเลือกตั้งในประเทศไทยซึ่งมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น จำนวนบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่และสนับสนุนการเลือกตั้ง จำนวนหน่วยเลือกตั้งที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงประชาชน และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สื่อมวลชนไทยแข่งขันกันรายงานข่าว ซึ่งแตกต่างจากสภาพชุมชนไทยในต่างประเทศอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นการประสานงานและการติดตามสถานะการดำเนินงานของ สอท./สกญ. ทั้ง 94 แห่ง รวมถึงการบริหารจัดการปัญหาและอุปสรรคที่แตกต่างกันทั้ง 94 แห่งภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการจัดการเลือกตั้งในประเทศไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ความท้าทายที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งต้องอาศัยความรวดเร็ว โดย กต. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการให้ข้อมูลถูกต้อง ตรงประเด็น และเป็นประโยชน์ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนและแก้ไขข่าวเท็จ (fake news) ที่สร้างกระแสดราม่าและความเข้าใจผิดในสังคม ในขณะที่ปัจจุบัน ทุกคนสามารถเล่นบทบาท “นักข่าว” ในสื่อสังคมออนไลน์ได้ โดยบางครั้งลืม“รับผิดชอบ” กับเนื้อหาที่โพสต์
“กุญแจแห่งความสำเร็จในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรปี 2566”
เพื่อรับมือกับความท้าทายและลดความผิดพลาดของมนุษย์ (human error) ที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ในสภาพบริบทของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน กต. โดยศูนย์บริหารข้อมูลการกงสุล และสารสนเทศ (Consular Data and Information Centre: CDIC) ของกรมการกงสุล จึงได้พัฒนา “ระบบเฝ้าติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร” หรือ “Overseas Voting Monitoring System” เรียกสั้น ๆ ว่า “OVMS” เป็นแอปพลิเคชั่นที่ใช้งานผ่านเว็บไซต์ (web application) ซึ่งใช้งานได้ทั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน เพื่อเป็นเครื่องมือที่ กต. สามารถใช้ติดตามการดำเนินงานของ สอท./สกญ. ทุกแห่งในลักษณะ checklist แบบ real-time รวมถึงสถานะการขนส่งบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า ทุกคะแนนเสียงของพี่น้องคนไทยในต่างประเทศจะไม่สูญเปล่า กต. จึงได้วางแผนอย่างเป็นระบบในการขนส่งบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว โดยให้ สอท./สกญ. ทยอยส่งบัตรเลือกตั้งกลับมาคัดแยกและส่งไปนับคะแนนที่เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ สำหรับประเทศที่ห่างไกลหรือมีสถานการณ์พิเศษซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการจัดส่งนั้น เจ้าหน้าที่กงสุลถือถุงเมล์กลับมายังประเทศไทยด้วยตนเอง โดยมีการประสานงานกับสายการบินและการท่าอากาศยานอย่างรัดกุมและใกล้ชิด ซึ่งเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 กต. ได้รับบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วจาก สอท./สกญ. ครบถ้วนทั้ง 94 แห่ง และสามารถส่งมอบให้ สนง. กกต. และ ปณท. เพื่อจัดส่งไปนับคะแนนที่เขตเลือกตั้งทั้ง 400 เขตในประเทศไทยได้ทันตามกรอบเวลาที่วางไว้
“ข้อสังเกตต่อการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในอนาคต”
กต. ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้คนไทยทุกคนออกมาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และแสวงหาวิธีการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในอนาคต เช่น การเลือกตั้งโดยลงคะแนนแบบ i-Vote ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางหลายแห่งในกลุ่มประเทศอาเซียน เอเชีย และยุโรปได้เริ่มใช้ i-Vote อย่างกว้างขวางมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยประหยัดงบประมาณและช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนไทยในต่างประเทศ ซึ่งอาศัยอยู่กระจัดกระจายในพื้นที่ต่าง ๆ และอยู่ห่างจากเมืองที่ สอท./สกญ. ตั้งอยู่ โดยการเลือกตั้งแบบ i-vote จะสอดคล้องกับการก้าวไปสู่การเป็น e-Government ของรัฐบาล ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบ blockchain เข้ามาช่วย ทั้งในการประชาสัมพันธ์ การเลือกตั้ง และการใช้สิทธิผ่านระบบออนไลน์ของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และอาจพิจารณาเริ่มนำร่องในประเทศพัฒนาแล้วก่อน โดย กต. อยู่ระหว่างการหารือกับ สนง. กกต. ในเรื่องนี้เพื่อพิจารณาศึกษาวิธีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาไปสู่การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแบบ i-Vote ต่อไป
ศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
กรมการกงสุล
16 มิถุนายน 2566