Set Zero อุตสาหกรรมสิ่งทอไทย เดินหน้าสู่กรีนเท็กซ์ไทล์
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ หนุนสิ่งทอไทยพัฒนาศักยภาพ ปรับเปลี่ยนสู่ตลาดสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รับกระแสโลกและความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ เล็งเสนอแผนรัฐบาลชุดใหม่ ผลักดันผู้ประกอบการแข่งขันตลาดโลก
เริ่มต้นขึ้นแล้วกับงานแสดงมหกรรมอุตสาหการเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทองาน "GFT 2023" งานแสดงเทคโนโลยีด้านเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอที่ครบครันและครอบคลุมที่สุดในอาเซียน ระหว่างวันที่ 21 - 24 มิถุนายน 2566 โดยเป็นส่วนหนึ่งของงาน MANUFACTURING EXPO 2023
ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวถึง ทิศทางและอนาคตของ อุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ที่มีมูลค่าส่งออกกว่า 2 แสนล้านบาท ต้องเร่งปรับตัว พร้อมนำ BCG โมเดล เข้ามาปรับใช้ เพราะจากผลกระทบด้านซัพพลายเชนในช่วงโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมหดตัวกว่า 20% แม้ในช่วงปี ค.ศ. 2021 จะขยับขึ้นมาเกือบ 6-7% และปี 2022 โต 5% ก็ยังไม่สามารถกลับมายืนที่ตัวเลขเดิมได้
ขณะที่ ตลาดเสื้อผ้า ยิ่งหดตัวหนัก ตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา หดตัวลงถึง 65% เนื่องจากปริมาณสินค้าที่โอเวอร์ซัพพลาย ถือเป็นสถานการณ์ที่ไทยไม่เคยเจอมาก่อน ส่วนตลาดต่างประเทศ ก็แข่งขันยาก เนื่องจากอุตสาหกรรมโดยรวมหดตัว เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น
"อุตสาหกรรมสิ่งทอไทย มีตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ บางส่วนเราแข่งขันได้ แต่บางส่วนก็แข่งขันไม่ได้ การส่งออกเรายังหาจุดยืนไม่เจอ จะแข่งราคา ต้นทุนค่าแรงงานเราก็สูง ทำให้แข่งขันยาก" ดร.ชาญชัย กล่าว
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือ ลักษณะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอุปสรรค เป้าหมายของ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ไม่ต้องการให้ไทยเป็นแค่ OEM หรือรับจ้างผลิต แต่ไทยควรเป็น ODM หรือ Original Design Manufacturer คือ ผู้รับจ้างที่ออกแบบและผลิตสินค้าให้กับบริษัทเหมือนอิตาลี ที่แม้ค่าแรงจะสูง แต่อิตาลีสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ด้วยการออกแบบวัสดุให้เข้ากับการใช้งาน สนองตอบตลาดด้วยฟังก์ชัน เช่น สิ่งทอที่แอนตี้แบคทีเรีย หรือไวรัส
เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญของตลาดโลก สินค้า และวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งสอดรับกับนโยบาย BCG โมเดลของไทย
ดร.ชาญชัย กล่าว โดยยกตัวอย่างงาน ITMA งานแสดงเทคโนโลยีสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มนานาชาติ 2023 ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ผู้ผลิตเครื่องจักร สารเคมี วัสดุสิ่งทอ ไปสู่การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ทิศทางคือ ต้องการเอาวัสดุเก่ามาหมุนเวียนเป็นวัสดุใหม่ ซึ่งตอนนี้ผู้บริโภคคาดหวังขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะยุโรป สินค้าจะมีป้ายบ่งบอกเลยว่า วัสดุหรือส่วนผสมมาจากอะไร มาจากธรรมชาติหรือไม่ และมีการเล่าเรื่องที่มาของเสื้อผ้า
จุดนี้ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งในไทยยังมีน้อย ดังนั้น ต้องเปลี่ยนวิธีการผลิต เปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ๆ ที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม ผลิตสินค้าจำนวนน้อย ใช้ พลังงานสะอาด ใช้น้ำน้อย สารเคมีน้อย
"ตอนนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอเหมือน set zero ใหม่ ไม่ใช่ sun set การแข่งขันเปลี่ยนแบรนด์เสื้อผ้าใหญ่ๆ ต้องการรู้เรื่องที่มาของวัสดุ แต่เราจะคว้าโอกาสนี้ได้มากแค่ไหนก็ไม่รู้ เพราะผู้ประกอบการไทยยังติดเรื่องต้นทุน" ดร.ชาญชัย กล่าว
ดร.ชาญชัย กล่าวว่า ทางสถาบันฯ มีแผนจะพัฒนาวัสดุให้ผู้ประกอบการ พัฒนาวิจัยวัสดุใหม่ๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เส้นใยกัญชง ที่สามารถใช้ทดแทนฝ้ายหรือคอตตอนที่ใช้น้ำมากได้ ซึ่งจีน และฝรั่งเศสก็ทำมาแล้ว ด้วยการนำเส้นใยกัญชงมาแทนคอตตอน 30%
สถาบันฯ ต้องการพัฒนาวัสดุใหม่ๆ ร่วมกับเอกชน และยังมีแผนให้ความรู้ต่างๆ แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งร่วมผลักดันให้มีผู้ออกใบรับรองมาตรฐาน และการพัฒนาด้านการตลาด นำเรื่อง Soft Power และ BCG มาเชื่อมโยงเข้ากับการผลิต รวมถึงภูมิปัญญาไทยจากชุมชนต่างๆ มาต่อยอด
พร้อมผลักดันเรื่องซื้อเครื่องจักรใหม่ที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน ซึ่งผู้ประกอบการไทยพร้อมลงขัน แต่ถ้ารัฐบาลร่วมสนับสนุน ยิ่งขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น โดยขณะนี้โรงงาน 20-30% จากจำนวนเกือบ 4,000 โรงงาน เริ่มเปลี่ยนเครื่องจักรไปแล้ว
ดร.ชาญชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ ต้องเริ่มตั้งแต่ mindset ของผู้ประกอบการ และต้องผสมผสานด้วยเทคโนโลยี Productivity รวมถึงมาตรฐาน ทุกอย่างต้องเดินไปพร้อมๆ กัน จึงจะไปถึงจุดหมายได้ ซึ่งตลาดใหญ่ของไทย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เวียดนาม พร้อมเปิดรับแน่นอน