พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ กทท. ในโอกาสน้อมเกล้าฯ ถวายรถตรวจเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท) เนื่องในโอกาสที่ กทท. สนับสนุนเงินจำนวน 33,000,000 บาท ให้แก่มูลนิธิกาญจนบารมีสำหรับจัดหารถตรวจเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้มูลนิธิกาญจนบารมี และหน่วยงานที่มีอุปการคุณสนับสนุนการดำเนินงานหน่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่โดยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) ของมูลนิธิกาญจนบารมี เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายขบวนรถหน่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ ประกอบด้วยรถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่เมมโมแกรม (Mammogram) ประสิทธิภาพสูง 3 มิติพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 4 คัน รถนิทรรศการเคลื่อนที่ จำนวน 2 คัน รถสาธิตและการสอนตรวจเต้านม จำนวน 2 คัน รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ จำนวน 2 คัน รวมจำนวน 10 คัน เพื่อพระราชทานแก่มูลนิธิกาญจนบารมี พร้อมกันนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) โดยมีนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. เป็นผู้แทนรับพระราชทาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานผู้มีอุปการคุณร่วมสนับสนุนฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
กทท. ร่วมสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยในวาระครบรอบ 70 ปี ของ กทท. ได้สนับสนุนเงินจำนวน 33,000,000 บาท ให้แก่มูลนิธิกาญจนบารมีสำหรับจัดหารถตรวจเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) และเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 กทท. ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายรถตรวจเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammogram) ประสิทธิภาพสูงพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 1 คัน ซึ่งภายในรถตรวจฯ ประกอบด้วยเครื่องตรวจเต้านมที่เห็นโครงสร้างความผิดปกติได้อย่างชัดเจน และใช้โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการช่วยหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อเต้านมอัตโนมัติ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิกาญจนบารมี ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อปี 2540 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งสตรีกลุ่มเสี่ยงในถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกลจากโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล ให้สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตได้สูงถึง 90% อันจะเป็นการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในประเทศไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ