'สมิติเวช' เปิดศูนย์สุขภาพดีส่วนบุคคลสมิติเวช ชูนวัตกรรมตรวจยีน ลงลึกระดับพันธุกรรม
"สมิติเวช" เปิดศูนย์สุขภาพดีส่วนบุคคลสมิติเวช ชูนวัตกรรมตรวจยีน ลงลึกถึงระดับพันธุกรรม พร้อมบูรณาการทีมแพทย์จากหลากหลายสาขา ช่วยวางโรดแมปในการดูแลสุขภาพ ภายใต้แนวคิด Healthier Generation ยีนดีทุกวัย
นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช กล่าวว่า สมิติเวช มั่นคงในวิสัยทัศน์ "เราไม่อยากให้ใครป่วย" เพื่อตอบโจทย์ไม่อยากให้คนมาโรงพยาบาลเพื่อการรักษา แต่เน้นการป้องกัน ด้วยการนำเสนอโซลูชันในการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันอย่างครบวงจร ต่อยอดโซลูชันเดิมที่ส่งเสริมให้ทุกคนดูแลตัวเองแบบ Self Care ด้วยการกินดีและออกกำลังเหมาะสมตามวัย Early Care ป้องกันการเจ็บป่วยด้วยการตรวจสุขภาพ โดยวิเคราะห์โรคจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและระบบ AI สุดท้ายคือ Risk Care รู้ทันก่อนเกิดโรค ด้วยแบบประเมินความเสี่ยงแบบเฉพาะบุคคล ทั้งสุขภาพกายและใจ
"การตรวจสุขภาพยังจำเป็นไหม แน่นอนว่าจำเป็น เพราะเป็นการตรวจหาความเสี่ยงของโรคในปัจจุบัน แต่การตรวจยีนเป็นการช่วยพยากรณ์โรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะได้สามารถหาทางป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้จากที่ต้องเจ็บตัว เสียเงินก้อนโตเพื่อรักษา เสียโอกาสที่จะประกอบอาชีพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเติบโตของประเทศ กลายเป็นว่าไม่ต้องใช้เงินมาก และไม่ต้องเจ็บตัว ก็สามารถป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคในอนาคตได้"
ดังนั้น "ศูนย์สุขภาพดีส่วนบุคคลสมิติเวช" จึงนำนวัตกรรม ตรวจยีน โดยบูรณาการทีมแพทย์จากหลากหลายสาขา มาช่วยวางโรดแมปในการดูแลสุขภาพ ภายใต้แนวคิด Healthier Generation ยีนดีทุกวัย
นพ.ชัยรัตน์ กล่าวต่อไปว่า นวัตกรรมตรวจยีนของ สมิติเวช ใช้เทคโนโลยี WGS หรือ Whole Genome Sequencing สามารถอ่านข้อมูลจากรหัสพันธุกรรมได้มากกว่า 3,000 ล้านตัวอักษร และรายงานผลตรวจได้กว่า 20,000 ยีน อ่านผลโดยแพทย์เวชพันธุศาสตร์และจีโนมิกส์ มีห้องปฏิบัติการที่ตรวจได้มาตรฐานระดับสากล CLIA certification และ CAP accreditation โดยมีทีมแพทย์ Health Coach หากคนไข้มีความเสี่ยงในระดับกลางถึงสูง ทีมแพทย์เฉพาะทางจะช่วยออกแบบไลฟ์สไตล์ เพื่อหลีกเลี่ยงและลดความเสี่ยงการเกิดโรค
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น "สมิติเวช" ได้นำร่องเปิด "ศูนย์สุขภาพดีส่วนบุคคลสมิติเวช" ที่โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท และโรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ พร้อมด้วยบริการที่ครบวงจร เพื่อตอบโจทย์การดูแลสุขภาพคนไทยอีก 90% ที่ยังไม่ป่วย ให้มีสุขภาพที่แข็งแรง เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการโหลดแอปพลิเคชัน Well by Samitivej เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเช็กลิสต์ความเสี่ยงจากการเกิดโรคทางพันธุกรรม (Family Tree Analysis) ที่ออกแบบโดยทีมแพทย์เฉพาะทางที่เชื่อถือได้ตามมาตรฐานสหรัฐ ในกรณีที่ไม่มีความเสี่ยง แต่ถ้ามีความเสี่ยงก็สามารถปรึกษา Health Coach ผ่านแอปฯ ได้ฟรี 15 นาทีแรก จากนั้นจึงค่อยมา ตรวจยีน เพื่อวางโรดแมปในการดูแลสุขภาพ
นพ.นิธิวัฒน์ กิจศรีอุไร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวเสริมว่า นวัตกรรมตรวจยีน สามารถตรวจได้ทั้งในกลุ่มแม่ที่เพิ่งเริ่มตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันโรคทางพันธุกรรมส่งต่อไปยังลูกน้อย หรือสำหรับคนทั่วไปที่อาจจะมียีนที่เป็นอัลไซเมอร์ โรคหัวใจ มาตั้งแต่กำเนิด การมา ตรวจยีน จะทำให้สามารถปรับวิถีการใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสม
รศ.ดร.นพ. บุญศรีจันทร์ รัชชกูล แพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ และหัวหน้าหน่วยคลินิกป้องกันการคลอดก่อนกำหนด โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า 2-5% ของทารกแรกเกิดมีโรคทางพันธุกรรมมาแต่กำเนิด นอกจากนี้โรคทางพันธุกรรม เป็นสาเหตุการตายของเด็กแรกเกิดราว 20% ที่สำคัญยังถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากข้อมูลของ สมิติเวช พบว่า คู่สมรส 70% ที่เข้ามาตรวจมีโรคพันธุกรรมอย่างน้อย 1 โรค โรคที่พบบ่อยที่สุดคือ ธาลัสซีเมีย ประมาณ 1 ใน 4 และหูหนวก 1 ใน 6 ดังนั้นการตรวจยีนและการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์จึงมีความสำคัญมาก ผลจากการตรวจจะช่วยประเมินความเสี่ยงของการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมมายังลูก ทำให้แพทย์พบความบกพร่องทางพันธุกรรมของทารกที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
รศ.ดร.นพ.โอบจุฬ ตราชู อายุรแพทย์และแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชพันธุศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์พันธุศาสตร์สมิติเวช กล่าวว่า ข้อดีของการนำข้อมูลพันธุกรรม มาประกอบกับไลฟ์สไตล์และสภาพแวดล้อม จะทำให้สามารถวางโรดแมปในการดูแลสุขภาพได้ว่า ควรกินหรือเลี่ยงอาหารแบบไหน การออกกำลังกายแบบไหนเหมาะหรือไม่เหมาะ
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ถึงคนเราจะไม่สามารถปรับแก้รหัสพันธุกรรมได้ แต่ถ้าสามารถรู้ก่อนว่า ต้นทุนความเสี่ยงของตัวเราสูงแค่ไหน ก็จะสามารถหาวิธีลดความเสี่ยงส่วนอื่นที่จะมากระทบ เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ถ้าเป็นกลุ่มที่มีอาการสมองตีบ หัวใจตีบ กลุ่มนี้ถ้าแพทย์แนะนำให้กินยาจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ในกลุ่มที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง แต่ยังไม่มีอาการ หนึ่งในคำถามที่พบบ่อคือ ทำไมต้องกินยา กังวลว่าถ้ากินแล้ว ต้องกินยาตลอดชีวิต
พญ.จิตแข เทพชาตรี แพทย์ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย และฟื้นฟูสุขภาพ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวเสริมว่า สมัยก่อนเวลาพูดถึงการดูแลสุขภาพ หลายคนจะนึกถึงการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และการพักผ่อนให้เพียงพอ แต่เมื่อเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้น เราค้นพบแล้วว่า การดูแลสุขภาพของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกัน เช่น ผู้ป่วยที่เสี่ยงว่าจะเป็นอัลไซเมอร์ อาจจะต้องการการดูแลสุขภาพและลดความเสี่ยงที่แตกต่างจากผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงมะเร็งหรือหัวใจ ดังนั้นการตรวจยีนที่ทำให้เข้าใจความเสี่ยงของโรค จะทำให้วางแผนในการป้องกัน ดูแลสุขภาพได้เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สุขภาพดีส่วนบุคคลสมิติเวช (Samitivej Genomic and Lifestyle Wellness Center) โทร. 02-022-2750