กรมวิชาการเกษตร โชว์เทคนิคการตัดช่อดอกอ่อน ขยายผลสับปะรด “พันธุ์เพชรบุรี 2” สู่เกษตรกร
กรมวิชาการเกษตร โชว์เทคนิคการตัดช่อดอกอ่อน
ขยายผลสับปะรด “พันธุ์เพชรบุรี 2” สู่เกษตรกร
การตัดช่อดอกอ่อนเป็นวิธีการผลิตหน่อพันธุ์สับปะรด ที่ใช้เทคนิคที่เกษตรกรสามารถเรียนรู้และปฏิบัติได้เองในแปลงปลูกเพื่อลดระยะเวลาในการผลิต และเพิ่มจำนวนหน่อพันธุ์สับปะรดที่ผลิตได้ต่อพื้นที่มากกว่าการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ เหมาะสำหรับพันธุ์ที่มีหน่อพันธุ์จำนวนน้อยแต่ตลาดมีความต้องการสูง เช่น พันธุ์เพชรบุรี เพชรบุรี 2 และ MD 2 เป็นต้น
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี (ศวพ. เพชรบุรี) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 กรมวิชาการเกษตร ได้ถ่ายทอดเทคนิคการผลิตหน่อพันธุ์สับปะรดด้วยการตัดช่อดอกอ่อนสู่เกษตรผ่านการจัดอบรม ซึ่งเทคนิคนี้จะบังคับการออกดอกในต้นสับปะรดอายุ 5 เดือนหลังปลูก หรือต้นมีน้ำหนักประมาณ 1 กก. หลังจากนั้น 2 เดือนเมื่อก้านชือดอกยืดตัวจึงตัดช่อดอกออ่อนอออกเพื่อให้เกิดหน่อ หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือนเริ่มเก็บเกี่ยวหน่อที่มีขนาดความยาวประมาณ 30 ซม. เพื่อนำไปปลูกขยายพันธุ์ต่อไป โดยวิธีการนี้ใช้ประยะเวลาตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยวหน่อรวม 14 เดือน
ประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากการผลิตหน่อพันธุ์สับปะรดในแปลงปลูกกลางแจ้งด้วยกรรมวิธีตัดช่อดอกอ่อน คือ ช่วยลดระยะเวลาการผลิตหน่อพันธุ์ จากเดิมตั้งแต่การปลูกจนเก็บหน่อหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วใช้ระเวลา 18-24 เดือน ได้จำนวนพันธุ์ 2-3 หน่อต่อต้น จะลดลงเหลือ 12-14 เดือน ได้จำนวนหน่อพันธุ์ถึง 6-7 หน่อต่อต้น ช่วยลดต้นทุนการผลิตต่อหน่อ เหมาะสำหรับพันธุ์สับปะรดที่มีความต้องการในตลาดสูงแต่หน่อพันธุ์มีไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยผู้ผลิตหรือเกษตรกรสามารถเพิ่มรายได้จากการผลิตหน่อพันธุ์เพื่อจำหน่าย
อย่างไรก็ดี จากสับปะรดพันธุ์เพชรบุรี 2 เป็นที่ต้องการของตลาดสูง โดยเป็นพันธุ์แนะนำที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร เหมาะสำหรับนำไปแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้จัดฝึกอบรม หลักสูตร เทคโนโลยีการจัดการสับปะรดพันธุ์เพชรบุรี 2 และการขยายพันธุ์อย่างง่าย เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2566 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี ต. สามพระยา อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี มีผู้เข้ารับการอบรมได้แก่ เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ บุคลากรในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าหน้าที่โรงงานแปรรูปสับปะรด รวมจำนวน 65 ราย
นอกจากนี้ได้จัดเสวนา เรื่อง ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสับปะรดเพื่อการแปรรูป และวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสับปะรด และการผลิตหน่อพันธุ์สับปะรดเพชรบุรี 2 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี ต. สามพระยา อ. ชะอำ จ. เพชรบุรีเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 มีผู้เข้าร่วมงาน 154 ราย ได้แก่ เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดจังหวัดระยอง ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ บุคลากรในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมชาวไร่สับปะรดไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และโรงงานแปรรูปสับปะรด
สำหรับในปีงบประมาณ 2567 มีแผนการสร้างเครือข่ายการผลิตหน่อพันธุ์สับปะรดเพชรบุรี 2 และขยายผลสู่เกษตรกร เพื่อสร้างเครือข่ายผลิตหน่อพันธุ์สับปะรดเพชรบุรี 2 ใน 2 กลุ่ม ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรดอนขุนห้วย จำกัด อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และกลุ่มเกษตรกรทำไร่สับปะรดแฟร์เทรด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อวางแผนการผลิตและส่งต่อหน่อพันธุ์ที่ผลิตได้ไปยังกลุ่มผลิตหน่อพันธุ์กลุ่มต่อ ๆ ไป
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี 60 ม.3 ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โทร 032-772852-3