เทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อัจฉริยะ ให้ผลผลิต-ผลตอบแทนต่อไร่สูง คืนทุนใน 1 ปี
เทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อัจฉริยะ
ให้ผลผลิต-ผลตอบแทนต่อไร่สูง คืนทุนใน 1 ปี
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชไร่เศรษฐกิจหลักของไทย ปลูกกันอย่างแพร่หลาย และกระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ของประทศ ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร การเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยในปีการเพาะปลูก 2564/2565 มีเนื้อที่เพาะลูก 6.824 ล้านไร่ มีผลผลิตรวม 4.847 ล้านตัน มีผลผลิตเฉลี่ย 728 กก.ต่อไร่(จากปีการเพาะปลูก 2563/2564 มีเนื้อที่เพาะปลูก 7.088 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 4.995 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ย 713 กก.ต่อไร่) ซึ่งผลผลิตถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ขณะที่ความต้องการของตลาดมีเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครสวรรค์ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดชัยนาท กรมวิชาการเกษตร จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อัจฉริยะ โดยใช้ระบบควบคุมการให้น้ำอัจฉริยะ ประกอบด้วยเซนเซอร์สมองกลฝังตัว IoTs และเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกับปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์วัน มาประยุกต์ใช้กับการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
ทั้งนี้ได้ดำเนินการทำแปลงเรียนรู้การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อัจริยะพื้นที่ 20 ไร่ ณ แปลงปลูก ต.ลำพยนต์ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ระหว่างวันที่ 15 ม.ค. 2565 ถึง วันที่ 20 พ.ค. 2565 โดยใช้เทคโนโลยีการให้น้ำตามความต้องการของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบอัตโนมัติผ่านชุดควบคุมการให้น้ำร่วมกับการใช้ชุดสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกับปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์วัน
ขณะเดียวกันยังมีระบบการให้น้ำผ่านทางสายน้ำหยด สามารถควบคุมการให้น้ำได้ทั้งในระบบแบบอัตโนมัติและควบคุมด้วยตัวเอง ผ่านการสั่งการโดยใช้ smart phone พร้อมทั้งบอกสถานะสภาพแวดล้อมของแปลง เช่น อุณหภูมิอากาศ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน ปริมาณความต้องการน้ำและระยะเวลาการให้น้ำ โดยจะแสดงผลไปที่ smart phone แบบเรียลไทม์
จากผลการจัดทำแปลงเรียนรู้ พบว่า การใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ ให้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1,917 กก.ต่อไร่ มากกว่าการผลิตตามวิธีเกษตรกร 16.18% สามารถใช้แรงงานคนในการดูแลแปลงเพียง 1 คน และช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องสูบน้ำได้ทั้งหมด แต่ในปีแรกจะมีต้นทุนในการผลิตที่สูง เนื่องจากมีค่าติดตั้งอุปกรณ์ระบบน้ำอัจฉริยะเพิ่มเข้ามา 131,400 บาทต่อพื้นที่ 20 ไร่ แต่เกษตรกรก็จะสามารถคืนทุนค่าลงทุนการติดตั้งอุปกรณ์ระบบน้ำอัจฉริยะได้ภายใน 1 ปี หรือใน 2 รอบการผลิต
จากการดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (field day) ณ แปลงเรียนรู้ข้างต้น ณ วันที่ 7 ก.ค. 2565 มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมงานจำนวน 100 ราย โดยเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะคิดเป็น 100% ซึ่งจะตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล และนโยบายเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น