สนจ. จัดงาน ปิยมหาราชานุสรณ์ 2566 'จุดพลังเพื่อโลกยั่งยืน'
สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ จัดงาน "ปิยมหาราชานุสรณ์ 2566" ระดมทุนให้นิสิตที่มีความประพฤติดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ภายใต้แนวคิดงาน "จุดพลังเพื่อโลกยั่งยืน" มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการพัฒนาที่ยั่งยืน
เนื่องในวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี ถือเป็น "วันปิยมหาราช" หรือวันคล้ายวันสวรรคตของ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) จึงได้จัดงาน "ปิยมหาราชานุสรณ์ 2566" ที่จัดขึ้นประจำทุกปี เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระองค์ท่าน และศิษย์เก่ารวมถึงและศิษย์ปัจจุบันได้น้อมแสดงความจงรักภักดีอย่างพร้อมเพรียงกัน
สำหรับความพิเศษในปีนี้ก็คือเป็นการจัดงาน "ปิยมหาราชานุสรณ์ 2566 : The Charity Gala Night" ภายใต้แนวคิด "จุดพลังเพื่อโลกยั่งยืน" ซึ่งเป็นรูปแบบ "คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์" หรือ ปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral Event)
โดย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ กล่าวว่า ในวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวจุฬาฯ ต่างน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความจงรักภักดีอย่างพร้อมเพรียงกัน
ทั้งนี้การจัดงานในปีนี้ มาในแนวคิด "จุดพลังเพื่อโลกยั่งยืน" ก็เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล ทรงวางรากฐานงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลากหลายมิติ เช่น การสาธารณูปโภคพื้นฐาน คมนาคม ไปจนถึงสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดตั้ง "กรมป่าไม้" เพื่อป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า สร้างความมั่นคงทางทรัพยากรให้กับประเทศชาติมาจนถึงปัจจุบัน
นายอรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานในรูปแบบคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ครั้งนี้ เป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ตั้งแต่ต้นทาง เช่น ลดการใช้ภาชนะจากพลาสติก ใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายหรือนำไปใช้ซ้ำได้ การจัดการขยะอาหารและขยะทั่วไปให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการ Reuse และ Recycle ให้ของเสียกลายเป็นศูนย์ เป็นต้น
จากการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจกรรมนี้ อยู่ที่ประมาณ 17 ตัน โดยจะชดเชยด้วย Carbon Credit ให้เป็นการจัดงานแบบ Carbon Neutral Event อย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้ สนจ. พร้อมสานต่อพระราชปณิธานความยั่งยืน ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางยึดโยงนิสิตเก่าทุกรุ่น ทุกสาขาอาชีพ รวมถึงนิสิตปัจจุบัน "ให้จุฬาฯ เป็นหนึ่งเดียว" ขับเคลื่อน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้โตอย่างยั่งยืนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยส่งเสริมทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ ควบคู่คุณธรรม
ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะประธานฝ่ายจัดหารายได้ คณะกรรมการดำเนินงานปิยมหาราชานุสรณ์ 2566 กล่าวว่า การจัดงานนี้เพื่อน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะทางด้านการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน และด้านสาธารณประโยชน์ที่ทรงวางรากฐานมาเมื่อประมาณ 170 ปีที่แล้ว
โดยมีการนำมาแสดงผ่านกิจกรรมเทิดพระเกียรติในหลายรูปแบบ อาทิ การจัด Exclusive Exhibition แสดงภาพถ่าย และเครื่องใช้หาชมยากในสมัยรัชกาลที่ 5 รวมถึงจัดฉายวีดิทัศน์เทิดพระเกียรติ เป็นต้น
นอกจากนี้ภายในงานยังมีละครเวทีเทิดพระเกียรติพระปิยมหาราช ชุด "Net Zero Hero พลังแห่งรัก พลังที่ยั่งยืน" ที่จะพาข้ามเวลาไปยังโลกอนาคตปี 2050 และการแสดงดนตรีจากวง CU Band ร่วมด้วยศิลปินนิสิตเก่าจุฬาฯ
สำหรับจุดเด่นของการจัดงาน "ปิยมหาราชานุสรณ์" ก็คือ การร่วมบริจาคสมทบ "ทุนจุฬาสงเคราะห์" และ "ทุนอาหารกลางวัน" เพื่อมอบให้นิสิตที่มีความประพฤติดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของ สนจ. ที่เป็นประโยชน์กับสังคมในภาพรวม และเป็นการสร้างรากฐานทางการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของนิสิตที่มีปัญหาด้านทุนทรัพย์ เนื่องจากสนจ. มองว่าเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศให้เกิดความยั่งยืน
โดยยอดสมทบทุนทั้งหมดที่ได้รับการบริจาคในวันงานอยู่ที่ 15,884,202 บาท (23 ตุลาคม 2566) และสำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจร่วมสมทบทุนสามารถบริจาคได้จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ผ่านการโอนเข้าบัญชี ธนาคารกสิกรไทย เลขที่ 073-3-51890-1 บัญชีชื่อ มูลนิธิสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี