SISTAM 2024 ร่วมมือพันธมิตรชั้นนำ ยกระดับความปลอดภัยขั้นสูงในอุตสาหกรรมของไทย
SISTAM 2024 ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในการยกระดับด้านความปลอดภัยและการบำรุงรักษาขั้นสูงในอุตสาหกรรมของประเทศไทย
SISTAM งานประชุมและแสดงสินค้าด้านความปลอดภัยอัจฉริยะในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีการบำรุงรักษาขั้นสูง กลับมาอีกครั้งในปี 2567 กับงาน SISTAM 2024 งานประชุมและแสดงสินค้าชั้นนำ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้นำและผู้เชี่ยวชาญในวงการ มุ่งเน้นด้านความปลอดภัยอัจฉริยะและโซลูชันการบำรุงรักษาขั้นสูงสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 27 กันยายน 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค
สำหรับงานดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง 3 องค์กร ได้แก่ บริษัท เอ็กซโปซิส จำกัด หรือ ExpoSis สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. และสมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย หรือ TIChE ผ่านการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการส่งเสริมบทบาทของ SISTAM ในฐานะแพลตฟอร์มอุตสาหกรรมที่โดดเด่นสำหรับการเป็นผู้นำทางความคิด โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งครั้งนี้เป็นความร่วมมือครั้งที่สองระหว่างพันธมิตรสามองค์กร แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นทุ่มเทอีกครั้งเพื่อยกระดับระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะและการบำรุงรักษาขั้นสูงในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย
ผู้เข้าร่วมในพิธีลงนาม ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย นุชรินทร์ ภารดีวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซโปซิส จำกัด, สุรเชษฐ์ ชโลธร นายกสมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย และ ดร.สุพจน์ ชินวีระพันธุ์ กรรมการและผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น)
นุชรินทร์ ภารดีวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็กซโปซิส จำกัด ในฐานะผู้จัดงาน SISTAM ได้แสดงความยินดีและขอบคุณสำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ โดยกล่าวว่า ด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความท้าทายและโอกาสในภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความปลอดภัย การบำรุงรักษา นวัตกรรมและความยั่งยืน ความร่วมมือของเราและผู้ร่วมจัดงาน ได้แก่ ส.ส.ท. และ TIChE จึงเป็นสิ่งสำคัญ เรามุ่งมั่นที่จะทำให้ SISTAM 2024 มีความเกี่ยวเนื่องและสร้างประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมในประเทศไทย และมีส่วนร่วมในการปรับปรุงระบบความปลอดภัยอัจฉริยะและเทคโนโลยีการบำรุงรักษาขั้นสูงให้ดีขึ้น
นุชรินทร์ เน้นย้ำถึงการทำงานร่วมกันภายใต้บริบทนโยบายระดับชาติ "ประเทศไทย 4.0" ซึ่งมีเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การผลิตที่มีคุณค่าสูง และความยั่งยืน โดยกล่าวเสริมว่า การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นและพัฒนาภูมิทัศน์อุตสาหกรรมไทยให้มีความชาญฉลาด มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถแข่งขันได้ ผ่านการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยและการบำรุงรักษา พร้อมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้
สุรเชษฐ์ ชโลธร นายกสมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทที่สำคัญของระบบความปลอดภัยอัจฉริยะในภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีการบำรุงรักษาขั้นสูงในอุตสาหกรรมเคมี โดยเน้นย้ำว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบอัตโนมัติ และเทคนิคการบำรุงรักษาขั้นสูงมาใช้มีความจำเป็นต่อการรับรองความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ รวมไปถึงการใช้ Predictive Maintenance การใช้ IoT หรือการเชื่อมโยงอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอินเทอร์เน็ตสำหรับการตรวจสอบแบบเรียลไทม์ และการใช้ระบบการจัดการความปลอดภัยขั้นสูงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุและการหยุดชะงักของการทำงาน
"อุตสาหกรรมนี้ เป็นส่วนสำคัญต่อ GDP ของไทย ได้พัฒนาผ่านขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การทดแทน การนำเข้า ไปจนถึงการเติบโตที่มุ่งเน้นการส่งออก และขณะนี้กำลังมุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการแข่งขัน การรวมสินทรัพย์ และการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ นับเป็นช่วงเวลาเหมาะสมสำหรับ SISTAM 2024 ในการตอบสนองความต้องการและความท้าทายที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังเผชิญอยู่"
สมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพจัดงานประชุม Thailand International Chemical Engineering and Chemical Technology หรือ TNChE งานประชุมที่อุทิศให้กับอุตสาหกรรมเคมีของประเทศไทย มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 21 มิถุนายน ณ โรงแรมดุสิตธานี พัทยา โดยงานประชุมดังกล่าวให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีความก้าวหน้า การวิจัย และนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเคมีของประเทศ พร้อมทำหน้าที่เป็นเวทีสำคัญในการแบ่งปันความรู้ ส่งเสริมความร่วมมือ และพูดคุยเกี่ยวกับอนาคตของอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมี
สุรเชษฐ์ ยังได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ของ SISTAM ต่ออนาคตของอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีในประเทศไทย โดยกล่าวว่า SISTAM ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มอุตสาหกรรมที่สำคัญซึ่งสอดคล้องกับทิศทางในอนาคตของภาคส่วนนี้เป็นอย่างมาก ระบบการจัดการความปลอดภัยขั้นสูง และ Predictive Maintenance เป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรมเคมี เทคโนโลยีอัจฉริยะจะช่วยทำให้การปฏิบัติตามกฎระเบียบเป็นไปได้ดียิ่งขึ้นผ่านการรวบรวมข้อมูล การรายงาน และการวิเคราะห์ที่แม่นยำ
ดร.สุพจน์ ชินวีระพันธุ์ กรรมการและผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) กล่าวว่า การมีส่วนร่วมใน SISTAM ของเราสอดคล้องกับพันธกิจในการยกระดับความร่วมมือทางอุตสาหกรรมทั่วไทยและญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายที่จะบูรณาการโซลูชันชั้นนำและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในด้านความปลอดภัยและการบำรุงรักษา เพื่อการเติบโตและก้าวหน้าของบุคลากรและอุตสาหกรรมในประเทศไทย เราตั้งใจที่จะเสริมสร้างความเป็นเลิศในการดำเนินงานและความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจของสมาชิกผ่าน SISTAM เครือข่ายที่กว้างขวางของเรา ประกอบด้วยผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นในไทย และสมาชิกผู้ประกอบการไทยที่มีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการประชุมนี้เป็นเวทีที่สำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันเทคโนโลยีใหม่ๆ
ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสานต่อความสำเร็จจากการจัดงานในปีที่แล้ว งาน SISTAM 2024 ในครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมงานได้มากกว่า 5,000 คน เข้าร่วมประชุมและงานแสดงนิทรรศการที่จัดขึ้นตลอดระยะเวลา 2 วัน โดยมีผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี น้ำมันและก๊าซ อาหารและเครื่องดื่ม และอื่นๆ อีกมากมาย เข้าร่วมจัดแสดง
SISTAM 2024 ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและสมาคมอุตสาหกรรมต่างๆ อีกมากมาย ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park Thailand) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สถาบันไทย-เยอรมัน วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และสมาคมวิศวกรรมความปลอดภัยแห่งประเทศไทย
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน SISTAM 2024 สามารถดูได้ที่ เว็บไซต์