มาตรฐานทางเท้าใหม่ สะดวก ปลอดภัย ใส่ใจคนกรุงเทพฯ
มาตรฐานทางเท้าใหม่ สะดวก ปลอดภัย ใส่ใจคนกรุงเทพฯ
กรุงเทพฯ เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีกิจกรรมหลากหลาย คับคั่งไปด้วยผู้คน แม้จะมีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะครอบคลุมในหลายพื้นที่ของเมือง แต่ก็มีปัญหาการจราจรติดขัดจากการใช้พาหนะส่วนบุคคล
การเดินเท้าจึงเป็นหนึ่งทางเลือก โดยทางเท้าที่ดีควรเข้าถึงสาธารณูปโภค - สาธารณูปการต่าง ๆ ภายในเมือง รวมถึงร้านค้ารายทาง ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ มีไฟส่องสว่างที่สร้างความปลอดภัย หรือมีต้นไม้คอยให้ร่มเงาตลอดเส้นทางเดิน ที่สำคัญทางเท้าต้องมีลักษณะทางกายภาพที่ดี
การผลักดันมาตรฐานทางเท้าใหม่ (GEN 4)
กรุงเทพมหานครนำมาตรฐานทางเท้าใหม่ (GEN 4) มาใช้ในการปรับปรุง หลังจากที่มีทางเท้ามาแล้ว 3 GEN ดังนี้
1. ทางเท้า GEN แรก ทางเท้าที่ปูด้วยอิฐตัวหนอน
2. ทางเท้า GEN 2 ทางเท้าที่ปูด้วยกระเบื้องแบบหนาเป็นพิเศษ
3. ทางเท้า GEN 3 ทางเท้าที่ปูด้วยกระเบื้องแผ่นใหญ่แบบบางที่พบได้ในปัจจุบัน (ฐานรากของทางเท้าเป็นปูนหนา 5 เซนติเมตร)
4. ทางเท้า GEN 4 ทางเท้าที่ปูด้วยกระเบื้องหรือแอสฟัลต์ (Asphalt) (ฐานรากจะต้องเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหนา 10 เซนติเมตร) ที่สามารถเพิ่มความแข็งแรงของทางเท้าได้ ซึ่งต่อไปนี้จะเห็นทางเท้า GEN 4 มากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ
ข้อดีข้อเสียของทางเท้า Asphalt
การใช้ Asphalt ในการปูทางเท้ามีข้อดีคือ ใช้งบประมาณและระยะเวลาก่อสร้างที่น้อยกว่าการใช้กระเบื้อง เมื่อต้องซ่อมแซมสามารถทำได้ง่ายรวดเร็ว ช่วงที่ซ่อมแซมใหม่ ๆ อาจจะมีความแตกต่างของสีบ้างแต่จะดูกลมกลืนขึ้นเมื่อระยะเวลาผ่านไป ข้อดีที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ปัญหาน้ำขัง น้ำกระเด็นช่วงหน้าฝนจะไม่พบแน่นอน แต่ข้อเสียที่ควรระวัง คือ ความสวยงาม และ กทม. จะต้องเก็บข้อมูลปัญหาจากการปู Asphalt ต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขและพัฒนาทางเท้าให้ถูกใจประชาชนคนกรุงฯ ต่อไป
ทั้งนี้ ทางเท้าที่ปูด้วย Asphalt ทดแทนกระเบื้องแบบเดิม ปัจจุบันมีการใช้บนถนน 2 สาย คือ ถนนพุทธบูชาและถนนคุ้มเกล้าทั้งสองฝั่ง ซึ่งในอนาคตทางเท้าแบบนี้จะขยายสู่พื้นที่นอกเมืองที่คนใช้สัญจรน้อย โดยเส้นทางที่อยู่ในแผนการดำเนินการ คือ 1. ถนนทางรถไฟสายเก่า (ปากน้ำ) 2. ถนนพุทธมณฑลสาย 1 และ 3. ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9
ปัจจุบันทางเท้าของ กทม. ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงทั้งเส้นทางประกอบด้วย 16 เส้นทาง เช่น ถนน ราชดำริ ถนนเพลินจิต อุดมสุข เป็นต้น และอยู่ในแผนเตรียมการพัฒนาอีกกว่า 30 เส้นทาง ที่สำคัญการปรับปรุงทางเท้ายังคำนึงถึงความสวยงามควบคู่ไปกับประโยชน์ใช้สอย เช่น ถนนเพลินจิตและราชดำริ เนื่องจากอยู่บริเวณกลางเมือง ฝาท่อระบายน้ำที่ใช้จะเป็นฝาท่อที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของย่าน เป็นการนำศิลปะมาใช้ตกแต่งฝาท่อ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาให้กลายเป็น 1 ในสัญลักษณ์ของเมือง หรือจะเป็นรางระบายน้ำท่วมขังบนถนนที่เปลี่ยนจากรูปแบบที่เป็นช่องระบายน้ำแนวตั้งติดกับทางเท้า มาเป็นรางระบายน้ำแนวนอนตลอดแนวถนน และเนื่องจากทางเท้าเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่หลายหน่วยงานสาธารณูปโภคได้ขอขุดเจาะ เพื่อปรับปรุงระบบ หรือซ่อมแซมเป็นครั้งคราว ในส่วนนี้กรุงเทพมหานครได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกแบบกระบวนการทำงานร่วมกันเพื่อให้ทางเท้ามีการขุดซ้ำซากน้อยที่สุด โดยให้ทุกหน่วยงานขุดร่วมกันในคราวเดียว พร้อมกำชับผู้รับจ้างทั้งของหน่วยงานกรุงเทพมหานครและหน่วยงานภายนอกให้ระมัดระวังความปลอดภัย และประชาสัมพันธ์แก่ผู้สัญจร หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อลดผลกระทบแก่ประชาชนให้น้อยที่สุด