โรงเรียนบ้านหินดาด นครราชสีมา เรียนรู้ 'Coding' ต่อยอดใช้ในชีวิตประจำวัน

โรงเรียนบ้านหินดาด นครราชสีมา เรียนรู้ 'Coding' ต่อยอดใช้ในชีวิตประจำวัน

"โรงเรียนบ้านหินดาด" นครราชสีมา ได้นำ "Coding" มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ผ่านภายใต้โครงการ Coding Robotics Kids เพื่อส่งเสริมโอกาสและยกระดับการเรียนรู้ของเด็ก-เยาวชน

ถึงแม้ว่าวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนบ้านหินดาด ตำบลหินดาด อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา จะพึ่งพิงอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ และเด็กๆ ในพื้นที่อยู่ในบริบทของสิ่งแวดล้อมการเติบโตตามอัตลักษณ์ของชุมชน แต่ด้วยยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนมากขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่สนับสนุนให้สถานศึกษาพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เป็นการส่งเสริมโอกาสและยกระดับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน

โรงเรียนบ้านหินดาด ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดกลาง เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวนนักเรียน 294 คน เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนในโครงการมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ที่นำกระบวนการ Coding และ Robotics มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ภายใต้โครงการ "Coding Robotics Kids"

อีกทั้งกำหนดให้ Coding อยู่ในแผนการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น โดยตั้งเป้าให้นักเรียนได้มีทักษะการเขียนโปรแกรมควบคุมบอร์ดสมองกล สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการศึกษาต่อ และใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีวิทยากรมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สนับสนุนการอบรมครูผู้สอน และมีผู้นำทางการศึกษารุ่นใหม่ จาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ที่ชวนทีม Robot ของซีพีเอฟ และวิทยากรจากภายนอกมาร่วมสอนน้องๆ นักเรียน ฝึกให้มีทักษะการวางแผน คิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบด้วยกระบวนการ Coding Robotics

โรงเรียนบ้านหินดาด นครราชสีมา เรียนรู้ \'Coding\' ต่อยอดใช้ในชีวิตประจำวัน

 

ผอ.สหพันธ์ เปาจันทึก ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหินดาด กล่าวว่า แม้ทางโรงเรียนจะได้รับการสนับสนุนแท็บเล็ตจาก สพฐ. แต่วัสดุอุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอน Coding ก็ยังไม่เพียงพอ จึงนำเรื่องนี้ปรึกษากับทีมผู้นำทางการศึกษารุ่นใหม่ของ ซีพีเอฟ ภายใต้โครงการคอนเน็กซ์อีดี และเสนอโครงการ Coding Robotics Kids และได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก CPF เพื่อจัดซื้อชุดการเรียนการสอน Coding ด้วยโปรแกรม Micro:bit นำมาต่อยอดการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ อาทิ ป.3-ป.4 ให้เรียน Coding อย่างง่าย เช่น การต่อบล็อกควบคุมหุ่นยนต์ ชั้น ป.5 เริ่มเรียนโปรแกรม Coding Micro:bit ต่อบล็อกโคด การทำงาน-ควบคุม-รับค่า Sensor เปิดปิดไฟหรือวัดอุณหภูมิ ด้วย Coding ชั้น ป.6 เรียนรู้การเขียน Coding การควบคุมหุ่นยนต์รถวิ่ง

"Coding สอนให้เด็กๆ คิดวิเคราะห์ ฝึกทักษะคิดแก้ปัญหาเป็นกระบวนการ นำความรู้มาประยุกต์ใช้กับวิชาอื่นๆ ได้ ที่ผ่านมา จัดการสอนไปแล้ว 1 รุ่น มีนักเรียนประมาณ 40 คน ที่สามารถเขียน Coding อย่างง่ายได้ ภาคเรียนนี้จะสอนอีก 1 รุ่น ประมาณ 40-50 คน ให้นักเรียนในชุมนุมการเขียนโปรแกรมด้วย Micro:bit Coding เป็นพี่เลี้ยงส่งต่อความรู้ให้น้องๆ คาดหวังว่าในระยะต่อไป จะต่อยอดกระบวนการคิดจากบทเรียน สู่การทำสมาร์ทฟาร์มง่ายๆ" ผอ.สหพันธ์ กล่าว

ด.ญ. กัญญาพัชร แก้วขวาน้อย นักเรียนชั้น ป.6 กล่าวว่า รู้สึกสนุกกับการเรียน Coding ได้ทำกิจกรรมเรียนรู้หลายอย่าง ที่สามารถนำความรู้ไปต่อยอด เช่น การทำโมเดลฟาร์มอัจฉริยะ ขอขอบคุณพี่ๆ ซีพีเอฟ ที่มอบโอกาส และสนับสนุนการเรียนรู้ดีๆ

ด.ญ. ปิ่นมาลา จินดามาตย์ กล่าวว่า นอกจากความรู้จากการเรียน Coding ยังสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการเรียนรู้วิชาอื่นได้ ดีใจมากที่มีพี่ๆ ซีพีเอฟเข้ามาสนับสนุนโครงการดีๆ อย่างนี้ ให้กับโรงเรียนของเรา

ด.ช. อภิณัฐ ตันกระโทก นักเรียนชั้น ม.1 กล่าวว่า Coding ทั้งสนุกและให้ความรู้ ที่นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ และยังได้ประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปช่วยชุมชนต่อไป

"CPF" เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 สร้างเด็กดีมีคุณธรรม โดยล่าสุด ปีการศึกษา 2567 ซีพีเอฟสนับสนุนการดำเนินโครงการด้านวิชาการ และฝึกทักษะด้านวิชาชีพ 74 โรงเรียน ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสระบุรี ควบคู่กับเดินหน้าสร้างผู้นำทางการศึกษารุ่นใหม่ (SP) ซึ่งปัจจุบันมี SP ของซีพีเอฟรวม 93 คน ทำหน้าที่เป็นคู่คิด ร่วมทำงานกับผู้บริหารสถานศึกษาและคณะครู สู่เป้าหมายยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของไทยและลดความเหลื่อมล้ำ 

โรงเรียนบ้านหินดาด นครราชสีมา เรียนรู้ \'Coding\' ต่อยอดใช้ในชีวิตประจำวัน