EXIM BANK ปรับตัวสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ หนุน SMEs ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK ปรับตัวสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ หนุน SMEs ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต และดันไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0%
รัฐบาลไทยได้มีการลงนามในสัตยาบันต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) โดยได้ให้คำมั่นว่าจะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลง 20-25% ภายในปี 2573 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net-zero Emissions) ภายในปี 2608 ซึ่งเป็นไปตามการรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ภาครัฐได้เริ่มยกเครื่องกลไกที่เกี่ยวของกับการแก้ไขปัญหาวิกฤติสภาพภูมิอากาศ อาทิ เปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มีพันธกิจในการบรรลุเป้าหมายชาติสู่ สังคมคาร์บอนต่ำ มีบทบาทในการขับเคลื่อนภารกิจตามยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐ เพิ่มประสิทธิภาพเข้าถึงการเงิน เทคโนโลยี โดยมุ่งเน้นการปรับตัวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับทุกภาคส่วนและทุกระดับ
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นกลไกทางนิติบัญญัติในการขับเคลื่อนพันธกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อีกทั้งกำลังศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) สำหรับผู้ที่ปล่อยคาร์บอนสูงและไม่มีแนวทางที่จะดูดซับคาร์บอนหรือไม่มีเครดิตคาร์บอนเพียงพอที่จะทดแทนก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในบทบาทของ Green Development Bank ได้พยายามสร้างระบบนิเวศครบวงจร (Ecosystem) ให้ผู้ประกอบการปรับตัวรับมาตรการเข้มงวดทางด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพื่อ ลดโลกร้อน และสนับสนุนให้ปรับกระบวนการทำงานทั้งด้านการผลิต การตลาด ให้เป็นไปตามกรอบความพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งการสนับสนุนทางด้านการเงินและให้ความรู้และผลักดันให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปหักลบกับมลพิษที่ปล่อย ทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน ควบคู่กับการสานพลังกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนำไปสู่การ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขององค์กรและประเทศไทยได้ตามเป้าหมาย
EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินแห่งแรกของไทยที่ได้รับอนุมัติโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) แบบแผนงาน (Programme of Activites: PoA) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. รองรับการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หลายโครงการ จำนวน 60,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี หรือประมาณ 80 เมกะวัตต์ ระยะเวลาโครงการทั้งสิ้น 14 ปี ซึ่ง EXIM BANK ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs หรือโครงการขนาดเล็กที่ไม่มีความคุ้มค่าในการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต สามารถขอขึ้นทะเบียนเพื่อรับผลประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตเพิ่มเติม โดย EXIM BANK เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียน และส่วนแบ่งที่ EXIM BANK ได้รับเป็นคาร์บอนเครดิตจากโครงการนี้จะนำไปชดเชยกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของ EXIM BANK เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
"เรามีความเป็นห่วงผู้ประกอบการ SMEs ที่จะปรับตัวได้ช้า เนื่องจากขาดความพร้อมทั้งบุคลากรและเงินทุน ปัญหาในขณะนี้คือ ก่อนจะปรับตัวจะต้องรู้ก่อนว่าธุรกิจของตัวเองมีคาร์บอนฟุตพรินต์คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมทั้งหมดเท่าไร EXIM BANK มีแผนจะร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดโครงการให้ความรู้และคำแนะนำในการประเมินการปล่อยคาร์บอนให้แก่ SMEs โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจจะช่วยให้เอกชนรู้ว่า จะปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างไรให้ไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ"
นอกจากจะสร้างระบบนิเวศไปสู่ สังคมคาร์บอนต่ำ ให้กับผู้ประกอบการแล้ว EXIM BANK ได้รับการรับรองรายงานคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization : CFO) จาก อบก. แสดงถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรและเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 เพื่อร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว ยกระดับการเติบโตของภาคธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและประชาคมโลกในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ดร.รักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK ตั้งเป้าหมายสู่ Carbon Neutrality ในปี 2573 และ Net Zero Emissions ในปี 2593 เร็วกว่าเป้าหมายประเทศไทย 20 ปีและ 15 ปี ตามลำดับ โดยปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร ควบคู่กับการเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนให้เป็น 50% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดภายในปี 2571 ซึ่งเป็นพันธกิจของธนาคารฯ มีเป้าหมายชัดเจนที่จะผลักดันให้เกิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance: ESG) ทำให้ธุรกิจของผู้ประกอบการไทยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
"กิจกรรมที่เกิดขึ้นในธนาคารฯ จะดำเนินการปล่อยคาร์บอน 0% โดยตัวอย่างที่เราดำเนินการแล้วคือการจัดงานครบรอบ 30 ปี EXIM BANK ในช่วงงานเสวนา Thailand’s Green Future ณ อาคารเอ็กซิม รวมค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ของงาน เพื่อขอการรับรองการจัดงาน เท่ากับ 16 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าและได้รับการสนับสนุน Carbon Credit เพื่อชดเชยปริมาณ Carbon Footprint ที่เกิดจากการจัดงาน จำนวน 16 ตัน จากบริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจด้านความยั่งยืน หรือในการออกบูทในงานมหกรรมการเงิน (Money Expo 2024) ด้วยการใช้โครงสร้างที่เป็นวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด นำกลับมาใช้ใหม่ได้ หากใช้วัสดุปกติจะสร้างคาร์บอนจำนวน 50 ตันคาร์บอน แต่เมื่อใช้วัสดุรักษ์โลกทำให้ปล่อยคาร์บอนแค่ 18 ตันคาร์บอนซึ่งธนาคารซื้อคาร์บอนเครดิตจาก อบก. เพื่อชดเชย ทำให้กิจกรรมนี้ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย"
คาร์บอนเครดิต เป็นสิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการที่บุคคลหรือองค์กรได้ดำเนินโครงการหรือมาตรการที่มีเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้สามารถวัดปริมาณและสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ หากจะให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ก๊าซต่างๆ ที่ทำให้ปฏิกิริยาเรือนกระจก (จำนวนคาร์บอน) ที่แต่ละองค์กรสามารถลดได้ต่อปี และหากปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเกณฑ์จะถูกตีราคาเป็นเงิน ก่อนจะถูกขายเป็นเครดิตให้กับองค์กรอื่นได้
นอกจากการสนับสนุนทางการเงินเพื่อส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยผู้ประกอบการไทยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตแล้ว ที่ผ่านมา EXIM BANK ยังมีส่วนริเริ่มและผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน โดยการเข้าเป็นสมาชิกก่อตั้งและกรรมการในองค์กรต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์การจัดตั้งเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและการลงทุนในธุรกิจสีเขียว อาทิ Thailand Carbon Neutral Network, Carbon Market Club และ RE100 Thailand Club ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาจัดตั้งตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตของไทยเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจไทยบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ด้วย
"EXIM BANK พร้อมเติมเงินทุนให้ผู้ประกอบการที่มีโครงการหรือทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น สินเชื่อ EXIM Green Start สินเชื่อ EXIM Solar D-Carbon Financing สินเชื่อเพื่อสนับสนุนเงินลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ได้แก่ Solar Rooftop Solar Farm และ Solar Floating สำหรับใช้ภายในกิจการ พร้อมได้สิทธิในการขึ้นทะเบียนคาร์บอนและรับรองคาร์บอนเครดิตในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (T-VER) ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ธนาคารฯ จัดทำขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัว จัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก วัดปริมาณและรายงานผลการปลดปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น" ดร.รักษ์ กล่าวทิ้งท้าย