Stroke ไม่ใช่เรื่องไกลตัว! แชร์ประสบการณ์ตรงจาก 'จูดี้' ในวันที่แม่ป่วย
รู้จักและเข้าใจ "โรคหลอดเลือดสมอง" หรือ "Stroke" พร้อมแชร์ประสบการณ์ตรงจาก "จูดี้" ยูทูบเบอร์ชื่อดังจากช่อง Cullen HateBerry ที่มี "แม่" ป่วยเป็นโรคนี้ สู่บทเรียนสุขภาพในการดูแลตัวเองที่อยากเตือนให้ทุกคนไม่ประมาทกับชีวิต
หลายคนอาจคิดว่า โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เป็นเรื่องของการอุดตันของหลอดเลือดในสมองเท่านั้น แต่ความจริง "สโตรก" เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดหรือมีเลือดออกในสมอง ทำให้เซลล์สมองขาดออกซิเจน ส่งผลให้เซลล์สมองตาย และเป็นภาวะที่ซับซ้อนกว่านั้น เพราะไม่เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยและคนในครอบครัวอีกด้วย
จูดี้ จารุกิตติ์ ยูทูบเบอร์ชื่อดังจากช่อง Cullen HateBerry แบ่งปันประสบการณ์ของคุณแม่หลังประสบกับ "โรคหลอดเลือดสมอง" ผ่านงานฉลองครบรอบ 42 ปี "พิษณุเวช Happy Healthy 2024" ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พิษณุโลก
จูดี้ เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2566 ที่ผ่านมาว่า แม่มีอาการที่คาดว่าเป็น โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke ทำให้เจ้าตัวมีอาการกังวล จึงเข้ารักษาที่ โรงพยาบาลพิษณุเวช โดยมี พญ.สิริขวัญ ปัญญาศรีวณิช ผู้ช่วยรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล ในฐานะแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และ พญ.อาภากร เมืองแดง อายุรแพทย์ระบบประสาท พร้อมบุคลากรการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้คุณแม่ได้รับการติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการตรวจวินิจฉัย การให้ยา และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ส่งผลให้อาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"แตก ตีบ ตัน ขาด" เข้าใจสาเหตุโรค Stroke
พญ.สิริขวัญ ปัญญาศรีวณิช ผู้ช่วยรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล ในฐานะแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู กล่าวว่า สาเหตุหลักของ โรคหลอดเลือดสมอง มี 3 ประเภทคือ 1. หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะในรายที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ฯลฯ 2. หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) 3. ภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ (Transient Ischemic Attack) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นในช่วงรอบระยะเวลา 24 ชั่วโมงเกิดจากสมองมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอชั่วคราว ส่วนใหญ่มักจะมีอาการราว 5 ถึง 15 นาทีแล้วอาการก็ดีขึ้นได้เอง
เข้าใจหลัก "BEFAST" ประเมินสัญญาณเตือน Stroke
พญ.สิริขวัญ กล่าวแนะนำถึงสัญญาณเตือน โรคหลอดเลือดสมอง เพื่อสามารถระบุอาการและรักษาให้ทันเวลา โดยสามารถใช้หลัก "BEFAST" ประกอบด้วย
- B - Balance : การสูญเสียการทรงตัวอย่างฉับพลัน หากรู้สึกว่าการเดินหรือการทรงตัวผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณแรกของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- E - Eyes : การมองเห็นภาพเบลอ ภาพซ้อน หรือการสูญเสียการมองเห็นในทันที เป็นสัญญาณที่ควรให้ความสำคัญ เพราะการเปลี่ยนแปลงในการมองเห็นอาจเกิดจากการที่สมองไม่ได้รับเลือดเพียงพอ
- F - Face : ใบหน้าอ่อนแรง ชา หรือปากเบี้ยว หากสังเกตเห็นว่าหนึ่งข้างของใบหน้ามีลักษณะอ่อนแรงหรือเบี้ยวผิดปกติ นี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของโรคหลอดเลือดสมอง
- A - Arm : แขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก หากยกแขนทั้งสองข้างขึ้นแล้วพบว่าข้างหนึ่งอ่อนแรงหรือชามากกว่าปกติ นี่เป็นสัญญาณที่ต้องรีบไปพบแพทย์
- S - Speech : การพูดลำบาก พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ หรือพูดไม่เข้าใจ หากคุณหรือคนรอบข้างมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะการเปลี่ยนแปลงในการพูดอาจเกิดจากสมองที่ได้รับความเสียหาย
- T - Time : ความสำคัญของเวลาในการรับการรักษา หากพบสัญญาณเหล่านี้ ควรรีบไปโรงพยาบาลหรือเรียกรถพยาบาล (โทร. 1669) ทันที การเข้ารับการรักษาภายใน 4.5 ชั่วโมงแรก สามารถให้ยาสลายลิ่มเลือดได้ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง หากมาถึงโรงพยาบาลเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ในบางกรณีแพทย์สามารถทำการลากลิ่มเลือดในสมองออก (Mechanical Thrombectomy) ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ ดังนั้นการมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุดจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและสำคัญมากในการรักษา
"การรู้และเข้าใจสัญญาณเตือนเหล่านี้สามารถช่วยชีวิตและลดผลกระทบจากโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างมาก การได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่เพียงแค่ช่วยลดความเสียหายที่เกิดกับสมอง แต่ยังช่วยให้การฟื้นตัวของผู้ป่วยเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ กับอีกสิ่งหนึ่งคือ การตรวจสุขภาพประจำปี หากพบว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงหรือมีโรคประจำตัวโดยเฉพาะในโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคความดัน แนะนำให้ตรวจหาข้อบ่งชี้ของโรค โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echo) หรือจะตรวจอัลตราซาวนด์หลอดเลือดบริเวณลำคอ (Carotid Duplex Ultrasounds) หรือตรวจอื่นๆ ตามคำแนะนำของแพทย์" พญ.สิริขวัญ กล่าว
จากบทเรียนสุขภาพ สู่การดูแลตัวเองในวัย 30
จูดี้ กล่าวว่า หลังจากผ่านเหตุการณ์ที่แม่เข้าโรงพยาบาล ทำให้ตนซึ่งอายุเข้า 35 ปี เริ่มหันมาดูแลตัวเองเพื่อหาข้อบ่งชี้ของโรคต่างๆ การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งที่จำเป็น และควรทำเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหรือโรคทางพันธุกรรม ซึ่งการตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นสามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาและฟื้นฟูได้มากขึ้น
"วัยรุ่นยุคใหม่ที่ใช้ชีวิตสนุกสุดเหวี่ยง ซึ่งการใช้ชีวิตแบบไม่ระมัดระวัง อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงในอนาคต การเริ่มต้นดูแลสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อยจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ยืนยาวขึ้น จึงอยากแนะนำให้ทุกคนหันมาใส่ใจและดูแลสุขภาพของตนเองอย่างจริงจัง" จูดี้ ฝากทิ้งท้าย
สำหรับศูนย์สุขภาพและอาชีวเวชศาสตร์ โรงพยาบาลพิษณุเวช เปิดทำการเวลา 07.00 - 17.00 น. ติดต่อ โรงพยาบาลพิษณุเวช โทร. 055-90-9000 ต่อ 520801, 520802 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ โรงพยาบาลพิษณุเวช หรือเว็บไซต์ พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์