เปิดคำศัพท์ที่ควรรู้ เกี่ยวกับ 'ก๊าซธรรมชาติ'
เปิดศัพท์วุ่นๆ ในวงการปิโตรเลียม พร้อมไขข้อสงสัย ทำไมก๊าซที่เราใช้หรือเห็นกันในชีวิตประจำวัน มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันทั้งๆ ที่ออกมาจากแหล่งผลิตเดียวกัน หาคำตอบได้จากบทความนี้
"ก๊าซธรรมชาติ" มีนิยามศัพท์ที่เกี่ยวข้องมากมาย โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas หรือ NG) คือ ปิโตรเลียมที่พบตามธรรมชาติ ที่อยู่ในสถานะก๊าซ มีส่วนผสมหลักคือ ก๊าซไฮโดรคาร์บอน (มีองค์ประกอบของคาร์บอน (C) และไฮโดรเจน (H)) และมีสิ่งเจือปนเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะสงสัยว่าก๊าซที่เราใช้หรือเห็นกันในชีวิตประจำวัน ทำไมมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปทั้งๆ ที่ออกมาจากแหล่งผลิตเดียวกัน วันนี้ "กรุงเทพธุรกิจ" จึงได้รวบรวมคำศัพท์มาอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น
เริ่มที่ LPG (Liquefied Petroleum Gas) "ก๊าซแอลพีจี" หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อ "ก๊าซหุงต้ม" เป็นปิโตรเลียมเหลว ที่ประกอบด้วยก๊าซโพรเพนและก๊าซบิวเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่ได้มาจากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หรือจากการกลั่นน้ำมันดิบจากโรงกลั่นน้ำมัน แล้วถูกทำให้เป็นของเหลว ใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน รถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรม
ขณะที่ LNG (Liquefied Natural Gas) หรือ "ก๊าซธรรมชาติเหลว" ถือเป็นก๊าซธรรมชาติที่ถูกทำให้อยู่ในรูปของเหลวโดยแปรสภาพ "ก๊าซมีเทน" ด้วยการลดอุณหภูมิลงมาที่ -160 องศาเซลเซียส และทำให้มีปริมาตรลดลงประมาณ 600 เท่า เพื่อประโยชน์ในการขนส่งไปใช้ในที่ไกลจากแหล่งผลิต
ส่วน NGV (Natural Gas for Vehicle) หรือ "ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์" และ CNG (Compressed Natural Gas) หรือ "ก๊าซธรรมชาติอัด" เป็นการนำเอาก๊าซธรรมชาติที่มีองค์ประกอบหลักคือ ก๊าซมีเทน มาเพิ่มความดันประมาณ 200 บาร์ ก่อนเติมลงถังก๊าซเพื่อให้บรรจุได้ปริมาณมากสำหรับนำไปใช้ในรถยนต์
ก๊าซธรรมชาติรูปแบบสุดท้ายที่จะแนะนำในวันนี้ คือ NGL (Natural Gas Liquid) หรือ "ก๊าซโซลีนธรรมชาติ" ถือเป็นส่วนผสมของไฮโดรคาร์บอนที่อยู่ในรูปของเหลว โดยมีองค์ประกอบตั้งแต่เพนเทนเป็นต้นไป สามารถนำมากลั่นเป็นน้ำมันเบนซินและใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้
ในส่วนของการวัด ก๊าซธรรมชาติ ในรูปแบบต่างๆ เราสื่อสารโดยใช้ "หน่วยวัดก๊าซธรรมชาติ" เป็นเครื่องมือ โดยสามารถวัดได้ทั้งเป็นปริมาตรและค่าความร้อน ซึ่งการวัดค่าความร้อนเป็นการบอกปริมาณพลังงานความร้อนที่ได้รับจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ก๊าซที่มีค่าความร้อนมาก จัดเป็นก๊าซที่มีประสิทธิภาพในการเป็นเชื้อเพลิงสูง
สำหรับหน่วยวัดค่าความร้อน มีหน่วยที่นิยมใช้อย่างสากล เช่น kcal (kilo calories) = กิโลแคลอรี, kBtu (kilo British thermal unit) = กิโลบีทียู, MJ (Megajoule) = เมกะจูล และ MMBtu (Million British thermal unit) = ล้านบีทียู
ในขณะที่หน่วยวัดปริมาตร มีสำหรับการวัดแบบปริมาตรคงที่และแบบปริมาตรต่อช่วงเวลา เช่น scf (Standard cubic feet) = ลูกบาศก์ฟุตมาตรฐาน, BCF (Billion standard cubic feet) = พันล้านลูกบาศก์ฟุต, MMSCFD (Million standard cubic feet per day) = ล้านลูกบาศก์ฟุตมาตรฐานต่อวัน และ BCM (Billion cubic metres) = พันล้านลูกบาศก์เมตร และเราสามารถวัดมวลของก๊าซธรรมชาติได้ด้วยหน่วย MTPA (Million Tonne per Annum) = ล้านตันต่อปี
นอกจากนี้ ในการวัด ก๊าซธรรมชาติ ยังสามารถเปรียบเทียบกับปริมาณของน้ำมันได้ด้วย โดยใช้หน่วย เช่น toe (Tonne of oil equivalent) หรือตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ นั่นคือปริมาณของก๊าซธรรมชาติเป็นหน่วยลูกบาศก์ฟุตที่ให้พลังงานเท่ากับน้ำมัน 1 ตัน มีประโยชน์ในการสื่อสาร และรายงานค่าต่าง ๆ เช่น ปริมาณสำรอง ปริมาณที่ใช้เป็นวัตถุดิบ ปริมาณที่ซื้อขาย เนื่องจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมักเกิดร่วมกันและถูกนำไปใช้ประโยชน์ควบคู่กัน