ฝีดาษลิง สายพันธุ์ใหม่ Clade 1B ทำไมถูกยกระดับเป็นภัยฉุกเฉินระหว่างประเทศ
ไขข้อสงสัย "ฝีดาษลิง" สายพันธุ์ใหม่ "Clade 1B" เหตุใดจึงถูกยกระดับเป็นภัยฉุกเฉินระหว่างประเทศ และจะสังเกตอาการเบื้องต้นอย่างไร พร้อมการป้องกันให้ห่างจากโรคฝีดาษลิงด้วยวิธีไหนบ้าง ติดตามได้จากบทความนี้
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้แถลงข่าวการพบผู้ป่วยสงสัย ฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade 1B รายแรกในประเทศไทย เดินทางจากทวีปแอฟริกา ตรวจพบอาการสงสัยโรคฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade 1B ที่ทั่วโลกกำลังเฝ้าระวัง ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงได้ขยายไปทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศแถบทวีปแอฟริกา
สาเหตุที่ทั่วโลกต่างเฝ้าระวัง เนื่องจาก โรคฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade 1B มีความรุนแรงและแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น โดยเฉพาะในเด็กและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอย่างผู้สูงอายุ ซึ่งอาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย ก่อนจะมีผื่นที่เริ่มจากใบหน้าแล้วแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ผื่นจะพัฒนาเป็นตุ่มหนองและแผลที่แห้งตกสะเก็ด
สำหรับไวรัสฝีดาษลิง แบ่งออกได้หลายสายพันธุ์ โดยมี 2 สายพันธุ์หลัก คือ Clade 2 และ Clade 1B ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และมีลักษณะการติดเชื้อที่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ กำลังได้รับความสนใจ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่อาจส่งผลต่อการแพร่กระจายและความรุนแรงของโรค
ทำไมต้องเฝ้าระวังกับสายพันธุ์ "Clade 1B"
- แพร่เชื้อง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ผ่านการสัมผัสตุ่มน้ำหรือของเหลวจากตุ่มน้ำ
- มักมีอาการรุนแรงกว่า เช่น ไข้สูง ผื่นจำนวนมาก และภาวะแทรกซ้อน
- อัตราการเสียชีวิตสูงกว่าสายพันธุ์อื่น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ
จะป้องกันฝีดาษลิงได้อย่างไร ?
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเฉพาะสำหรับ โรคฝีดาษลิง แต่วัคซีนฝีดาษ (Smallpox) ที่เคยใช้ในอดีตสามารถป้องกันได้บางส่วน เนื่องจากไวรัสฝีดาษและฝีดาษลิงมีความคล้ายคลึงกัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 สภากาชาดไทย ได้เปิดให้บริการวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ณ ตึกราชูทิศ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย นอกจากนี้ยังมีมาตรการป้องกันโรคฝีดาษลิง ดังนี้
- รักษาความสะอาด โดยการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่ไม่รู้จัก
- ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าขนหนู หรือเครื่องนอน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่มีผื่น
- ไม่สัมผัสตุ่มหนอง หรือบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ รวมถึงซากสัตว์ป่า
- บริโภคเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกดี
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ควรเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสังเกตอาการตนเอง ในกรณีที่ต้องเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยงในแถบทวีปแอฟริกา ขณะเดียวกันหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะโรคดังกล่าวติดต่อจากการสัมผัส และการมีเพศสัมพันธ์ หากตรวจพบโรคฝีดาษลิงตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงอาการรุนแรงของโรค ที่มีโอกาสรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาด หากสงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อ หรือพบอาการที่เข้าข่าย เช่น มีไข้ ผื่น หรือตุ่มที่ไม่คุ้นเคย ควรเข้ารับการตรวจและพบแพทย์ทันที
บทความอ้างอิง : นพ.ศราวุฒิ มากล้น อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลพิษณุเวช