"ส.ป.ก." คว้ารางวัลเลิศรัฐ ระดับดีเด่น ประจำปี 2567
"สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม" หรือ "ส.ป.ก." คว้ารางวัลเลิศรัฐ ระดับดีเด่น ประจำปี 2567 ในสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม จากผลงาน "สมุนไพรเปลี่ยนชีวิต คนเป็นมิตรกับสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง"
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. คว้ารางวัล เลิศรัฐ ระดับดีเด่น ประจำปี 2567 ในวันพุธที่ 18 กันยายน 2567 โดย นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. พร้อมด้วย นายปรีชา ลิ้มถวิล รองเลขาธิการ ส.ป.ก. นางศิริพร อภิเดช ปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุทัยธานี นางสาวกานดา ศากยะโรจน์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่า (ห้วยขาแข้ง) และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2567 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ชั้น 1 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
ส.ป.ก. ได้รับรางวัล เลิศรัฐ "ระดับดีเด่น" ประจำปี 2567 ในสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม จากผลงาน "สมุนไพรเปลี่ยนชีวิต คนเป็นมิตรกับสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง" เป็นผลงานความสำเร็จจากการทำงานร่วมกัน ในการขับเคลื่อนงานสมุนไพร ในพื้นที่ ส.ป.ก. ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกสมุนไพร ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีการใช้สารเคมี ลดการกระทบกับสัตว์ป่าโดยเฉพาะพื้นที่รอบป่าห้วยขาแข้ง เกิดกลุ่มคนที่เรียกว่า "หัวไว ใจสู้" โดยลดการพึ่งพิงป่า ปลูกพืชที่ลดการดึงดูดของสัตว์ป่า โดยเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสม สามารถปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้สัตว์ป่าอยู่ได้ คนอยู่ดี สัตว์ป่าปลอดภัย อยู่แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย สร้างชุมชนยั่งยืน
สำหรับ รางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมที่ ส.ป.ก. ได้รับ เป็นรางวัลที่มอบให้กับหน่วยงานของรัฐที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการบนพื้นฐานความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ รางวัลเลิศรัฐจะมอบให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่สามารถพัฒนาคุณภาพการบริการ และระบบการบริหารงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม และพึงพอใจให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการบริหารราชการให้มีระบบหรือวิธีการที่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน จนเกิดการทำงานร่วมกันในลักษณะหุ้นส่วนและความร่วมมือ ตลอดจนพัฒนาระบบราชการให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน โดยแบ่งออกเป็น 3 สาขา ได้แก่ 1.) สาขาบริการภาครัฐ 2.) สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และ 3.) สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม