'กรมฝนหลวงฯ' พลิกแผน รวมฝูงขึ้นปฏิบัติการ 'เต็มอิ่ม' แก้ภัยแล้ง
แม้การปฏิบัติการฝนหลวง จะมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ภารกิจหลักยังต้องการปริมาณน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม ป่าไม้ เขื่อนเก็บกักน้ำ รวมไปถึงการแก้ปัญหาหมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นผลให้ต้องขึ้นปฏิบัติต่อเนื่องตลอดทั้งปี
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการปฏิบัติการ ฝนหลวง ยังไม่ได้ผลเต็มที่ เพราะขึ้นปฏิบัติการบินเพียง 2 ลำ ไม่สามารถจู่โจมเมฆได้สำเร็จ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ แต่ตำราฝนหลวงทำให้เกิดฝนได้จริง 100%
ดังนั้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จึงกำหนดนโยบายการทำฝนหลวงใหม่ด้วยมาตรการเต็มอิ่ม ซึ่งเป็นการทำงานเชิงรุกช่วงที่มีวิกฤติด้วยการขึ้นปฏิบัติเป็นฝูงบิน 3 ชุด รวม 6 ลำ ในจุดที่พบความชื้น และต้องทำทันทีที่พบเพราะความชื้นเคลื่อนไหวได้ หากปล่อยทิ้งไว้จะเคลื่อนไปพื้นที่อื่นหรือหายไป โดยจะระดมสรรพกำลังบุคลากรทุกสายทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักวิเคราะห์ รวมฝูงบินและปฏิบัติการทันที ส่วนช่วงไม่มีวิกฤติจะดำเนินการตามแผนที่วางไว้
"การทำฝนเต็มอิ่ม ประสบผลสำเร็จทั้งหมด มีฝนตกจริง ดังนั้นปีงบประมาณ 2568 กรมฝนหลวงฯ มีแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี ตั้งแต่เดือน พ.ย.-ก.ย.เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง และเติมน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้เพื่อการบรรเทาการเกิดไฟป่า บรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และเฝ้าระวังและปฏิบัติการยับยั้งหรือลดความรุนแรงของพายุลูกเห็บ"
ทั้งนี้ ได้บูรณาการกับ กองทัพอากาศ โดยใช้อากาศยานสำหรับปฏิบัติการฝนหลวง 32 ลำ ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 25 ลำ (Caravan จำนวน 12 ลำ Casa จำนวน 10 ลำ CN จำนวน 2 ลำ Super King Air จำนวน 1 ลำ) อากาศยานของกองทัพอากาศ จำนวน 7 ลำ (BT จำนวน 3 ลำ AU-23 จำนวน 2 ลำ AlphaJet 2 ลำ) รวมทั้งกำลังพลในการร่วมปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือประชาชนตามแผนการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงได้มีประสิทธิภาพและกระจายทั่วภูมิภาค และช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภาวะฝนทิ้งช่วง และการเติมน้ำให้พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โดยไม่มีวันหยุดและหากสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการแล้ว หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทุกหน่วยพร้อมขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงทันที
"การทำฝนหลวงเป็นวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เกิดฝนได้จริง หากต้องการประสบผลสำเร็จ 100% ฝูงบินฝนหลวงควรมี 200 ลำ และควรตั้งโรงงานทำน้ำแข็งแห้งประจำศูนย์บินแต่ละแห่ง ใช้งบไม่มาก 400 ล้านบาท เพื่อใช้โจมตีเมฆเร่งให้ฝนตกและลงในพื้นที่เป้าหมาย โดยปัจจุบันต้องรอน้ำแข็งแห้งที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ปีละ 1,000 ตัน จากความต้องการปีละ 4,000 ตัน เมื่อไม่มีน้ำแข็งแห้งก็ต้องใช้วิธีโจมตีเมฆอุ่น แม้จะมีฝนแต่น้อยและล็อคเป้าหมายไม่ได้"
กรมฝนหลวงฯ มีแผนการปฏิบัติการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนเก็บกักน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 30 ก.ย.2568 ทั่วประเทศที่ยังมีปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ปกติเพื่อสำรองไว้เป็นน้ำต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงและเพื่อสาธารณะประโยชน์ ดังนั้นการทำฝนหลวงเติมน้ำให้เขื่อนจะเพิ่มน้ำต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและระบบชลประทานช่วยการเพาะปลูกฤดูแล้ง รวมทั้งการประมง การคมนาคมทางน้ำ และการปล่อยน้ำผลักดันน้ำเค็มหรือน้ำเน่าเสีย
รวมทั้ง กรมฝนหลวงฯ บูรณาการการบริหารจัดการน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำร่วมกับกรมชลประทาน เพื่อให้ปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำต้นทุนเขื่อนและอ่างเก็บน้ำให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งมีเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่ง และเขื่อนขนาดกลาง 435 แห่ง
สรุปผลการ ปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.2566 - 15 ต.ค.2567 ปฏิบัติการฝนหลวง 238 วัน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวง 233 วัน คิดเป็น 97.90% ขึ้นปฏิบัติงาน 3,236 เที่ยวบิน 4,816 ชั่วโมงบิน จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 72 จังหวัด มีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 241 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 338 แห่ง ปริมาณน้ำสะสม 555.46 ล้าน ลูกบาศก์