ทฤษฎีแห่งความสุข : สุข … หม่อนไหม สายใยแห่งความรัก โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี
คอลัมน์ "ทฤษฎีแห่งความสุข" ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือน สำหรับเดือนธันวาคม 2567 นี้ นำเสนอเรื่อง "สุข … หม่อนไหม สายใยแห่งความรัก" โดย ธันย่า - ธันยลักษณ์ พรหมมณี
ผ้าไหมเป็นหนึ่งในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าของไทย สะท้อนถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นและเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละภูมิภาค จึงได้รับการเชิดชูในฐานะสิ่งทอที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ความงดงาม มรดกทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงหัวใจคนไทย สร้างอาชีพ เสริมชุมชน และสะท้อนความงดงามของความรักที่ถักทอผ่านกาลเวลา
กรมหม่อนไหม จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยพระองค์ทรงมีพระราชปณิธานที่จะส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร อันนำมาสู่การสถาปนากรมหม่อนไหมขึ้น เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2552 เพื่อเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริม วิจัย และพัฒนาหม่อนไหมทั้งระบบ รวมถึงการอนุรักษ์สืบสานศิลปหัตถกรรม ภูมิปัญญาไหม ให้คงอยู่คู่ประเทศไทย
ทั้งนี้ กรมหม่อนไหมได้ดำเนินงานภายใต้ภารกิจสำคัญ เพื่อทำให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม โดยใช้การตลาดนำการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับมาตรฐานสินค้า เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ธันย่า ในฐานะ ทูตอัตลักษณ์ไหมไทย ประจำราชอาณาจักรไทย กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมแสดงความยินดีวันคล้ายวันสถาปนากรมหม่อนไหม เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี ซึ่งจัดงานภายใต้แนวคิด "Eco Silk : ไหมรักษ์โลก" ในวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา
"ทฤษฎีแห่งความสุข" ในเดือนสุดท้ายของปี 2567 ขอส่งสายใยแห่งความรัก ส่งความสุขกับการอนุรักษ์พันธุ์หม่อน "ใบหม่อน" พืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไหมและการผลิตผ้าไหมไทยที่ได้รับความนิยมและโด่งดังไปทั่วโลก
ใบหม่อนเป็นพืชอาหารชนิดเดียวของหนอนไหม และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน เกษตรกร และการพัฒนาอุตสาหกรรมผ้าไหมที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่และดีงามของชาติมีความสำคัญต่อการพัฒนาด้านหม่อนไหมของประเทศไทย ดังนี้
- อุตสาหกรรมผ้าไหม ใบหม่อนเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการผลิตไหม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของไทย เช่น ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมแพรวา ผ้ายกดอกลำพูน
- การพัฒนาชุมชน การปลูกใบหม่อนช่วยสร้างอาชีพในชนบท ลดการอพยพเข้าสู่เมือง และสนับสนุนความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน
- ใบหม่อน จึงไม่ใช่เพียงพืชพื้นบ้านธรรมดา แต่เป็นกุญแจสำคัญในการเชื่อมโยงมรดกทางวัฒนธรรมกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย
แนวทางการพัฒนาพันธุ์หม่อน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ที่ทนต่อโรคและแมลงศัตรูหม่อน สนับสนุนปัจจัยการผลิตเช่นระบบน้ำ เพื่อให้ผลผลิตใบหม่อนพอเพียงในการเลี้ยงไหมฤดูแล้ง เพิ่มการให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องการจัดการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ สนับสนุนเทคโนโลยีรองรับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาพันธุ์หม่อนที่อนุรักษ์พันธุ์ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ เพราะหม่อนเป็นปัจจัยสำคัญในการสืบสานอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สาวเส้นและทอผ้าไหมให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทย
ในความหลากหลายของสายพันธุ์หม่อนใบ และหม่อนผลในประเทศไทย กรมหม่อนไหม สำนักอนุรักษ์และตรวจสอบมาตรฐานหม่อนไหมได้ดำเนินการอนุรักษ์ไว้จำนวน 226 สายพันธุ์ จัดแบ่งเป็นกลุ่มได้ 6 กลุ่ม ดังนี้ 1.) กลุ่มหม่อนพันธุ์พื้นเมือง 35 พันธุ์, 2.) กลุ่มหม่อนพันธุ์รับรอง-แนะนำ 8 พันธุ์, 3.) กลุ่มหม่อนผลสด 28 พันธุ์, 4.) กลุ่มหม่อนรวบรวมพันธุ์ 39 พันธุ์, 5.) กลุ่มหม่อนจากโครงการปรับปรุงพันธ์ 94 พันธุ์ และ 6.) กลุ่มหม่อนป่า 22 พันธุ์
ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่จะรู้จักหม่อนพันธุ์รับรอง แนะนำดังนี้ พันธุ์รับรอง 2 พันธุ์ ได้แก่ 1.) บุรีรัมย์ 60 และ 2.) นครราชสีมา 60
อีกทั้ง พันธุ์แนะนำ 6 พันธุ์ ได้แก่ 1.) บุรีรัมย์ 51, 2.) ศรีสะเกษ 33, 3.) ศรีสะเกษ 84, 4.) สกลนคร, 5.) สกลนคร 85 และ 6.) เชียงใหม่
กรมหม่อนไหม สำนักอนุรักษ์และตรวจสอบมาตรฐานหม่อนไหม ได้อนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์หม่อน จำนวน 226 พันธุ์ ไว้เพื่อใช้ในการวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ และใช้ขยายพันธุ์สนับสนุนแก่เกษตรกร โดยดำเนินการอนุรักษ์พันธุ์ไว้ที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ 4 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และกาญจนบุรี
แล้วพบกับธันย่า และ "ทฤษฎีแห่งความสุข" ได้ใหม่ ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือนในกรุงเทพธุรกิจฉบับตีพิมพ์และทางออนไลน์