'The Forgotten Sea' เรื่องเล่าจากทะเลและการอนุรักษ์ของทอม โพธิสิทธิ์

'The Forgotten Sea' เรื่องเล่าจากทะเลและการอนุรักษ์ของทอม โพธิสิทธิ์

ไม่ต้องเห็นมือที่เปื้อนเลือด มีดกรีดบนท้องพะยูน เต่าทะเล หรือวาฬ แต่ทำไมภาพเหล่านี้ ดูแล้วสะเทือนใจ

 “ผมคิดว่า ภาพถ่ายเหล่านี้สามารถสื่อสารได้โดยไม่ต้องมีคำพูด ผมรู้อยู่ว่า แคมเปญที่ทำๆ ออกมาเรื่องอนุรักษ์วาฬไม่ค่อยได้ผล สิ่งที่ผมเห็นคือภาพสถิติ ภาพวาฬตาย มันไม่ได้สื่อสารกับคนเลย” ทอม โพธิสิทธิ์  ช่างภาพอิสระ กล่าว 

นั่นทำให้เขามุ่งมั่นที่จะเป็นช่างภาพศิลปะและแฟชั่น ที่เน้นการสื่อสารประเด็นปัญหาสังคม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“แล้วทำไมแฟชั่นกับการอนุรักษ์เข้ากันไม่ได้สักที ผมจึงเอาทั้งสองอย่างคือ วิทยาศาสตร์ โลกของการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก และศิลปะมาเจอกัน ”

นอกเหนือจากการเป็นช่างภาพแฟชั่นและศิลปะ เขายังเป็นอาสาสมัครในงานอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อศึกษาประชากรและพฤติกรรมของวาฬบรูด้าในบริเวณอ่าวไทยตอนบนมานานกว่า 12 ปี เขาต้องขึ้นเครื่องบินเล็กออกไปถ่ายภาพสัตว์ทะเลหายากกลางทะเล เพื่อให้คนทำงานด้านอนุรักษ์ใช้ในการศึกษาวิจัย และติดตามสัตว์เหล่านั้น 

นอกจากนี้ เขายังเป็นสมาชิก มหาสมุทรพาโทรล องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ให้ความช่วยเหลือโครงการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิดในประเทศไทย และอีกหลายเรื่องที่เขาทำ ไม่ใช่แค่ถ่ายภาพสวยๆ หรือดูแล้วสะเทือนใจ แต่เน้นการสื่อสารให้คนในสังคมรับรู้ปัญหา

ก่อนหน้านี้ ทอมมีผลงานภาพถ่ายแฟชั่น มีฉากหลักเป็นซากวาฬบรูด้าเกยตื้น ชุด The Last FareWhale และภาพถ่ายแฟชั่นในชุมชนป้อมมหากาฬ ชุด SKYfALL: น้ำตามหากาฬ รวมถึงนิทรรศการภาพถ่ายแฟชั่นการบริจาคอวัยวะ The Anatomy 101 จัดแสดงในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และภาพถ่ายแฟชั่นกลุ่มผู้สูงอายุครั้งแรกของเมืองไทย THE SENIOR ปฎิบัติการรุ่นใหญ่ขอเฟี้ยว ฯลฯ

  03

-1-

ทั้งๆ ที่ทอม ไม่ได้ร่ำเรียนด้านการถ่ายภาพ แต่สนใจเรื่องศิลปะเป็นทุนเดิม เคยเป็นอินทีเรีย ดีไซน์ อยู่พักหนึ่ง และทำธุรกิจดีไซน์ของส่งออกต่างประเทศ แต่ในที่สุดเขาก็มาจับกล้องถ่ายภาพ ส่วนหนึ่งทำงานเป็นอาสาสมัครถ่ายภาพทางอากาศ เพื่อสำรวจจำนวนประชากรพะยูนให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่จังหวัดตรัง และกำลังช่วยคิดเรื่องปรับปรุงพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่ภูเก็ต รวมถึงทำโครงการ“ศิลปะเพื่อมหาสมุทร”

 “ตอนเด็กๆ ผมโตขึ้นมาท่ามกลางสังคมเมืองและไม่ค่อยมีเพื่อน ชอบไปเล่นท่ามกลางธรรมชาติ รู้สึกว่ามันจับต้องได้ แถวบ้านมีคลองเล็กๆ ผมได้เล่นกับปลาในคลอง ผมจำได้ว่า คลองมีทั้งน้ำที่ใช้ได้และน้ำเน่า พอปลามันตาย เราก็เศร้าและทำอะไรไม่ได้ โตมามีโอกาสสำรวจประชากรพะยูนและวาฬ ทำให้ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ ” ทอม เล่า

และนั่นเป็นที่มาของถ่ายภาพแฟชั่นกับซากวาฬ

“คนในวงการผม ก็เป็นพวกศิลปิน ช่างภาพ และคนทำงานแฟชั่น ในช่วงแรกเห็นภาพที่ผมถ่ายก็แอนตี้ เพราะภาพถ่ายแฟชั่นไม่เคยพูดถึงเรื่องที่อ่อนไหว อย่างซากวาฬตาย นักวิจัยที่ผมปรึกษาเขา ก็ค่อนข้างกังวลว่าจะออกมายังไง ปัญหาคือ เราไม่เคยทดลองอะไรใหม่ๆ ผมก็บอกว่า ทำไมไม่ลอง ถ้าทำออกมาแล้ว ทีมของกรมฯ ไม่โอเค ผมก็ยินดีไม่เผยแพร่รูปที่ผมถ่าย แต่พอดีมีกระแสในช่วงนั้น ทำให้ผมได้สื่อสารเรื่องวาฬอย่างต่อเนื่อง และก็ได้ผล จนวาฬบลูด้าถูกเสนอชื่อให้เป็นสัตว์สงวน ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า"

 

-2-

“คนเราต้องเรียนรู้ทุกอย่างจากการลงมือทำ”  คือ สิ่งที่เขากล่าวระหว่างการสนทนา 

เขาเองก็เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าการถ่ายภาพ ประดิษฐ์สิ่งของ หาข้อมูลวิจัยด้านสัตว์ทะเลหายากด้วยตัวเอง ฯลฯ

“เพราะผมเรียนรู้ จึงรู้สาเหตุว่า สัตว์ทะเลเหล่านี้ตายเพราะอะไร คนส่วนใหญ่บอกว่ามันเกยตื้น จริงๆ แล้วมีสาเหตุเยอะ ไม่ว่าการติดมากับเครื่องมือประมงขนาดใหญ่ ใบพัดเรือท่องเที่ยวชนวาฬ สาเหตุสำคัญมาจากมนุษย์ และเคยมีคนถามว่า ทอมอยากถ่ายภาพพวกนี้ เพราะอยากมีชื่อเสียงหรือเปล่า ชื่อเสียงแบบนี้ต้องแลกมาด้วยหลายๆ อย่างหรือ ไม่ว่าการหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ การสื่อสาร เวลาที่ใช้ในการทำวิจัย ผมถ่ายภาพเหล่านี้เพื่อใช้ภาพพูดในสิ่งที่ผมเห็น เพราะผมมีประสบการณ์ร่วมในการทำงานทางทะเล”

เขาพูดเสมอว่า คนเล็กๆ อย่างเขาและหลายคนสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องการอนุรักษ์ไม่ใช่ประเด็นที่คนส่วนใหญ่สนใจ

“สองปีที่แล้ว เริ่มมีคนสนใจเรื่องการอนุรักษ์ ตั้งแต่เรื่องขยะทะเล ไมโครพลาสติก เพราะมีสัตว์ทะเลตายจากขยะมากขึ้น สิ่งที่จุดชนวนคือ วาฬหัวทุยกินขยะเข้าไป 8 กิโลกรัมเสียชีวิตที่จังหวัดสงขลา เมื่อปีที่แล้ว ตอนนั้นผมกินอะไรก็เอาถุงขยะมาล้าง แล้วชั่งกิโลว่า แต่ละวันเราสร้างขยะเยอะแค่ไหน ผมเอาพลาสติกมาเรียงหน้าบ้าน แล้วถ่ายภาพจากโดรน เพื่อสื่อสารว่า สัตว์ทะเลพวกนี้ จริงๆ แล้วตายตั้งแต่หน้าบ้านเรา ไม่ได้ตายจากทะเล เพราะเราไม่มีวิธีการจัดการขยะที่ดี”

นอกจากนี้ทอมยังทำงานให้ มหาสมุทรพาโทรล กลุ่มคนที่มีความสามารถหลากหลายมารวมกันทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมทางทะเลและการอนุรักษ์ โดยให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊ค และองค์กรต่างๆ โครงการล่าสุด เขาทำเรื่อง “ศิลปะเพื่อมหาสมุทร” ทำประติมากรรมใต้น้ำ ที่สามารถเป็นที่อยู่อาศัยในการเติบโตขึ้นใหม่ของปะการัง สร้างรายได้ใหม่ให้ชุมชน และทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการดำน้ำ

 “ผมเคยดำน้ำที่เกาะราชา พบปะการังเทียมใต้ทะเลที่ล้มระเนระนาด คนในพื้นที่บอกว่า เป็นบ้านปลาเทียม มันน่ากลัวมาก ปลายังไม่อยู่เลย ผมจะเข้าไปช่วยพัฒนา โดยใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เลือกวัสดุที่เหมาะกับธรรมชาติ ทำให้คนในศูนย์วิจัยทางทะเลและนักวิจัยทำงานได้ด้วย มีนักท่องเที่ยวมาชม เพื่อสร้างจิตสำนึก และสร้างรายได้ให้ชุมชน หลายคนอาจมองว่า ศิลปะและแฟชั่นดูฟุ่มเฟือย ไร้สาระไม่จำเป็น แต่ผมมองว่า มันทรงพลังและสำคัญมากในยุคนี้”

LASTFAREWHALE10_1

 

-3-

เหมือนเช่นที่กล่าวมา ทอมไม่ได้ทำแค่ถ่ายภาพแฟชั่นสวยๆ สื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เขาลงไปทำงานในพื้นที่ในฐานะอาสาสมัครด้วย

“เรื่องมลพิษทางทะเลและขยะพลาสติก ผมพูดเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนนั้นมีคนว่า ผมบ้าหรือเปล่าที่ไปเดินเก็บขยะพลาสติกจากทะเลมาทำประติมากรรม ไปดำน้ำเก็บขยะ เพราะเรารู้ว่าจะสร้างปัญหาในอนาคต และเราพยายามสร้างสื่อ เพื่อให้คนหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น 

อย่างเรื่องขยะพลาสติกทางทะเล ผมว่าแก้ปัญหายาก ตอนนี้ผมเลิกเก็บขยะพลาสติกแล้ว เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ สิ่งที่ผมทำตอนนี้อีกอย่างคือ การให้ความรู้และการปลดล็อคเรื่องการศึกษาให้เด็กมีอิสระในการคิดและการเรียนรู้มากขึ้น เพื่อสร้างนวัตกรรมทางความคิดแก้ปัญหาให้กับโลกในอนาคต”

เขา ยอมรับว่าการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก องค์ความรู้ในบ้านเรายังมีน้อย เพราะรัฐบาลไม่ได้สนับสนุนสัตว์แพทย์ที่ทำงานทางทะเลอย่างเต็มที่่ ปัจจุบันมีแค่ 12 คน 

"สัตว์แพทย์หนึ่งคนต้องดูแลพื้นที่เท่าไหร่ พวกเขาต้องเรียนรู้การดูแลสัตว์น้ำสี่ชนิด เต่า พะยูน โลมา วาฬ และมี 30 กว่าสายพันธุ์ ถ้าไม่สร้างบุคลากรมาดูแลมากขึ้น การพัฒนาก็จะไปได้ช้า ยกตัวอย่าง พะยูนเป็นสัตว์ที่มีความอ่อนไหวมาก ทั้งเรื่องการช็อค และโภชนาการ ในอดีตเราไม่พบพะยูนกินพลาสติก การเกิดเหตุแบบนี้ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง แต่สิ่งที่พวกมันสร้างไว้คือ ความตระหนักรู้ของคนทั้งประเทศ เพราะเรามีความรู้พะยูนน้อยมาก ถ้ามองลึกลงไปไมโครพลาสติกเป็นเรื่องไกลตัวมาก ไม่เห็นกระทบต่อคนเลย แต่ผมกลัวมาก หากสะสมในร่างกายมนุษย์ แล้วคนจะล้มตาย”

 

-4-

ล่าสุดทอมกำลังจะเข้าไปช่วยปรับปรุง อควาเรียม หรือพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่ภูเก็ต เขาคิดว่า ถ้าในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทำแค่ป้ายและชื่อวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพื่อให้คนมาเรียนรู้ แค่นั้นยังไม่พอ น่าจะนำภาพถ่ายดีๆ จากช่างภาพเมืองไทยที่ทำงานด้านอนุรักษ์ มาจัดแสดงภาพสัตว์ทะเลด้วย

“สิ่งที่ผมเคยเห็นในอควาเรียม ไม่ได้ทำให้ผมอยากเห็นสัตว์ทะเลจริงๆ ดังนั้นผมคิดว่า ถ้าเรามีงานภาพถ่ายดีๆ อย่างผลงานชิน-ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพใต้น้ำที่ถ่ายให้เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ถ้าเด็กๆ เห็นชินเป็นฮีโร่ เขาก็อยากศึกษาเรียนรู้ผลงานของเขา และผมอยากให้มีเรื่องการจัดการขยะในอควาเรียม มีการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ มีประติมากรรมจากขยะทะเลหรือขยะฟุ่มเฟือย เพื่อสื่อสารปัญหาที่เกิดขึ้น และผมยังคิดไปไกลว่า อควาเรียมน่าจะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการบำบัดคนเป็นโรคซึมเศร้า"

ที่ผ่านมาภาพถ่ายหลายชิ้นหลายโครงการของเขาสามารถสร้างแรงกระเพื่อมและแรงบันดาลใจให้ผู้คนหันมาสนใจปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติได้ ล่าสุดเขาเพิ่งเดินทางไปสิงคโปร์ เนื่องจากเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้แพลตฟอร์มที่ทำเรื่องภาพถ่ายทีี่นั่น

“งานของผมก็มีคนในองค์กรต่างประเทศเห็นว่า มีพลังในการสื่อสาร แรงบันดาลใจเหล่านี้มาจากปัญหารอบตัว ผมอยากสื่อสารไปสู่ระดับนานาชาติ ผมมองว่า คนเล็กๆ เหล่านี้สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ควรได้รับการสนับสนุน เพื่อให้พวกเขาไปสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม อย่างสิ่งที่ผมทำก็เหนื่อยมาก เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรใดๆ แต่ไม่เป็นไร มันเป็นการเรียนรู้ของผมเอง”

  untitled-2013-2

ผลงานถ่ายแฟชั่นชุด Gibbon

 

 อนาคตอยู่ในกำมือเด็กๆ

 “ผมมองว่า ในอนาคตที่เราต้องเผชิญกับเรื่องมากมาย ถ้าเราไม่ปลดล็อคกรอบความคิดให้เด็กๆ เพื่อให้พวกเขามาช่วยแก้ปัญหา มันจะลำบาก เพราะระบบการศึกษามีกรอบว่า เด็กๆ จะต้องเรียนวิชานั้น วิชานี้ ต้องสอบให้ได้เท่านั้นเท่านี้ ในฐานะที่ผมเป็นศิลปินและอาสาสมัครช่วยงานวิจัย ผมเองก็เรียนรู้จากการทดลองทำ

สองเดือนที่แล้วผมมีโอกาสคุยกับน้องยินดี ที่เชียงใหม่ เด็กผู้หญิงเรียนชั้นประถมปีที่ 4 ตัวเล็กๆ เขาสร้างเครื่องไบโอฟิลเตอร์ ผลิตอากาศบริสุทธิ์จากมอส เพราะเชียงใหม่มีปัญหาเรื่องมลพิษ เธอจึงอยากช่วยแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

ในเรื่องการอนุรักษ์ ผมอยากทำเรื่องการศึกษาในโรงเรียน อยากทำเวิร์คชอปให้เด็กๆ องค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 เรื่องสิ่งแวดล้อม เด็กๆ สามารถเอาอะไรก็ได้รอบๆ ตัวมาทำ เพื่อทำให้พวกเขาค้นพบตัวเอง อย่างแม่ผมก็ให้ผมเลือกเรียนตามใจชอบ แต่ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าชอบอะไร เราไม่ต้องยัดเยียดปัญหาให้พวกเขาหรอก เพียงแค่ให้พวกเขาเห็น รู้สึกเอง เขาก็จะเรียนรู้เอง

ช่วงสองปีที่ผ่านมา เราพูดถึงนวัตกรรมเยอะมาก มีสตาร์ทอัพและองค์กรเล็กๆ ที่พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลง ผมกำลังมองว่า คนจากองค์กรเล็กๆ ไปเรียนรู้และรับรู้ หาวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่คนเหล่านั้นไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ " ทอม เล่า 

DSC00348

ทอม โพธิสิทธิ์