ขิงพิชิตหวัด แก้ไอ
ขิง พืขสมุนไพรและเครื่องเทศสารพัดประโยชน์ ช่วยเพิ่มรสชาติอาหารและรักษาโรคท้องอืดเฟ้อ ขับลม ช่วยย่อย ขับน้ำนม บำรุงธาตุ
“ขิง” พืขสมุนไพรและเครื่องเทศสารพัดประโยชน์ ช่วยให้อาหารหอมชวนรับประทาน ดับกลิ่นคาว และอยู่ในตำรับยา รักษาโรคท้องอืดเฟ้อ ขับลม ช่วยย่อย ขับน้ำนม บำรุงธาตุ
คนทั่วโลกส่วนใหญ่รู้จักและใช้สมุนไพรขิงอย่างแพร่หลาย สังเกตได้จากแพทย์จีนโบราณ จัดขิงเป็นพืชรสเผ็ดอุ่น มีฤทธิ์แก้หวัดเย็น ขับเหงื่อ บำรุงกระเพาะอาหาร แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ลดคอเลสเตอรอลที่สะสมในตับและเส้นเลือด ชาวจีนทั่วไปจึงนิยมต้มขิงกับน้ำตาลอ้อย เพื่อช่วยแก้หวัด ถ้าใช้ขิงสดปิดที่ขมับทั้งสองข้างจะช่วยแก้ปวดหัว หรือถ้าเอาขิงสดอมไว้ใต้ลิ้นจะช่วยแก้อาการกระวนกระวาย แก้คลื่นไส้อาเจียนได้ดี
ตำรับเภสัชของสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ.1985 จึงบรรจุขิง ทั้งขิงสด ขิงแห้ง และทิงเจอร์ขิงเป็นยาสมุนไพรแห่งชาติตัวหนึ่ง แพทย์จีนโบราณจะใช้ประโยชน์จากขิงสดและขิงแห้งต่างกัน โดยจะใช้ขิงแห้งในภาวะที่ขาดหยาง ภาวะขาดหยาง คือ ภาวะที่ร่างกายมีอาการเย็น หนาวง่าย ทนต่อความเย็นได้น้อย การย่อยอาหารไม่ดี
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร บอกว่า จะใช้ขิงสดเมื่อต้องการกำจัดพิษที่เกิดจากการติดเชื้อภายในร่างกาย โดยการขับพิษออกมาทางเหงื่อ ขิงสดช่วยทำให้ร่างกายปรับสภาพในภาวะที่ร่างกายมีอาการเย็นได้เช่นเดียวกับขิงแห้ง ช่วยลดการคลื่นไส้อาเจียน โดยใช้ขิงสด 300 กรัม(3 ขีด) สับให้ละเอียดต้มดื่มในขณะท้องว่าง นอกจากนี้ ขิงยังช่วยกำจัดพิษโดยการเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยขับเสมหะ โดยการใช้ขิงสดคั้นเอาแต่น้ำประมาณครึ่งถ้วยผสมน้ำผึ้ง 30 กรัม (6 ช้อน) อุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน
ในอินเดียจะใช้ขิงในการทาถูนวดเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ลดการอักเสบ แก้ปวด ลดอาการบวมน้ำ ใช้เป็นยากระตุ้นการเจริญอาหาร เป็นยาช่วยย่อย ช่วยขับลมในลำไส้ ระงับการคลื่นไส้อาเจียน ในตำรับยาทางอายุรเวทยังมีการใช้ขิงในการลดการบวมและการอักเสบของตับ คนพื้นเมืองอินเดียทั่วไปยังนิยมใช้น้ำคั้นจากขิงผสมน้ำผึ้ง และน้ำคั้นจากกระเทียมรักษาอาการหอบหืด ทั้งยังมีการใช้ขิงผงแห้งละลายน้ำอุ่นทาที่หน้าผากรักษาอาการปวดหัว
ส่วนแพทย์ชาวอาหรับโบราณก็ใช้ประโยชน์จากขิงในการกระตุ้นความกำหนัด ส่วนคนยุโรปโดยทั่วไปจะใช้ชาขิงในการช่วยย่อย ช่วยรักษาอาการท้องอืดจากการดื่มเหล้า ช่วยขับลม ทั้งยังใช้ในการรักษาโรคเก๊าท์ และกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต
นักสมุนไพรรุ่นใหม่ของตะวันตก มักแนะนำให้ใช้ขิงในการช่วยย่อยอาหาร ช่วยในการไหลเวียนของโลหิต และลดการคลื่นไส้อาเจียนจากการเคลื่อนไหวที่ไม่สมดุล (motion sickness) รวมทั้งใช้ลดการคลื่นไส้อาเจียนหลังการผ่าตัด และจากการแพ้ท้องได้บ้าง แต่คนท้องไม่ควรรับประทานเป็นประจำ
แต่สิ่งที่คนทุกมุมโลกใช้เหมือนกันก็คือ การใช้ขิงในการแก้หวัด และแก้ไอ ซึ่งได้มีการศึกษาพบว่า “ขิง” หรือชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber officinale Rosc. มีสารหลายชนิดที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ และมีการทดลองพบว่า น้ำขิงต้ม ทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจ (Macrophage) จับกินไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงคุณค่าภูมิปัญญาอันเก่าแก่ในการใช้ประโยชน์จากขิง
“ขิง” จึงเป็นสมุนไพรแนะนำสำหรับการใช้เป็นเครื่องดื่มในฤดูกาลนี้ เพราะขิงเป็นสมุนไพรที่หาง่าย มีความปลอดภัยสูง ใช้กันมานาน คนทั่วไปคุ้นเคย กินง่าย ทำได้เอง ปัจจุบัน ขิง บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และองค์การอนามัยโลกรับรองในการรักษาหวัด แต่ก็มีข้อจำกัดในการใช้ในคนท้อง และรับประทานยาก ควรซื้อจากบริษัทผู้ผลิตที่มีการควบคุณภาพที่ดี ในกรณีที่เป็นหวัด น้ำขิงที่ต้มเองจะดีที่สุด เพราะสามารถตั้งตำรับของเราเองได้ตามใจชอบด้วย
แม่หมอสมุนไพร บอกว่า ฤดูหนาว เป็นช่วงเวลาของ “วาตะธาตุ” หรือ ธาตุลม มีลักษณะเย็นและแห้ง ส่งผลกระทบต่อธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ประกอบขึ้นเป็นชีวิตของคนเรา ใครที่มีธาตุทั้งสี่สมดุล ก็อาจจะมีภูมิต้านทานกับการเปลี่ยนแปลงแห่งฤดูกาลได้มากกว่าคนอื่นๆ
สำหรับคนที่มีวาตะธาตุเป็นเจ้าเรือน คือ คนที่ผอมแห้งแรงน้อย หรือคนชราก็จะยิ่งได้รับผลกระทบมากกว่าคนอื่นๆ และรวมทั้งวัยเด็กที่มีเสมหะอันมีลักษณะเย็นชื้นเป็นเจ้าเรือน ธาตุไฟซึ่งอ่อนแรงอยู่แล้วก็จะยิ่งอ่อนแรงลงไป ธาตุน้ำและธาตุลมก็จะยิ่งกำเริบร่วมกันเสมหะก็จะเหนียวและแห้ง คนจะเจ็บป่วยด้วยอาการหวัดและไอแห้งๆ รวมทั้งมีการกำเริบของหอบหืด ซึ่งเป็นผลพวงแห่งการมาเยือนของฤดูหนาว ดังนั้น ในเด็กและคนชราจึงเป็นกลุ่มคนที่จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดในฤดูกาลนี้ และหนึ่งในสมุนไพรที่จะช่วยเพิ่มธาตุไฟในหน้าหนาวก็คือ “ขิง” นั่นเอง
ลองทำน้ำขิงดื่มเองที่บ้านง่ายๆ
ส่วนผสม
ขิงแก่สด 1 ถ้วย
น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำสะอาด 3 ลิตร
วิธีทำ
1. ล้างขิงให้สะอาด แล้วนำมาทุบให้พอบุบๆ โดยไม่ต้องขูดเปลือกทิ้ง
2. ต้มขิงกับน้ำให้เดือดแล้วลดไฟลง เคี่ยวด้วยไฟอ่อนไปเรื่อยๆ จนน้ำขิงกลายเป็นสีเหลือง
3. เติมน้ำผึ้งตามชอบ