'ยิ่งลักษณ์'ควบกลาโหมลดแรงกระเพื่อม
นายกฯ ควบรมว.กลาโหม สยบแรงกระเพื่อม ดึง "ยุทธศักดิ์" มือขวา-ซื้อใจขุนทหาร
แทบจะ 100% แล้วที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม(รมว.กลาโหม) อีกเก้าอี้ หากเป็นจริงตามโผหลายสำนักที่แพร่สะพัดออกมาก็จะทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สร้างประวัติศาสตร์ทางการเมืองหน้าใหม่อีกครั้งด้วยการเป็น "รมว.กลาโหมหญิง" คนแรกของประเทศไทย และถือเป็นเจ้ากระทรวงกลาโหมคนที่ 60
อย่างไรก็ตาม หากนับเฉพาะ "นายกฯ พลเรือน" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เป็นนายกฯ พลเรือนคนแรกที่ควบเก้าอี้รมว.กลาโหม โดยก่อนหน้านี้เคยมีนายกฯ พลเรือนนั่งควบกลาโหมมาแล้ว 3 คน คือ นายชวน หลีกภัย ,นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งแต่ละคน แต่ละยุคก็มีเหตุผลแตกต่างกันออกไป
เช่น ในยุคของนายชวน ซึ่งควบกลาโหม เพราะต้องการกระชับอำนาจทางการเมือง ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นนักกับกองทัพในยามนั้น ขณะที่ยุคนายสมัคร และนายสมชาย มีเหตุผลใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ต้องการนั่งควบเอง เพราะต้องการสยบแรงกระเพื่อมจากแคนดิเดทในพรรค และไม่ต้องการตั้งคนในฝั่งของตัวเองเพื่อตั้งตนเป็น "ศัตรู" กับขุนทหารที่ยังทรงอำนาจ
ส่วนในกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีกระแสข่าวว่า จะมานั่งควบรมว.กลาโหม ตั้งแต่ปลายปี 2555 แต่ช่วงแรกๆ ยังมีกระแสต่อต้าน เพราะกองทัพยังไม่เห็นด้วยที่จะแต่งตั้งผู้หญิงให้ขึ้นคุมกองทัพ และมองว่า การที่เป็นพลเรือนอาจไม่เข้าใจธรรมเนียม และปัญหาความต้องการของทหารดีพอ
ทว่า หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก้าวขึ้นมาครองเก้าอี้รมว.กลาโหม จริง นาทีนี้กระแสต่อต้านคงแทบจะไม่มี เพราะตลอดการทำงานในรอบเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา นายกฯ หญิงสามารถทำงานเข้าขา และสอดรับกับกองทัพได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ที่มีการประชุมแก้ปัญหาร่วมกันมาตลอด และเคยลงพื้นที่ทำงานมาด้วยกันหลายครั้ง
นอกจากนี้ ข้อดีของการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะควบรมว.กลาโหม อีกตำแหน่ง คือ การสยบแรงกระเพื่อมของแคนดิเดทที่เป็นขุนทหารในพรรคเพื่อไทยที่แต่ละคนต่างสวมรองเท้าจ๊อกกิ้งเข้าหา "นายใหญ่" กันแทบไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในระหว่างพำนักที่ประเทศสิงคโปร์ สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้นายใหญ่ไม่น้อย เพราะบ้างก็เป็นเพื่อน บ้างก็เป็นตั๋วฝากจากผู้มีอุปการะคุณ
ทั้งนี้ ในช่วงก่อนหน้านั้นเคยมีกระแสข่าวการทาบทามให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สละเก้าอี้ผบ.ทบ.1 มานั่งเป็นรมว.กลาโหม โดยสูตรนี้มีการพูดคุยกันในวงแคบ ๆ ของฝ่ายการเมือง เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น "ตัวประสาน"ให้ประเทศชาติเกิด "ความปรองดอง" ซึ่งทั้งนายกฯ และนายใหญ่ก็เห็นพ้องต้องกันกับสูตรสมานฉันท์ที่ว่านี้
ต่อมา เมื่อสูตรดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบด้วยจากเจ้าตัว คือ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เริ่มมีแคนดิเดทเพิ่มขึ้นอีกหลายคน เช่น พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต รมช.คมนาคม (เพื่อนตท.10) ที่ได้รับการผลักดันจาก “ลูกโอ๊ค” หรือนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ พ.ต.ท.ทักษิณ
หรือ พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ อดีตหน่วยข่าวของศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) ที่เป็นเพื่อนรักตท.5 ของ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็มีชื่อส่งเข้าประกวดด้วย
เมื่อแคนดิเดตในตำแหน่งรมว.กลาโหม มีมากกว่าหนึ่ง เพราะในพรรคเพื่อไทยมีการดึงอดีตขุนทหารเข้ามาร่วมชายคามากมาย เฉพาะตท.10 เพื่อนร่วมรุ่นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็หลายสิบนาย ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตัดสินใจต่อสายถึงนายใหญ่ เพื่อหาทางสยบแรงกระเพื่อมที่จะกลายเป็น "คลื่นใต้น้ำ" ในอนาคต ด้วยการนั่งควบตำแหน่งรมว.กลาโหม เสียเอง
อย่างไรก็ตาม การมานั่งเก้าอี้รมว.กลาโหม ที่แวดล้อมด้วยขุนทัพผู้เจนศึกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรื่องการทหารเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะที่ "คนนอก" ไม่อาจจะเรียนลัดได้โดยง่าย ดังนั้น นายกฯ หญิงจึงต้องใช้ "ตัวช่วย" ในการแบ่งเบาภาระงาน คอยให้คำปรึกษา และเชื่อมประสานกับขุนทหารในกองทัพได้เป็นอย่างดี
คนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเหมาะสมที่สุดไม่ใช่ใครอื่น นอกจาก “บิ๊กอ๊อด” พล.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.กลาโหม ที่จะได้กลับเข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เพื่อสร้าง “คอนเนคชั่น” เชื่อมโยงระหว่างกองทัพกับรัฐบาล และเลยไปถึง "บ้านสี่เสาฯ" เพื่อลดแรงเสียดทานทางการเมืองที่จะก่อตัวแรงขึ้นหลังเปิดสภาฯ ในเดือนสิงหาคม นี้
นอกจากภารกิจข้างต้นแล้ว นายใหญ่ยังวางตัวให้บิ๊กอ๊อดเข้ามาร่วมหารือกับกองทัพในการจัด "โผทหารกลางปี" ที่จะมีขึ้นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า เพื่อหาทางจัดระเบียบกองทัพ และสร้างสมดุลทางอำนาจระหว่างทหารกับฝ่ายการเมือง เพื่อรักษาบัลลังก์อำนาจไว้ให้นานที่สุด ท่ามกลางวิกฤติการเมืองที่มักจะมีทหารเข้ามามีส่วนร่วมในความ "เปลี่ยนแปลงทางการเมือง" แทบทุกครั้ง