รัก(ษ์)ป่าน่าน
ยุทธศาสตร์พลิกฟื้นคืนป่าเมืองน่าน เพื่อรักษาผืนป่าต้นน้ำที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยเอาไว้
ผิวลูกรังถูกเกลี่ยราบเป็นแนวถนนเลียบสันเขา "ตัดใหม่" เพื่อพัฒนาเส้นทางสู่ "ด่านห้วยโก๋น" อนาคตเส้นทางสายเศรษฐกิจอีกแห่งของประเทศ ท่ามกลางพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเศรษฐกิจของชาวบ้านที่มองเห็นได้ไกลสุดตา
"เมื่อก่อนตรงนี้ ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์" พันตรี ชัยเดช พรมศิริ นายทหารกิจการพลเรือน ศูนย์ประสานงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดทหารบกน่าน (ศปร. จทบ. น.น.) ย้อนสภาพพื้นที่ "สู้รบ" สมัยก่อนของบริเวณ หมู่ 3 บ้านน้ำยาวปัจจุบัน
เหตุการณ์นั้น ถือเป็นจุดกำเนิดของถนนคั่นเขต อ.สันติสุข และ อ.ปัว เส้นนี้ ภายหลังสถานการณ์คลี่คลาย แนวทิวเขาสลับซับซ้อนจึงกลายเป็นที่ทำกิน ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่กว่าร้อยละ 87.2 ของพื้นที่เป็นภูเขา เกษตรที่สูงจึงสามารถพบเห็นได้ทั่วไป พอๆ กับการหักร้างถางพงเพื่อเปิดพื้นที่ทำกินใหม่ จุดเริ่มต้นของการทำลายป่าน่านที่เรื้อรังมาหลายปี
จนวันนี้ ตัวเลข 24 เปอร์เซ็นต์ของต้นไม้ที่หายไปจากป่ากำลังกลายเป็นปัญหาที่เริ่มส่งผลกระทบอย่างคาดไม่ถึง
-1-
ถึงแบบเรียนสังคมศึกษาจะทำให้เรารู้ว่า แม่น้ำเจ้าพระยา เกิดจากแม่น้ำ 4 สาย ได้แก่ ปิง วัง ยม น่าน ไหลมาบรรจบกันที่ ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ แต่ระหว่างบรรทัดนั้นไม่ได้พูดถึงต้นน้ำน่าน ที่ถูกจัดลำดับความสำคัญระดับ "หัวใจ" ของระบบน้ำเมืองไทย เพราะปริมาณกว่าร้อย 40 ในท้องน้ำเจ้าพระยา ไหลมาจากที่นี่
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หากป่าต้นน้ำน่านหมด จะเกิดอะไรกับคนกลางน้ำ หรือปลายน้ำบ้าง
ข้อมูลอาณาบริเวณตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า 6,435,792 ไร่ หรือ 84 เปอร์เซ็นต์ของจังหวัดเป็นพื้นที่ "ป่า" แต่การหายไปของป่ากว่า 1.5 ล้านไร่ตลอดระยะเวลาครึ่งศตวรรษด้วยอัตราความเร็วแบบก้าวกระโดดคงไม่ใช่เรื่อง "ปกติ" นัก
การหายไปของ "ที่ป่า" 17,942 ไร่ต่อปีเมื่อ 2507 เพิ่มเป็น 52,947 ไร่ต่อปีระหว่างปี 2547 - 2551 ก่อนจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว หรือราว 125,402 ไร่ต่อปี ในปีช่วง 6 ปีหลัง
ที่สำคัญ ป่าเหล่านั้นนั้นไม่ได้ถูกเอาไป "ขาย"
"แต่เป็นเรื่องความจำเป็นในการทำกินของคนในพื้นที่" บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย ผู้สนับสนุนหลักของงานสัมมนาวิชาการเชิงปฏิบัติการ "รักษ์ป่าน่าน" อธิบายถึง "โจทย์" ที่เกิดขึ้น
เขาชี้ให้เห็นราคาข้าวโพดที่พุ่งจาก 3 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2537 ไปแตะที่ 9 บาท ต่อกิโลกรัมในปี 2555 หรือค่ายางพาราจาก 20 บาทต่อกิโลกรัมขึ้นไปเป็น 80 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2554 ขณะที่การนำเข้ายากำจัดศัตรูพืช และสัตว์ก็มีมูลค่าเพิ่มกว่า 15,000 ล้านบาทตลอด 19 ปีที่ผ่านมาตามรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่สัดส่วนของป่าสวนทางกับมูลค่าของพืชเศรษฐกิจอย่างชัดเจน
"ไม่ถางป่าแล้วเราจะเอาอะไรกิน" คำตอบนี้ของชาวบ้านจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างปี 2548 - 2552 พื้นที่ป่าไม้น่านถูกแผ้วถางเผาทำลายเพื่อการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว อย่างข้าวโพด เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว จาก 3 แสนไร่เป็น 9 แสนไร่ ภายในเวลาเพียง 4 ปี ทำให้น่านเป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวโพดมากเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือไปโดยปริยาย
เกิดรายได้ ย่อมต้องมีรายจ่าย
สิ่งที่น่านต้อง "แลก" กับพื้นที่ธุรกิจเกษตรก็คือ มลพิษทางอากาศ หมอกควันจากการเผาเตรียมพื้นที่การเกษตร ดินเสื่อมด้วยสารตกค้างจากการใช้เคมีการเกษตร น้ำปนเปื้อนสารเคมี และเต็มไปด้วยตะกอนจากการชะหน้า ดินร้อยละ 75 ของชาวอ.สองแคว สุขภาพเสื่อมโทรม ด้วยสารพิษในเลือดสูงกว่าระดับปกติธรรมดาถึง 5 เท่า แนวลุ่มน้ำเกิดอุทกภัยรุนแรงซ้ำซาก และพื้นที่เกษตรกลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม
ขณะที่คุณภาพชีวิตของพวกเขาก็ไม่ได้ดีขึ้น...
-2-
รายงานจากมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริพบว่า ชาวน่านยังต้องซื้ออาหารจากภายนอกถึงปีละ 1,689 ล้านบาท ปัญหาที่สั่งสมเหล่านี้ ทำให้คนน่านมีรายจ่ายสูงกว่ารายรับ และมีหนี้สินสูงถึง 127,524 บาทต่อครัวเรือน ส่งผลให้น่านเป็นจังหวัดที่มีภาวะความยากจนสูง รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรต่ำเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ และสัดส่วนคนจนสูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรในจังหวัด นับเป็นลำดับที่ 2 ของภาคเหนือ และเป็นลำดับที่ 3 ของทั้งประเทศ
ป่ากับปากท้องจึงกลายเป็นคำถาม และคำตอบร่วมที่มีความซับซ้อนอยู่ในตัวเองอย่างแท้จริง
ปัจจุบันการรักษาการรักษาสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรป่าไม้เป็นความจำเป็นสำหรับทุกคนในโลก...
ข้อความบางช่วงในบทพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง การสร้างสำนึกให้เด็ก และเยาวชนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สะท้อนให้เห็นถึงความห่วงใย และความจำเป็นในการฟื้นฟูป่าไม้ให้กลับคืนสู่สมดุลให้เร็วที่สุด จนกลายเป็นที่มาของโครงการอนุรักษ์ป่าไม้ในพื้นที่จังหวัดน่าน ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีงานสัมมนา "รักษ์ป่าน่าน" เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการวางแผนยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ป่าเมืองน่าน
ผู้บริหารธนาคารกสิกรคนเดิมเผยถึงแนวทางแก้ไขเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับงานอนุรักษ์ด้วยการประเมินผลเชิงคณิตศาสตร์รายปีให้เห็นชัดเจนของระบบดาวเทียมไทยโชต โดยแบ่งพื้นที่การทำงานลงรายละเอียดถึงระดับตำบล โดยให้นายก อบต. กำนัน และประธานสภาองค์กรชุมชนทำงานประสานกัน ขณะเดียวกันก็สรรหาองค์กรหรือหน่วยงานที่มีความรู้ไปสนับสนุน เน้นเรื่องการบริหารดิน-น้่ำ พันธุกรรมศาสตร์ การตลาด รวมทั้งการจัดการท้องถิ่น
"ต้องมองให้มากกว่าเป็นโครงการปลูกป่า สามารถวัดผลให้ตัวเราเองได้ว่า สอบได้ หรือสอบตก และถ้าวันนี้ยังไม่มีการมองเห็นว่านี่เป็นปัญหาระดับชาติ การสูญเสียป่าต้นน้ำก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน" บัณฑูรย้ำ
แน่นอนว่า วันนี้จังหวัดก็เริ่มขยับลงมาเล่นเรื่องนี้อย่างเต็มตัวจาก วาระจังหวัดน่านพ.ศ.2556-2560 ที่ตั้งใจแก้ปัญหา สถานการณ์ป่าไม้ ปัญหาไฟป่า และหมอกควัน คน และอาชีพด้วยการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"ศาสตร์ของพระราชา" ที่มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นำมาใช้กับพื้นที่โครงการนำร่องก็ถือเป็นรูปธรรมอีกอย่างหนึ่ง ตั้งแต่หลักการ "ลดการใช้พื้นที่ป่า" ด้วยการขยายผลในพื้นที่เดิม พร้อมๆ กับการถ่ายทอดความรู้แวดล้อมควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ดิน น้ำ ตลอดจนเมล็ดพันธุ์
"ผมใช้ศาสตร์ของพระราชามาทำให้เห็นว่าเป็นไปได้" ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิ ปิดทองหลังพระฯ ประกาศเอาไว้อย่างชัดเจน
-3-
จากการปลูกป่าที่เริ่มจากการปลูกคน ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตามมาด้วยวิธีปลูกป่าตามศาสตร์ของพระราชา คือ "ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง" "การปลูกไม้โตช้าและไม้โตเร็ว" และ "การปลูกป่าแบบไม่ปลูก" ร่วมกับศาสตร์ของพระราชินีคือ "ปลูกป่าเสริมธรรมชาติ" และการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยแก้ปัญหาทั้งลุ่มน้ำเป็นหลัก ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
วันนี้ "ฝายถาวร" ที่ บ้านมอญ หมู่ 3 ต.วรนคร อ.ปัว ที่เพิ่งจัดงานผ้าป่าสามัคคีปลูกป่า ปลูกคน ไปหมาดๆ กลายเป็นอีกตัวอย่างรูปธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่จะช่วยลดการตัดไม้ยืนต้นกว่า 3,500 ต้นต่อปีเพื่อมาซ่อมฝายตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาของชาวบ้าน
พอๆ กับความหวังในการมีน้ำใช้ในการเกษตรตลอดปีของ พร วิถาน ตัวแทนเกษตรกรบ้านมอญให้สัญญาด้วยรอยยิ้มหากมีน้ำ ก็ไม่ต้องตัดไม้
ตัวแปรสำคัญอีกจุดหนึ่งของ "รักษ์ป่าน่าน" ก็คือ "เยาวชน"
"ผมอยากให้ผู้ใหญ่ลองฟังพวกเขาบ้าง" ยุทธภูมิ สุประการ จากกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 เผยความรู้สึกถึง ชิ้นงานศิลปะที่บรรดาลูกศิษย์ของเขาช่วยกันสร้างสรรค์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสีสันบนผืนผ้าใบ บทกลอน และเสียงเพลงประกอบชุดละครสั้น ทั้งหมดก็เพื่อส่งเสียงการอนุรักษ์ป่าบ้านเกิดผ่าน "กระบวนการศิลปะ"
เหมือนกับฐานการเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ของโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดนิโครธารามของ พระคงศิลป์ ภทฺทราวุโธ ก็ยึดหลัก การเชื่อมโยงธรรมะกับธรรมชาติให้เห็นว่า ป่า-น้ำ-คน-สัตว์ ล้วนเป็นกลไกธรรมชาติที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน
"โดยส่วนใหญ่แล้ว สามเณรก็จะสึกออกไป เพื่อประกอบอาชีพ ก็คือ ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน เหมือนกับพ่อแม่ ตรงนี้เราก็จะเตรียมเพื่อปลูกจิตสำนึกในเบื้องต้นเป็นฐานเอาไว้"
หรือสื่อการสอน "หนังสือเล่มเล็ก" ของ ศศิมล สกุลไทยเทียนชัย ครูโรงเรียนบ้านน้ำยาว ก็มีเป้าหมายไม่ต่างกัน
"ถ้าวันนี้เราไม่ช่วยกัน อนาคตเราก็คงไม่มีป่าเหลือค่ะ" จิราพร อัศวนันทการ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 บอกถึงใจความสำคัญผ่านบทกวีที่อยากให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่องของธรรมชาติโดยเฉพาะป่าไม้ให้มากขึ้นเพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันกับคนทุกคน
ที่สุดแล้ว คงต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าจะเป็น ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ เราล้วนได้รับผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงด้วยกันทั้งสิ้น