‘หมอผิง ธิดากานต์’ ว่ากันว่าเธอทรงอิทธิพล
บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ทั้งยังติดโผรายชื่อผู้ทรงอิทธิพลด้านสุขภาพในโซเชียลมีเดีย ย่อมยืนยันถึงความไม่ธรรมดา
หากคุณเป็นตัวจริงเสียงจริงในแวดวงคนรักสุขภาพ โดยเฉพาะด้านความสวยความงามและ Anti-Aging จะต้องคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับชื่อ แพทย์หญิงธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือหมอผิง อินฟลูเอนเซอร์ด้านสุขภาพในโซเชียลมีเดียด้วยยอดผู้ติดตามในทวิตเตอร์กว่า 1.54 แสนคน อินสตาแกรมอีกกว่า 6 หมื่นคน ไม่รวมถึงการเป็นพิธีกรและแขกรับเชิญทางหน้าจอโทรทัศน์อีกนับไม่ถ้วน
คุณหมอหน้าใสวัย 30 นี้ยังเป็นนักเขียนมือฉมัง สร้างสรรค์ผลงานพอคเก็ตบุ๊คมาแล้ว 14 เล่ม ทั้งเป็นคอลัมนิสต์ให้กับสื่อต่างๆ ด้วยเสน่ห์ความน่าหลงใหลของตัวหนังสือ ล่าสุดตัดสินใจเปิดสำนักพิมพ์เป็นของตัวเองในชื่อ Pleasehealth
๐ คิดอย่างไรกับการเป็นผู้ทรงอิทธิพลฯ?
การเป็นอินฟลูเอนเซอร์กับคนกลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่งที่ตามเรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องที่ดีใจ ภูมิใจที่ได้แชร์ข้อมูลสุขภาพให้คนรับรู้และทำตาม ยิ่งถ้าได้ผลดี เช่น น้ำหนักลด สุขภาพดีขึ้น ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งที่เงินซื้อไม่ได้ ข้อมูลส่วนใหญ่ในทวิตเตอร์จะเป็นงานวิจัย ข่างสารทางการแพทย์ที่บอกเล่าได้แค่ 140 ตัวอักษร เช่น งานวิจัยในหนูกับอาหารไขมันสูงทำให้สมองแย่ลง สรุปได้แค่นี้แล้วแปะลิงค์ให้ไปอ่านต่อ จะเป็นการทำให้สังคมโซเชียลมีคุณภาพมากกว่า
ถ้าเราทำแบบนี้ใส่กัน สมมติคุณเป็นเกษตรกรก็แนะนำการปลูกถั่วงอก คนตามจะได้ความรู้ไปด้วย ส่วนในอินสตาแกรมจะเป็นอาหารเช้าเพื่อสุขภาพ จะใช้เวลาว่างจากการตรวจคนไข้ แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องทำวันละเท่าไร บางช่วงยุ่งไม่ทวิตก็มี แล้วแต่สะดวก แต่ถ้าไปต่างประเทศจะบอกกล่าวคนที่ติดตาม
๐ ย้อนกลับไปชีวิตวัยเด็กเป็นอย่างไร?
พื้นฐานครอบครัว เป็นลูกคนจีนเกิดและโตที่เยาวราช คุณพ่อคุณแม่ทำธุรกิจขายของเด็กเล่น สมัยเด็กๆ จะเป็นที่อิจฉาของเพื่อนมากเพราะมีของเล่นตลอด โชคดีโตมาในครัวครัวที่อบอุ่นที่เลี้ยงลูกเหมือนเป็นเพื่อน เปิดโอกาสให้ได้พูดคุย แสดงความคิดเห็น ไม่ได้เข้มงวด ให้อิสระทางความคิดมากพอสมควร อาจเป็นเพราะคุณแม่ไปเรียนไต้หวันตั้งแต่เด็กเหมือนเด็กนักเรียนนอก จึงเป็นคนหัวสมัยใหม่
สมัยเด็กเป็นคนดื้อ เกเรแต่เรียนดี ชอบโดดเรียนพิเศษ อยู่โรงเรียนก็ต้มมาม่ากินหลังห้อง เล่นไพ่ ฯลฯ ที่ไม่น่าเชื่อว่าเด็กเรียนจะทำกัน (หัวเราะ) แต่ไม่ถึงขั้นสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เล่นยาหรือท้องก่อนเรียนจบ ถ้าเทียบกับเด็กสมัยนี้ถือว่าเฮี้ยวน้อยกว่ามากๆ แต่ก็เคยเป็นหัวหน้าห้อง ทำกิจกรรมต่างๆ ตามเรื่องตามราว
๐ ทำไมเลือกเรียนแพทย์?
คุณพ่ออยากให้เป็นแพทย์ ส่วนตัวเองตอนเด็กอยากเป็นหลายอย่าง ทั้งสถาปนิก นักโบราณคดี นักเขียน พิธีกรรายการโลนลี่แพลนเน็ต พิธีกรซีเอ็นเอ็น ฯลฯ พอมัธยมปลายก็เลือกเรียนสายวิทย์-คณิต เพราะชอบวิชาชีววิทยากับเคมี ในสมัยนั้นเป็นการสอบเอนทรานซ์ อาจารย์แนะแนว แนะนำให้เลือกแพทย์ บวกกับว่าคุณพ่อสนับสนุนจึงเลือกเลือกแพทย์อันดับหนึ่ง ตามมาด้วยทันตแพทย์ บัญชีและรังสีเทคนิค
ในใจอยากติดบัญชีเหมือนกันเพราะที่บ้านทำธุรกิจ ปรากฏว่าสอบติดแพทย์รามาที่เลือกไว้อันดับแรก เหตุผลที่เลือกก็โรงเรียนพาไปดูงานที่คณะแพทย์รามาฯ ได้พบกับ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รู้สึกประทับใจกับ ทรงผมสีแดง ชอบมาก เท่มาก ถือว่าเป็นไอดอลในใจคนหนึ่ง และรู้สึกว่าอยากเรียนกับท่านจึงเลือกรามาฯ
๐ เหตุใดจึงสนใจด้านชะลอวัย?
พอเรียนต่อเฉพาะทางเลือกด้านผิวหนังและชะลอวัย โดยดูหลายอย่างประกอบการตัดสินใจ ไม่ได้ดูแค่เนื้อหาหรือความชอบเท่านั้น แต่ดูว่าอยากจะใช้ชีวิตอย่างไร เพราะตนเองอยากมีชีวิตหลายๆ ด้าน คือทำงานเป็นหมอรักษาคนไข้ แต่ก็อยากมีเวลาส่วนตัว ตื่นเป็นเวลานอนเป็นเวลา เพราะรู้ตัวว่า เวลานอนไม่พอแล้วจะเบลอ เครียด หงุดหงิดทำให้ชีวิตส่วนตัวจะพังไปด้วย
ฉะนั้น คงทำงานในสาขาหนักๆ ไม่ได้ เช่น ศัลยกรรมสมอง สูติ หรือแม้แต่หมอเด็ก จึงเลือกดูว่าสาขาที่ทำงานเป็นเวลามีอะไรบ้าง ก็เหลือ ตาหูคอจมูก ผิวหนังและชะลอวัย จากนั้นก็ดูเนื้อวิชาว่า เราชอบอะไรจึงมาจบตรงผิวหนังและชะลอวัย
๐ เป็นสาวเพอร์เฟคชั่นนิสต์ไหม?
ในการตรวจรักษาต้องเพอร์เฟคชั่นนิสต์จริงๆ อย่างการทำเลเซอร์มีขั้นตอนที่ต้องเข้มงวด เพราะถ้าพลาดอาจทำให้คนไข้เสี่ยงจากโน่นนี่นั่น อย่างนี้ต้องเพอร์เฟคชั่นนิสต์กับขั้นตอนต่างๆ แต่ในบางเรื่อง เช่น การทำหนังสือจะเพอร์เฟคชั่นนิสต์ไม่ได้เลยเพราะต้องทำงานร่วมกับหลายๆ คน เราเดดไลน์ส่งต้นฉบับวันนี้ แต่นักเขียนดีเลย์ไป 2 อาทิตย์ หรือเราวาดภาพไว้ในใจแบบนี้แต่ภาพที่กราฟฟิกดีไซเนอร์ออกแบบอาจไม่ตรงใจ 100% ทุกสิ่งอย่างคงเป็นไปไม่ได้
ถ้าถามว่าเป็นคนเพอร์เฟคชั่นนิสต์ไหม มีบ้างในบางเรื่องแต่ไม่มาก ถ้าคะแนนเต็ม 10 ก็แค่ 7.5% ยกตัวอย่าง ออกกำลังกายก็มีบางวันที่หย่อนไปบ้าง เวลาปาร์ตี้กับเพื่อน เขาสั่งอะไรกันก็รับประทานได้ ไม่จำเป็นต้องคลีนฟู้ดตลอด 24 ชั่วโมง เสื้อไม่ต้องรีดเรียบมากก็ได้ แต่รองเท้าก็ต้องเข้ากับเสื้อ (หัวเราะ)
๐ อะไรที่ทำให้คนเป็นหมอมีอัตตาสูง?
ต้องยอมรับว่าคนที่เรียนแพทย์ได้นั้น พื้นฐานต้องเป็นเด็กเรียนเก่งมาก และโดยสังคมไทยเด็กที่เรียนเก่งมักจะได้รับการชื่นชมมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เด็กจนโต พอโตมาอาชีพแพทย์คืออะไร อาชีพแพทย์คือ สั่ง เขาเขียนว่า Doctor's orders ออกคำสั่งจนชิน ฉะนั้น ลักษณะอาชีพค่อนข้างส่งเสริมให้มีอีโก้พองโต
หมอไม่รู้ตัวหรอกจนจุดหนึ่งที่รู้สึกว่า ตนเองมีอีโก้ที่พองโตมากแต่ก็โชคดีที่มีคนข้างๆ เตือน และโชคดีที่เคยล้มเหลวมาหลายครั้ง ทำให้หันมาทบทวนตนเองว่า เกิดจากอะไร เพราะชะล่าใจ ประเมินตัวเองใหญ่ไปก็เลยพลาด จนมาถึงทุกวันนี้ถึงจุดนี้คิดว่า อายุใกล้เลขสี่แล้วอีโก้ไม่ค่อยพองตัวเท่าไร เพราะได้เรียนรู้ประสบการณ์ทั้งความสำเร็จและล้มเหลวมาแล้ว ทุกอย่างมันเป็นไปตามธรรมชาติ ในความเป็นจริงไม่มีใครประสบความสำเร็จไปทุกอย่าง
๐ แรงบันดาลใจที่ทำให้เขียนหนังสือ?
เมื่อ 7-8 ปีมาแล้ว ช่วงเวลานั้นหนังสือสุขภาพของไทยที่เขียนโดยแพทย์ยังวางแผงไม่มาก และยังไม่ได้เป็นช่วงที่กระแสสุขภาพมาแรงเหมือนทุกวันนี้ จึงถือเป็นยุคบุกเบิก อีกทั้งหนังสือสุขภาพส่วนใหญ่กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป แต่เรามองว่ากลุ่มเป้าหมายควรจะอายุ 20 ปีมากกว่า จึงพยายามเขียนเพื่อสื่อสารให้วัยรุ่นและเด็กลงเรื่อยๆ ในแต่ละเล่ม
๐ ทั้งตรวจคนไข้ งานเขียนและสำนักพิมพ์ จัดการเวลาอย่างไร?
ถ้าทำในสิ่งที่รัก มันจะนำไปสู่เป้าหมาย คนเรามีความชอบไม่เหมือนกัน บางคนเล่นเฟซบุ๊ค 1 ชั่วโมงเพื่อดูว่าเพื่อนทำอะไร ที่ไหน อย่างไร บางคนกลับบ้านนอนดูทีวี 2 ชั่วโมง ส่วนหมอไม่ดูละคร ไม่เล่นเฟซบุ๊ค ใช้เวลาช่วงกลางคืนหลังเลิกงาน 2-3 ทุ่มแต่ไม่เกิน 4 ทุ่มเขียนหนังสือ ทำให้ 7-8 ปีที่ผ่านมามีพอคเก็ตบุ๊คออกมา 14 เล่ม เฉลี่ยปีละ 2 เล่ม
สำหรับหนังสือเล่มล่าสุดชื่อ “อวัยวะที่ถูกลืม” จะพูดถึงกลุ่มแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของเราทุกคน หลายคนไม่เคยทราบว่ามันสำคัญกับพวกเรามาก ฉะนั้น ต้องเริ่มต้นจากการทำความรู้จักก่อนว่าอวัยวะที่ถูกลืมหรือแบคทีเรียเหล่านี้คืออะไร แล้วเราก็จะเรียนรู้วิธีที่จะดูแลเพื่อที่จะทำให้สุขภาพดีขึ้น
ส่วนแรงบันดาลใจที่ทำสำนักพิมพ์ Pleasehealth คือรู้สึกอยากคลอดลูกแล้วเลี้ยงเองมากกว่าเป็น(แม่)อุ้มบุญ (หัวเราะ)
๐ ดูแลสุขภาพในแบบหมอผิง?
เน้นมากเรื่องการมีวินัย นอนให้พอ นอนไม่ดึก ตื่นเช้ามาออกกำลังกาย ทำอาหารเช้าเอง มื้อเย็นอย่ากินดึก คือเราสอนคนไข้อย่างไรก็ทำแบบนั้น ส่วนเรื่องออกกำลังกายก็ออกพอสมควร ด้วยการวิ่งสายพาน วิ่งเอาท์ดอร์ หรือวิ่งอิเล็กติเคอร์ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ครึ่งชั่วโมง เล่นเวท 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที หรือไม่ก็ชกมวยใช้เวลา 60 นาที เล่นสควอช สลับกับ พิลาทีส พยายามไม่เครียดกับงาน ถ้าวันไหนไม่ออกกำลังกายก็ทำท่าเพลงอรหันต์ 5 นาทีหลายท่าติดต่อกัน
ส่วนการดูแลทางสุขภาพใจพยายามหาหนังสือธรรมะหรือไปปฏิบัติธรรม เพราะชีวิตมีทั้งสุขและทุกข์ สุขก็อย่าสุขมาก อย่าพองมาก ทุกข์ก็อย่าทุกข์มาก เพราะจริงๆ สุขทุกข์ สุขทุกข์ สุขทุกข์ สลับกันเรื่อยๆ ไม่เคยมีสุขถาวรหรือทุกข์ถาวร
คติธรรมทิ้งท้ายจากหมอผิง หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลในโซเชียลมีเดีย ที่ให้ความสำคัญมากที่สุดกับสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันคือ การเป็นหมอกับการเขียนหนังสือ