บริษัทที่ปฏิวัติโต๊ะอาหารของประเทศญี่ปุ่น (1)
ผมชื่อ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP (ซีพี) ย่อมาจาก Charoen Pokphand
ซึ่งแปลเป็นภาษาจีนว่า “ผู่เฟิง” ซีพี เป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีธุรกิจหลัก 3 กลุ่มได้แก่กลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจค้าปลีก (ร้านสะดวกซื้อ) และ กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม คุณพ่อของผมเป็นผู้ก่อตั้ง “ร้านเจียไต๋” ผมเป็นผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ รุ่นที่ 3
เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี มียอดขายทั่วโลกมูลค่ารวมกว่า 45,000 ล้านดอลลาร์ (ข้อมูล ณ ปี พ.ศ.2558) กิจการในเครือฯ กระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ของทวีปเอเชีย เช่น ประเทศจีน และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวีปยุโรป และทวีปอเมริกา มีพนักงานทั้งสิ้นกว่า 300,000 คน เครือฯ เข้าไปลงทุนใน 20 ประเทศทั่วโลก และผลิตสินค้าส่งออกไปยังประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศ กล่าวได้ว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์คือบริษัทข้ามชาติ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำหรับชาวญี่ปุ่นหลายท่านๆ ที่ได้อ่านคำบรรยายข้างต้น อาจจะยังไม่เข้าใจว่า ซีพีคือบริษัทอะไร
แต่หากนึกถึงชั้นวางอาหารสำเร็จรูปในร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่น จะเห็นว่ามีสินค้าของซีพีอยู่ทั่วไป อาทิ อาหารสำเร็จรูปที่ผลิต จากเนื้อไก่และเนื้อหมู ซึ่งถูกบรรจุในถุงบรรจุอาหารที่มีการปิดอย่างมิดชิด หากท่าน ลองพลิกดูด้านหลังบรรจุภัณฑ์นั้น และเห็นตราสัญลักษณ์วงกลมสีเหลืองที่มี ตัวอักษร ซีพี สีแดงอยู่ในวงกลม นั่นก็คือสินค้าที่ผลิตโดย ซีพี ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่แปรรูปเป็นสินค้ากึ่งสำเร็จรูปในไทย แล้วส่งออกไปยังญี่ปุ่น ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ซีพี กับบริษัทอาหารและร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่น
เครือเจริญโภคภัณฑ์ ถูกขนานนามว่าเป็น “บริษัทที่ปฏิวัติโต๊ะอาหารของประเทศญี่ปุ่น” ซีพีเริ่มส่งออกเนื้อไก่ไปยังญี่ปุ่นตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 และในราวทศวรรษที่ 2520 หลังจากที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในประเทศไทยได้เริ่มธุรกิจเลี้ยงกุ้งจนประสบความสำเร็จแล้ว ซีพี ก็ได้เริ่มส่งออกกุ้งไปยังญี่ปุ่น ตั้งแต่นั้นมา ซีพี ก็ได้ขายเนื้อไก่และกุ้งในราคาที่เป็นธรรมให้ชาวญี่ปุ่น ทำให้ ไก่ทอดและกุ้งทอดกลายเป็นเมนูประจำบนโต๊ะอาหารของชาวญี่ปุ่น
ซีพี ยังได้เข้าไปลงทุนในประเทศจีน โดยใช้ชื่อบริษัทว่า “เจิ้งต้า” หลังจากจีนเริ่มเปิดประเทศในปี พ.ศ.2521 ซีพี เป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรกที่เข้าไปลงทุนในจีน อีกทั้งเป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรกที่ได้ จดทะเบียนการค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ตั้งแต่นั้นมา “เจิ้งต้า” กลายเป็นชื่อที่คุ้นหูของชาวจีน
ในประเทศจีนนั้น ซีพี ก็จัดเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีสัดส่วนการขายในจีนคิดเป็นเกือบ 40% ของยอดขายเครือเจริญโภคภัณฑ์ทั่วโลก สำหรับคำถามที่ว่า ทำไมบริษัทของไทยอย่าง ซีพี จึงสามารถเข้าไปดำเนินธุรกิจในจีนมากถึงขนาดนั้น คุณพ่อของผมมีส่วนอย่างสำคัญ
คุณพ่อของผมชื่อนายเจี่ย เอ็กชอ เป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่เกิดในมณฑลกวางตุ้ง คุณพ่อเดินทางไปหลายประเทศ ทั้งประเทศจีน ประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้ขยายกิจการออกไปเรื่อยๆ ด้วยการที่คุณพ่อมีเชื้อสายจีน เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับประเทศจีนไปด้วย
แม้ว่าผมและพี่น้องจะเกิดในประเทศไทย แต่คุณพ่อของผมก็ตั้งชื่อภาษาจีนให้ลูกๆ ทุกคน พี่ชายคนที่ 1 ของผมชื่อ “เจิ้งหมิน” พี่ชายคนที่ 2 ชื่อ “ต้าหมิน” พี่ชายคนที่ 3 ชื่อ “จงหมิน” และผมชื่อ “กั๋วหมิน” เมื่อนำคำ แรกของชื่อทั้ง 4 คนมารวมกัน จะได้คำว่า “เจิ้งต้าจงกั๋ว” [1]
คุณพ่อไม่เพียงแต่ส่งลูกๆ ไปเรียนในโรงเรียนไทย แต่ยังได้ส่งพวกเราไปเรียนในเมืองจีนด้วย ดังนั้น พี่น้องของผมทั้ง 12 คนจึงสามารถพูดภาษาไทยและภาษาจีน ได้อย่างคล่องแคล่ว และหลังจากที่พวกเราได้สืบทอดกิจการต่อจากรุ่นคุณพ่อ เรายังคง ติดต่อกับชาวจีนและชาวจีนโพ้นทะเลเรื่อยมา ซึ่งทำให้กิจการของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ขยายออกไปในทั่วประเทศจีนและประเทศ อื่นๆ ที่มีชาวจีนโพ้นทะเล
ที่สำคัญที่สุดคือประเทศไทยให้การสนับสนุนเครือเจริญโภคภัณฑ์ และยอมรับตระกูลเจียรวนนท์ที่เป็นคนต่างถิ่นย้ายมาพำนัก และให้โอกาสในการทำมาหากินอย่างเท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าในยุคหนึ่งประเทศไทยจะมีข้อขัดแย้งด้านการเมืองกับประเทศจีน แต่รัฐบาลไทยก็ไม่เคยขับไล่ชาวจีนโพ้นทะเลออกจากประเทศไทย
และในช่วงที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรมจีน ในประเทศจีน คุณพ่อของผมต้องสูญเสียกิจการที่ลงทุนในจีนไป แต่ที่เมืองไทยคุณพ่อของผมยังคงรักษากิจการของครอบครัวไว้ได้ นับว่าเป็นโชคดีของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่คุณพ่อของผมเลือกตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย หากวันนั้นคุณพ่อ เลือกตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศจีน เราอาจไม่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์เช่น ในวันนี้
ชาวจีนโพ้นทะเลได้เข้ามาตั้งรกราก ประกอบอาชีพ และดำเนินชีวิตในประเทศไทยได้อย่างมีความสุข เป็นเพราะคนไทยยินดีเปิดรับคนต่างชาติ ซึ่งผมหวังว่าประสบการณ์กว่าครึ่งชีวิตของผมจะเป็นประโยชน์และเป็นข้อคิดให้แก่คนรุ่นหลังได้ไม่มากก็น้อย
------------------------
[1] “เจิ้งต้า มาจากสุภาษิตจีน “เจิ้งต้า กวงหมิง” แปลว่า ซื่อสัตย์ ยุติธรรม เที่ยงตรง,“จงกั๋ว แปลว่า ประเทศจีน
----------------------
แปลและเรียบเรียงโดย :- คุณภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ - มร.หวง เหวยเหว่ย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท ซีที อินฟราสตรักเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัดที่มา : หนังสือพิมพ์ “นิกเคอิ”