ปตท.ปรับใหญ่จ่อโอน 7 บริษัทสังกัด 'พีทีทีจีซี'

ปตท.ปรับใหญ่จ่อโอน 7 บริษัทสังกัด 'พีทีทีจีซี'

"ปตท." จ้าง "ศศินทร์" ศึกษาปรับโครงสร้างธุรกิจปิโตรเคมี เตรียมโอน 7 บริษัทสังกัด "พีทีทีจีซี" ชี้แยกธุรกิจน้ำมันรัฐได้ภาษีเพิ่ม 3 หมื่นล.

นายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.อยู่ระหว่างศึกษาแผนปรับโครงสร้างธุรกิจปิโตรเคมี ต่อจากการปรับโครงสร้างธุรกิจน้ำมัน เพื่อให้ธุรกิจมีความต่อเนื่อง และเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันรองรับสถานการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำ ในเบื้องต้นจะถ่ายโอนบริษัทลูกของปตท.ในสายปิโตรเคมีซึ่งมีอยู่ 6-7 บริษัท เข้าไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี

จ้าง“ศศินทร์”โอน7บริษัทเข้าพีทีทีจีซี

ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดต่างๆ โดยว่าจ้างให้สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ทำการศึกษาแนวทางการถ่ายโอนกิจการดังกล่าว คาดถ่ายโอนบริษัทได้ภายในปี 2560 นับเป็นการจัดพอร์ตใหม่เพื่อให้ห่วงโซ่ (value chain) ธุรกิจมีความต่อเนื่อง และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันหลังราคาน้ำมันที่ตกต่ำ บริษัทที่โอนไป เช่น บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด
(เอชเอ็มซี) ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกที่ ปตท.ถือหุ้นอยู่ 40% บริษัทด้านโลจิสติกส์ และการตลาดต่างๆ ซึ่งเบื้องต้น ปตท.จะต้องทำความเข้าใจกับผู้ถือหุ้นรายอื่นในบริษัทเหล่านี้ ตลอดจนเจ้าหนี้ต่าง ๆ

ส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติและเทรดดิ้ง จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ยอมรับว่าในอนาคตจะต้องศึกษาหาธุรกิจใหม่ หรือ New-S-Curve เพื่อรองรับการแข่งขันทางธุรกิจ

“พีทีทีจีซีจะเป็นเรือธง (Flagship) สายธุรกิจปิโตรเคมีของกลุ่ม ปตท. การโอนบริษัทย่อยออกไปให้ ก็จะทำให้ ปตท.มีรายได้จากการขายกิจการดังกล่าวแล้ว แต่ ปตท.ก็ยังมีภาระทางภาษีในการโอนกิจการดังกล่าวให้กับภาครัฐด้วย” นายสรัญ กล่าว

สำหรับบริษัทในกลุ่มปิโครเคมีของ ปตท. ประกอบ 1.บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (พีทีทีจีซี) 2.บริษัท ไออาร์พีซี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ไออาร์พีซี) 3.บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด (เอสเอ็มซี) 4.บริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด (พีพีซีแอล) 5.บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด (พีทีทีเอซี) 6.บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ โลจิสติกส์ จำกัด (พีทีทีพีแอล) 7.บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (พีทีทีพีเอ็ม) และ8.บริษัท พีทีที เมนเทนแนนซ์ แอนด์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด(พีทีทีเอ็มอี)

โครงสร้างใหม่เข้าผู้ถือหุ้นเม.ย.60

นายสรัญ กล่าวว่า ส่วนมติคณะกรรมการปตท. ที่เห็นชอบในหลักการปรับโครงสร้างธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกให้กับบริษัท ปตท.ธุรกิจค้าปลีก จำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด หรือ พีทีทีโออาร์นั้น ปตท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจอยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอเรื่องต่อกระทรวงพลังงานและหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ตามขั้นตอน โดยเบื้องต้นคาดว่า จะนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นประมาณเดือน เม.ย.2560

คาด8เดือนขายไอพีโอ“พีทีทีโออาร์”

สำหรับขั้นตอนการนำพีทีทีโออาร์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เบื้องต้น คาดว่าหากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเห็นชอบแนวทางดังกล่าวจะต้องใช้เวลา 1-2 เดือน ในการถ่ายโอนทรัพย์สิน และรอให้พีทีทีโออาร์ปิดงบอย่างน้อย 1ไตรมาส คาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาส 3ปี 2560 ที่ประกาศในกลางเดือน พ.ย. 2560

จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนยื่นแบบเสนอขายหุ้น (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งตามปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ก่อนจะเสนอขายหุ้นให้กับนักลงทุนครั้งแรก (ไอพีโอ)ได้

ชี้ได้ได้ภาษีโอนกว่า3หมื่นล้าน

สำหรับการถ่ายโอนธุรกิจน้ำมันดังกล่าว คาดว่าจะทำให้ภาครัฐได้รับประโยชน์จากภาษีการโอนกิจการไม่ต่ำกว่า3หมื่นล้านบาท และมีมูลค่ารวมของธุรกิจมากขึ้น จากเดิม ปตท. มีราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ(พี/อี)ที่ระดับ8-9เท่า แต่ธุรกิจค้าปลีกโดยทั่วไปมี (พี/อี) ที่ระดับ 18-20 เท่า

ปตท.เดินหน้าสร้างคลังแอลเอ็นจี

นายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.เตรียมเดินหน้าโครงการก่อสร้างคลังรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) แห่งที่ 2 ให้เสร็จตามแผนภายในปี 2565 หลังได้รับการอนุมัติโครงการ จากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยจะเร่งออกแบบและเปิดประมูลต่อไป ซึ่งโครงการนี้จะรองรับแอลเอ็นจี ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี เงินลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท

ส่วนคลังรับก๊าซแอลเอ็นจีแห่งแรก ปัจจุบันรองรับการนำเข้าได้ 5 ล้านตันต่อปี และอยู่ระหว่างการขยายระยะที่ 2 รองรับการนำเข้าเพิ่มเป็น 10 ล้านตันต่อปี จะเสร็จภายในปี 2560 และจะขยายเพิ่มเป็น 11.5 ล้านตันต่อปีเสร็จในปี 2562 จะทำให้สามารถรองรับการนำเข้าแอลเอ็นจีได้ 19 ล้านตันต่อปีหรือประมาณ 2,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ขณะที่ความต้องการก๊าซธรรมชาติปี2560 คาดจะใกล้เคียงปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 4,900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แม้ว่าความต้องการก๊าซฯเพื่อผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(เอสพีพี) มีปริมาณสูงขึ้น แต่คาดว่าความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) จะลดลง

ทั้งนี้ นอกจาก การก่อสร้างคลังเพื่อรองรับแอลเอ็นจีแล้ว ปตท.ยังเดินหน้าเจรจานำเข้าแอลเอ็นจีจากรายอื่นเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่มีการนำเข้าแอลเอ็นจีจากการ์ต้า 2 ล้านตันต่อปี เพื่อรองรับกำลังการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยที่จะลดลง