“คอตตอน ยูเอสเอ” เผยผลวิจัยพฤติกรรมจับจ่ายปี 2016

“คอตตอน ยูเอสเอ” เผยผลวิจัยพฤติกรรมจับจ่ายปี 2016

ชี้กระแสออนไลน์มาแรง คาดยอดขายออนไลน์เติบโตถึง 68% คิดเป็นมูลค่าถึง 5 พันล้านบาทภายในปี 2020 เปิดทางธุรกิจปรับแผนสู่ Omnichannel

คอตตอน ยูเอสเอ เผยผลสำรวจวิจัยตลาด “2016 Global Lifestyle Monitor” เกี่ยวกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคของปี 2016 ใน 10 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลี ตุรกี เม็กซิโก โคลัมเบีย อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และประเทศไทย พบว่า การประมาณการณ์ว่ายอดขายเสื้อผ้าและรองเท้าออนไลน์ของประเทศไทยจะเติบโตมากขึ้นถึง 68% ภายในปี 2020 เปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการปรับแผนการการตลาดครบวงจร Omnichannel เพื่อเน้นบริการลูกค้าให้เข้าถึงสินค้าได้อย่างง่ายดายและทั่วถึง

นายไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทนคอตตอน ยูเอสเอ ในกลุ่มประเทศอาเซียน กล่าวว่า คอตตอน อินคอร์เปอเรท และคอตตอน ยูเอสเอ ได้ร่วมทำการสำรวจวิจัยตลาดในหัวข้อ “Global Lifestyle Monitor” โดยจะทำการสำรวจทุกๆ 2 ปีกับผู้บริโภคใน 10 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลี ตุรกี เม็กซิโก โคลัมเบีย อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และประเทศไทย เพื่อศึกษาถึงพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคทั่วโลก และนำผลสำรวจที่ผ่านการวิเคราะห์ มาเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเสื้อผ้า และเครื่องนุ่งห่มในหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย ปัจจัยที่ผู้บริโภคใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อเสื้อผ้า เทรนด์การช้อปปิ้งของผู้บริโภค และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ผู้บริโภคมีความกังวล เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปวางแผนพัฒนาสินค้า แผนการตลาด รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายให้ตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น

นายไกรภพ กล่าวต่อว่า “สำหรับในประเทศไทย ได้สำรวจกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,000 คน ที่พำนักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งจากการสำรวจพบว่า

ผู้บริโภคคนไทยให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดย 75% ระบุว่าต้องการและมองหาเสื้อผ้าที่ให้ความยั่งยืนและไม่ก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อม


ผู้บริโภคคนไทยมากถึง 84% เริ่มต้นการชอปปิงออนไลน์ด้วยการเข้าโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นจากปี 2014 (69%) ตามด้วย 32% เริ่มจากเว็บไซต์เสิร์ชเอนจิน (Search engines) และ 20% เริ่มจากเว็บไซต์ อีคอมเมิร์ซ
จากกระแสโลกออนไลน์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ผลสำรวจในปีนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่า โลกออนไลน์มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของผู้บริโภคคนไทยเป็นจำนวนไม่น้อย ผู้บริโภคคนไทย 1 ใน 5 ซื้อเสื้อผ้าออนไลน์ และผู้บริโภคไทย 21% ของการซื้อของออนไลน์และใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

โดย 67% ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อค้นหาเทรนด์แฟชั่นและสไตล์การแต่งตัว 55% ใช้สำหรับหาข้อมูลเกี่ยวกับเสื้อผ้า และ 46% ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่ออ่านรีวิวของสินค้าจากผู้บริโภคคนอื่นๆ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ผู้บริโภคคนไทยเริ่มต้น การช้อปปิ้งออนไลน์จากการเข้าใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งเติบโตขึ้นจากปี 2014 อยู่ที่ 69% ในปี 2016 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 84% ตามด้วย 32% เริ่มจากเว็บไซต์เสิร์ชเอนจิน (Search engines) และ 20% เริ่มจากเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ในขณะที่ปัจจัยที่ผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับการซื้อของออนไลน์ อันดับหนึ่งคือคุณภาพของสินค้า 91%, ระยะเวลาในการจัดส่งสินค้า 79%, ความพร้อมของสินค้ามีในสต็อก 78%, นโยบายการคืนสินค้า 77%, และการเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า 77% 


เมื่อถามถึงช่องทางการเลือกซื้อเสื้อผ้าของผู้บริโภคไทย พบว่าผู้บริโภคคนไทยยังคงนิยมการซื้อเสื้อผ้าตลาดนัดถึง 59% รองลงมาคือไฮเปอร์มาร์เก็ต 16% ดีพาร์ทเม้นสโตร์ 11% และร้านค้าอิสระ 10% ตามลำดับ และเมื่อถามถึงแหล่งที่มาของข้อมูลในการเลือกซื้อเสื้อผ้าผู้บริโภคคนไทยยังให้ความสำคัญกับ การบอกเล่าปากต่อปากในการหาไอเดียในการซื้อเสื้อผ้าโดยเฉพาะเพื่อนและเพื่อนร่วมงานมีอิทธิพลอันดับหนึ่งถึง 67% ตามด้วยการจัดดิสเพลย์หน้าร้าน 51% และคนในครอบครัว 46% นอกจากนี้ผลสำรวจยังเผยอีกว่า 3 ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลในการเลือกซื้อเสื้อผ้าของผู้บริโภคคนไทยนั้น ได้แก่ ความนุ่มสบาย 97% ไซส์ที่พอดี 95% ราคา 95%

“จากการประมาณการณ์คาดว่ามูลค่าการจับจ่ายซื้อเสื้อผ้าของคนไทยจากปี 2015 จะเติบโตขึ้นถึง 62% ซึ่งมีมูลค่าประมาณกว่า 300 ล้านบาทภายในปี 2030 และ คาดว่ายอดขายเสื้อผ้าและรองเท้าออนไลน์จะเติบโตขึ้นถึง 68% จากมูลค่า 3 พันล้านบาทในปี 2015 เป็น 5 พันล้านบาทภายในปี 2020 ทำให้สรุปได้ว่าผู้บริโภคคนไทยมีแนวโน้มในการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น และยังใช้โซเชียลมีเดียในการประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้ามากขึ้นอีกด้วย โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุดคือ การมีข้อมูลสินค้าตรงตามของจริง และการให้ข้อมูลเรื่องขนาด ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลสินค้าที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบและช่องทางออนไลน์ของตนเอง รวมถึงปรับขยายช่องทางการขาย และบริการแบบออฟไลน์ อย่างเช่นหน้าร้าน ให้สอดคล้องกับช่องทางออนไลน์ของตนเอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคได้ในทุกๆช่องทาง” นายไกรภพ กล่าวทิ้งท้าย