สติกเกอร์ ไลน์ by ผู้ต้องขัง
โหลดกันรึยัง.. สติกเกอร์ไลน์ “แก๊งค์กำแพงสูง” ผลงานจากผู้ต้องขังในเรือนจำ กับเบื้องหลังฮาๆ ด้วยภาษาแบบคุกๆ
ภาพน่ารักๆ พร้อมข้อความกวนๆ ของสติกเกอร์ไลน์ “แก๊งค์กำแพงสูง” ที่วางขายในไลน์แอพพลิเคชั่นอยู่ตอนนี้ แม้จะไม่ได้ดังเปรี้ยง ยอดโหลดถล่มทลาย แต่ถ้าถามคนทำอย่าง โอ๊ต, บอย และ มัส พวกเขาบอกไม่ต่างกันว่า.. ภูมิใจมาก
ไม่เพียงภูมิใจที่คนในคุกอย่างพวกเขา จะสามารถพิสูจน์ตัวเองและครีเอทสินค้าออกมาขายได้สำเร็จ เพราะที่ภูมิใจยิ่งกว่า ก็คือ หนึ่งในลูกค้าที่ดาวน์โหลดสติกเกอร์ของพวกเขามานั้นคือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
อันที่จริง สติกเกอร์ชุด แก๊งค์กำแพงสูง (Gang Kam Pang Soong) นั้นมีที่มาจากพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของไอซีที และทรงมีพระราชดำริที่จะใช้ไอซีทีเข้าช่วยส่งเสริมศักยภาพให้แก่บุคคลด้อยโอกาสในสังคม โดยทรงก่อตั้ง “โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ขึ้นตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว (ภายหลังจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ) ดำเนินภายใต้แนวคิดหลัก คือ นำเทคโนโลยีไปลดข้อจำกัดให้แก่บุคคลที่ขาดโอกาส มุ่งเป้าที่ 4 กลุ่มหลัก คือ โรงเรียนห่างไกลในชนบท, ผู้พิการ, เด็กป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล และ ผู้ต้องขังในเรือนจำซึ่งภายหลังขยายไปสู่สถานพินิจด้วย
“ทุกๆ โครงการที่ทางมูลนิธิฯ เข้าไปสนับสนุน สมเด็จพระเทพฯ จะทรงมีรับสั่งย้ำเสมอว่า ให้ทำเพื่อเป็นโครงการนำร่อง และหากทำแล้วได้ผล ก็อยากให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องนำไปขยายผลต่อ” ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล กรรมการและรองเลขาธิการ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าว
สำหรับ "ผู้ต้องขัง" เริ่มต้นตั้งแต่การนำคอมพิวเตอร์ไปติดตั้งในเรือนจำ พร้อมมีครูไปสอนใช้งานคอมพิวเตอร์เบื้องต้น จากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาหลักสูตรเชิงวิชาชีพที่ตอบโจทย์กับยุคสมัย
“ในเรื่องของไอที เมื่อมีการอบรมแล้ว ถ้าไม่ได้ทำต่อบ่อยๆ ส่วนใหญ่ก็จะลืม เราเลยพยายามหางานไปให้เขาได้ทำ เช่น งานออกแบบโบรชัวร์ โปสเตอร์ ออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ โดยงานออกแบบที่ทำรายได้ได้ค่อนข้างดี คือ งานออกแบบกระดาษเขียนจดหมายและซองจดหมาย ซึ่งผู้ต้องขัง เขาจะออกแบบและนำมาจำหน่ายใช้กันเองภายในเรือนจำ โดยนอกจากนั้นก็จะมีโปสการ์ดในวาระพิเศษวางขายด้วย”
“ตอนนี้ เพลง ‘ฉันไม่มี’ ของวงทีที ดังมากเลยครับ มีแต่คนขอ” บอย หนึ่งในทีมงาน ซึ่งเป็นผู้ต้องขัง ที่ เรือนจำพิเศษมีนบุรี เล่าพร้อมรอยยิ้มเมื่อพูดถึงหน้าที่พิเศษของตน คือ แกะเนื้อเพลงที่เพื่อนๆ ผู้ต้องขังร้องขอมาให้พิมพ์ใส่ไปในกระดาษเขียนจดหมายที่พวกเขาจะต้องเปลี่ยนดีไซน์ทุกๆ สัปดาห์ ซึ่งนอกจากจะวาดตัวการ์ตูนลงไปตกแต่งแล้ว ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ เนื้อเพลงฮิตที่จะถูกรีเควสต์จากเพื่อนๆ
แม้งานออกแบบกระดาษเขียนจดหมายพร้อมซองที่เข้าชุดกันจะเป็นงานหลักของพวกเขา แต่ที่ดูจะ “เห่อ” มากเป็นพิเศษอยู่ตอนนี้ ก็คือ การทำสติกเกอร์ไลน์ ที่ตอนนี้มีวางขายแล้วสองเวอร์ชั่น โดยเวอร์ชั่นที่ 3 กำลังอยู่ระหว่างพิจารณา และพร้อมๆ กันนี้ พวกเขาก็ผลิตเวอร์ชั่นที่ 4 และ 5 ไปด้วย
“เวอร์ชั่น 4 เราเปลี่ยชุดผู้คุมครับ ส่วนเวอร์ชั่น 5 นี่จะเริ่มเป็นภาษาอีสาน จริงๆ อยากทำภาษา 4 ภาคเลย แต่เดี๋ยวคงต้องค่อยเป็นค่อยไป” โอ๊ตเล่า
..ย้อนกลับมาที่การทำสติกเกอร์ไลน์ชุดแรก สายัณ หมื่นพันธ์ นักวิชาการอบรมและฝึกวิชาชีพชำนาญการ เรือนจำพิเศษมีนบุรี หรือที่ผู้ต้องขังเรียกกันติดปากว่า “ครู” ร่วมเสริมถึงทีมผลิตสติกเกอร์ไลน์ของเรือนจำฯมีนบุรี ที่มีอยู่สิบกว่าคน ส่วนใหญ่ คือ ลูกศิษย์ที่เข้าออกห้องคอมพิวเตอร์กันเป็นประจำอยู่แล้ว
“คนกลุ่มนี้ เขาไปเร็วมากครับ เพราะเขามีพื้นฐานอยู่แล้ว พอครูมาสอน เขาก็เข้าใจได้เร็ว ซึ่งตอนทำสติกเกอร์กัน เราก็ปล่อยให้เขามีอิสระทางความคิด ให้เขาช่วยกันคิดเอง จะแค่ช่วยดูเรื่องความเหมาะสมเท่านั้น อย่างคาแรคเตอร์ที่เขาวาด เขาเอาหน้าผมเป็นต้นแบบน่ะครับ(หัวเราะ) เขาลองทำแล้วค่อยมาขอ ส่วนเรื่องแก๊ก เรื่องคำพูดก็อาจจะมีเข้าไปช่วยคัดกรองก่อนจะทำส่งไปทางไลน์ ศัพท์บางคำที่ตกรอบส่วนใหญ่จะเป็นคำที่เขาพูดรู้กันเองในคุกน่ะครับ” ครูสายัณ เอ่ย
“ก็มีอย่าง ดูเล แปลว่า ดูต้นทาง, ตั้งเล คือให้เพื่อนดูต้นทาง แล้วถ้าทางสะดวกก็จะบอกว่า โปร่ง.. โปร่ง! น่ะครับ.. (หัวเราะ) อ้อ แล้วก็มีคำว่า ลื่น แปลว่า แฟนทิ้ง” โอ๊ต ช่วยขยายความถึงศัพท์แบบคุกๆ ที่ทำแล้วไม่ผ่านพร้อมรอยยิ้ม
หรืออย่างสติกเกอร์ที่เขียนว่า เยอะไปผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ผ่านเช่นกันนั้น มัสอธิบายคำแปลว่า ในคุกเวลาจะเรียกคนที่ไม่รู้จักชื่อ หรือไม่สนิท เขาก็จะเรียกกันว่า ผู้ใหญ่ ส่วน ดีกว่าหมา ก็เป็นคำใช้หยอกกันหลังกำแพงสูงนั่นเอง
* กราฟิก พลิกชีวิต
ความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ต้องขังที่แม้จะไม่มีใครรู้ว่า วันข้างหน้า พวกเขาจะสามารถยึดเป็นอาชีพหาเลี้ยงปากท้องได้หรือแม่ แต่สำหรับน้องๆ เยาวชนที่ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี ที่ได้เข้าร่วมโครงการในลักษณะเดียวกันนี้นั้น พวกเธอได้เริ่มแล้วที่จะใช้ทักษะนี้รับว่าจ้างทำสติกเกอร์ให้กับบุคคลทั่วไป
สุทิศา สิทธิเชนทร์ นักวิชาการอบรมและฝึกวิชาชีพชำนาญการ ศูนย์ฝึกฯบ้านปรานี ที่เด็กๆ เรียกว่า “ครูปุ๊ก” เล่าย้อนไปถึงเมื่อตอนที่บ้านปรานีได้รับเลือกเป็น 1ใน 5ศูนย์ฝึกฯ ที่ได้เข้าร่วมเป็นโครงการนำร่อง โดยนำตัวแทนเยาวชนไปเข้าค่ายอบรมด้านคอมพิวเตอร์เป็นเวลา 4 วัน 3 คืน เมื่อปี 2555 และจากนั้นมาก็จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
จากสติกเกอร์ไลน์ที่นำไปวางขายชุดแรกคือ Nong Pranee คนทำก็ชักสนุก คันไม้คันมือ อยากลองวิชา ทำไปทำมา เลยเอารูปของ อธิบดีกรมพินิจฯ (ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ) มาวาดเป็นต้นแบบกันเล่นๆ ซึ่งปรากฏว่า อธิบดีฯ เห็นแล้วถูกใจ อนุญาตให้ทำต่อจนเสร็จและนำขึ้นขายในชื่อ Chief gang kids
จากแรงบอกต่อของผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลาย ภายหลังจึงมีลูกค้าที่อยากจะมีสติกเกอร์ไลน์ที่เป็นหน้าตาหรือคาแรคเตอร์ของตัวเอง มาว่าจ้างให้วาดให้บ้าง
“ลูกค้าที่มาจ้างทำ มีมา 4 รายแล้วค่ะ ทำเสร็จแล้ว 3 ราย อีกหนึ่งรายอยู่ระหว่างการออกแบบ แล้วเมื่อเร็วๆ นี้ น้องเขาก็เพิ่งเรียนทำสติกเกอร์ดุ๊กดิ๊กก็เลยทำขึ้นขายกันเองด้วยค่ะ” ครูปุ๊กเล่า โดยราคาว่าจ้าง จะอยู่ที่ระหว่าง 3-5 พันบาทสำหรับสติกเกอร์ 40 ภาพ
ถ้าถามถึงรายได้จากผลงานสติกเกอร์ที่น้องๆ ทำขึ้นนั้น ครูปุ๊กยอมรับว่า ยังเป็นตัวเลขที่ไม่มากมายอะไร แต่ระหว่างกระบวนการทำต่างหาก ที่ถือเป็น ผลกำไร ที่ประเมินค่าเป็นตัวเงินไม่ได้
“เด็กบางคน เขามาอยู่ที่นี่ไม่สุงสิงกับใคร พอมีกิจกรรมนี้ขึ้นมา เขาทำเป็นแล้ว ก็ต้องสอนเพื่อน สอนน้อง ซึ่งมันก็ทำให้เขาได้ปรับพฤติกรรมในการเข้าสังคมได้มากขึ้น” ครูปุ๊กอธิบาย
เสริมโดยวิทยากรอย่าง สุนิษา ชูรุ้ง วิทยากรที่ตระเวนสอนทั้งที่เรือนจำและสถานพินิจต่างๆ กับโครงการนี้มาหลายปี เธอช่วยขยายความถึงสิ่งที่เห็นจากการพาเด็กๆ ไปเข้าค่ายร่วมกันว่า ไม่เพียงทักษะอาชีพที่พวกเขาได้รับไป แต่ยังรวมถึงการสร้างสังคมใหม่ที่เต็มไปด้วยความเข้าใจกัน
เพราะใครจะเข้าใจกันได้เท่ากับคนที่ผ่านเรื่องร้ายๆ มาเหมือนกัน และนั่นก็ทำให้ทุกๆ ครั้งของการจัดค่าย สุนิษา มักจะมีพี่เลี้ยงอาสาฯ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของรุ่นก่อนๆ มาคอยให้คำแนะนำน้องๆ ด้วย
“พวกเขารักและผูกพันกันนะ จากเมื่อก่อน เรารู้เลยว่า แต่ละบ้าน เขาจะมีแอบหมั่นไส้กัน แต่พอเรามาจัดค่ายให้เขากินนอน ทำกิจกรรมร่วมกัน เขาก็เริ่มมองทุกคนเป็นเพื่อนกัน เป็นพวกเดียวกัน จากนั้นมาก็ไม่มีปัญหา
แล้วพี่ๆ ที่ออกไปแล้วก็ยังกลับมาช่วยงานค่ายเสมอๆ มาแล้วไม่ใช่แค่สอนน้องใช้โปรแกรม แต่เขายังเอาประสบการณ์ที่ผ่านมาของตัวเองมาแชร์ให้น้องๆ ได้ฟังและมีกำลังใจ เพราะเด็กของเราหลายคนออกไปแล้ว ก็สามารถกลับเข้าสู่สังคม เริ่มต้นใหม่ได้” สุนิษา เล่าถึงสิ่งที่ได้พบเจอ
โดยแม้เยาวชนหลายคนที่จบออกไปจะไม่ได้เอาทักษะที่เธอสอนไปใช้งาน แต่เธอก็ไม่เสียใจหรือเสียดาย
..เพราะที่สำคัญกว่า ปลายทาง ก็คือกระบวนการซึ่งช่วยเปลี่ยนมุมมองของเยาวชนเหล่านี้ให้สามารถมองเห็นว่ามี “โอกาส” อยู่รอบตัว