POSsal จัดการร้านอาหารครบในจุดเดียว
มองเห็นว่าเป็นปัญหาสำหรับร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านที่ต้องการขยายธุรกิจแต่ติดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ
การที่เป็นคนชอบรับประทานอาหารและพูดคุยกับผู้บริหารร้านอาหารอยู่บ่อยครั้งทำให้ ธีรวัชร์ เชื้อวัฒนวาณิชย์ Co-Founder / Account & Marketing Manager บริษัท CREATIVE ME จำกัด เริ่มกลับมามองว่ายังมีประเด็นปัญหาที่ธุรกิจกลุ่มนี้ต้องเผชิญ ทั้งการจัดการกับออเดอร์หน้าร้านที่แสนจะวุ่นวายไปจนถึงระบบหลังร้านที่หากไม่มีการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพนั่นหมายถึงต้นทุนทางธุรกิจที่สูงตามไปด้วย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ได้กลายเป็นข้อจำกัดต่อการให้บริการลูกค้ารวมถึงการเติบโตของธุรกิจ
“อันดับแรกผมชอบทานอาหารพอได้คุยกับผู้ประกอบการร้านอาหารแล้วรู้สึกว่าทำไมยังไม่มีคนแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่กล้าตัดสินใจที่จะเติบโต จึงมองว่าถ้ามีระบบสักอย่างเข้ามาช่วยผู้ประกอบการไทยได้ก็น่าจะดี”
ประกอบกับแนวคิดตั้งต้นของการพัฒนาระบบดังกล่าวเป็นหนึ่งในโปรเจ็คที่เกิดขึ้นสมัยเรียนปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สาขามัลติมีเดีย ซึ่งในครั้งนี้ทำเอาไว้เพียงระบบการจัดการหน้าร้าน เช่นการสั่งอาหารเท่านั้น
เมื่อกลับมามองถึงงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันกับการรับพัฒนาซอฟต์แวร์และโมบาย แอพพลิเคชั่น ทำให้ ธีรวัชร์ เริ่มมองถึงการเข้าไปแก้ปัญหาดังกล่าวอีกครั้ง เพราะมีความน่าสนใจและสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจได้
นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบบริหารจัดการร้านอาหารอย่างจริงจังในชื่อ POSsal ที่วันนี้เป็นหนึ่งในหน่วยธุรกิจของ บริษัท ครีเอทีฟ มี จำกัด แต่หากตลาดตอบรับแล้วขยายใหญ่ตามโอกาสที่เล็งเห็น ธีรวัชร์ มองถึงความเป็นไปได้ในการตัดสินใจหันมาโฟกัสในธุรกิจนี้อย่างเต็มตัวพร้อมกับลดทอนงานในส่วนของการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นในอนาคต
เมื่อมองว่าระบบการบริหารจัดการร้านอาหารสามารถเข้าไปช่วยงานทางร้านอาหารได้จริงก็ถึงเวลาที่จะพัฒนาอย่างจริงจังพร้อมกับเปิดดำเนินการมากว่าหนึ่งปี โดยมีทีมงานประกอบด้วย อัมพรสักก์ อังคทะวานิช, วิลาสินี ตันพิชัย และ ธีรวัชร์ เชื้อวัฒนวาณิชย์
“เราเปิดตัวมา สตาร์ทอัพไทยแลนด์ ปีที่แล้ว เพราะมองเห็นว่าเป็นปัญหาสำหรับร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านที่ต้องการสเกลตัวเองแต่ติดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ”
การทำงานหลักๆ ของ POSsal จะเกี่ยวระบบสั่งอาหาร ทำงานได้บนอุปกรณ์แท็บเล็ตช่วยให้พนักงานสามารถบริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระบบห้องครัว ช่วยให้พ่อครัวบริหารจัดการลำดับขั้นตอนการทำอาหารได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
ระบบจุดชำระบริการ สามารถชำระค่าบริการได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และเชื่อมต่อกับลิ้นชักเก็บเงิน และเครื่องพริ้นท์ใบเสร็จรับเงิน
และ ระบบบริหารจัดการและรายงานผลที่ช่วยให้เจ้าของร้านสามารถตรวจสอบการดำเนินงานภายในร้านได้ตลอดเวลา
จุดเด่นหลักคือ การลดความผิดพลาดในการสั่งอาหารของสต๊าฟ และเพิ่มความแม่นยำในการสั่งอาหาร โดยที่พนักงานไม่ต้องเดินไปที่ห้องครัว
“ร้านอาหารทั่วไป เวลารับออเดอร์ แม้ว่าบางร้านจะใช้แท็บเล็ตรับงานแต่เมื่อไปถึงห้องครัวแล้วยังต้องพริ้นท์งานออกมาเป็นกระดาษ ขณะที่ระบบของเราทุกคำสั่งจะปรากฏอยู่บนหน้าจอ
อีกทั้งระบบยังสามารถตรวจสอบและรู้ได้ว่าอาหารในรายการไหนที่ปรุงเสร็จแล้วบ้าง
ที่สำคัญ ระบบนี้พัฒนามาจากความต้องการของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในการรับออเดอร์ เช่น ไม่เอากระเทียม ไม่ใส่ต้นหอม ขณะที่โดยทั่วไปจะทำไม่ได้ แต่ระบบเราทำได้"
ส่วนจะเป็นร้านอาหารประเภทไหนที่เหมาะจะนำ POSsal ไปใช้งานนั้น ธีรวัชร์ บอก ระบบสามารถรองรับระบบร้านอาหารทุกสเกล
“ที่ติดตั้งระบบไปใช้ โดยมากไม่ใช่ร้านเปิดใหม่ แต่เป็นร้านที่ขายมาระยะหนึ่ง แล้วได้รับความนิยม มียอดออเดอร์ต่อวันเป็นจำนวนมาก แต่ทาง เจ้าของร้านยังไม่กล้าเติบโต เพราะไม่มีเครื่องมือที่จะรับมือในจุดนี้”
หลังจากให้บริการมา พบว่าได้ผลตอบเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะจำนวนของความสูญเสียที่น้อยลงจากการทำอาหารในแต่ละวัน ซึ่งหากควบคุมเรื่องของต้นทุนและความสูญเสียได้ก็หมายถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้นด้วย
ยกตัวอย่าง ต้นทุนต่อจาน ถ้าขาย อยู่ที่ 80-100 ต้นทุนจะอยู่ที่ 30-40 บาท นั่นคือ ถ้าเมนูสูญเสียน้อยลง กำไรจะเพิ่มทันที เปอร์เซ็นต์ที่ลูกค้าจะแคนเซิลก็น้อยลง
ตอนนี้ POSsal พัฒนามาถึง เราเป็นเวอร์ชั่นใหม่ที่นอกจากจัดการออเดอร์หน้าร้านได้แล้วยังเพิ่มระบบจัดการวัตถุดิบเข้าไปด้วย
“ช่วงแรกๆ เราทำแค่ระบบหน้าร้าน และหลังร้าน แต่พอพัฒนาไปเรื่อยๆ ก็มองถึงการพัฒนาระบบคลังสินค้า การจัดการวัตถุดิบ เพื่อให้การบริหารจัดการทำได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบครัวกลาง และระบบบัญชี”
หลังจากคลุกคลีและรับฟังปัญหาก็ยังพบว่านอกจากการจัดการหน้าร้านและหลังร้านแล้ว การดูแลครัวกลาง และระบบบัญชี เช่นการวางบิล ก็เป็นอีกความต้องการของเจ้าของธุรกิจกลุ่มนี้
“เรายังพบว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารก็มีศักยภาพในการลงทุน แต่ไม่อยากลงทุนกับหลายๆโปรแกรม หน้าร้านใช้อีกโปรแกรม หลังร้านก็อีกโปรแกรม ทำให้มองถึงโอกาสที่จะเข้าไปทำตรงนี้ เพื่อให้ระบบครบในเรื่องของการจัดการร้านอาหารทั้งหมด”
ในประเทศไทยเฉพาะกรุงเทพฯ มูลค่าตลาด 4 หมื่นกว่าล้าน 2-3 หมื่นร้านอาหาร โดยกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ มากที่สุด จากนั้นก็กระจายอยู่ในเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต พัทยา และ เชียงใหม่
ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสของ POSsal ที่จะรุกเข้าไปทำตลาดดังกล่าวมากขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน ธีรวัชร์ ก็มองไกลถึงตลาดในต่างประเทศ เตรียมปักธงแล้วที่สหรัฐอเมริกา
“เราวางแผนจะไปอเมริกา เพราะมีร้านอาหารไทยเยอะโดยมองไว้ว่าจะไปในช่วง 1-2 ปีนี้ ส่วนตลาดในไทยเตรียมรุกตลาดให้มากขึ้น ภายหลังการพัฒนาระบบครัวกลาง และบัญชี ที่จะแล้วเสร็จภายในปีนี้”
ธุรกิจแบบ B2B
ความยากของการทำธุรกิจแบบ Business to Business (B2B) ก็คือการสื่อสารและทำความเข้าใจกับตลาดให้เกิดการยอมรับในช่วงเวลาอันสั้น เพราะหากปล่อยให้เนิ่นนานไปก็อาจทำให้ธุรกิจนั้นๆ ไม่สามารถเดินไปถึงเป้าหมายที่วางไว้
สำหรับ POSsal ก็เจอกับงานยากเช่นกันในก้าวแรกของการเปิดตัว
ช่วงแรก ๆ เราล้มลุกคลุกคลานเหมือนกัน มันใหม่สำหรับผู้ประกอบการมากๆ บางคนก็ไม่กล้าลงทุน เพราะกลัวซื้อไปแล้วโดนผู้ให้บริการทิ้ง ทำให้ทีมงานต้องใช้เวลามากพอสมควรในการสร้างความเชื่อมั่น
เป็นความโขคดีของเราที่ได้ลูกค้าบอกต่อแล้วแนะนำลูกค้ารายอื่นๆ ให้
ปัจจุบันลูกค้าที่ใช้บริการในปัจจุบัน เช่น Coffee beans by Dao, Anya's Place เป็นต้น