ส่องเทรนด์‘ทานอาหารนอกบ้าน’

ส่องเทรนด์‘ทานอาหารนอกบ้าน’

แนวโน้ม “ทานข้าวนอกบ้าน” ของชาวไทยเพิ่มสูงขึ้น เฉลี่ย “56 ครั้งต่อเดือน” จากปีก่อนอยู่ที่ “50 ครั้งต่อเดือน”

เป็นโอกาสธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มซึ่งมีการพัฒนาแบรนด์ รูปแบบร้านอาหาร และเมนูหลากหลาย ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยมีตัวเลือกมากขึ้น  โดยรายงานการวิจัย “FoodTrips” ของนีลเส็น ระบุถึง 4 เทรนด์การกินข้าวนอกบ้านที่น่าจับตามอง 

สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย กล่าวถึงเทรนด์แรกว่า ร้านสะดวกซื้อกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในการทานข้าวนอกบ้าน โดยช่องทางในการทานข้าวนอกบ้านที่นิยม 3 อันดับแรก คือ ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายอาหารแผงลอย (food stall) และอาหารข้างทาง (street food) เป็นเทรนด์เดียวกับปี 2559 

การเติบโตของการเข้าถึงผู้บริโภค “ร้านสะดวกซื้อ” เติบโต 7% เฉลี่ยมีผู้บริโภคเข้าร้าน 21 ครั้งต่อเดือน เหตุผลหลักที่ลูกค้าเลือกใช้บริการเพื่อบรรเทาความหิวและมีความรู้สึกว่าเป็นกิจวัตรประจำวัน

ร้านค้าปลีกต่างๆ เช่น ลอว์สัน 108 แม็กซ์แวลู ท็อปส์เดลี่ ให้ความสำคัญกับการให้บริการพื้นที่รับประทานอาหารสำหรับลูกค้าที่เข้ามาเพื่อซื้ออาหารทานระหว่างเบรก หรือ แฟมิลี่มาร์ท มีสาขาที่เป็นวันสต็อปชอปปิง ขายทั้งอาหาร บริการส่งสินค้า และโค-เวิร์กกิ้งสเปซ

สะท้อนว่า “ผู้ค้าปลีก” ต้องตระหนักถึงวิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ดีขึ้น

เทรนด์ที่สอง ผู้บริโภคคนไทยเน้นทานอาหารมื้อหลักมากขึ้น โดยผู้บริโภคทานอาหาร 7 มื้อด้วยกัน ได้แก่ อาหารมื้อเช้า อาหารว่างก่อนมื้อเที่ยง มื้อเที่ยง อาหารว่างช่วงบ่ายหลังมื้อเที่ยง อาหารว่างช่วงบ่ายแก่ๆ มื้อเย็น และอาหารว่างรอบดึก รายงาน Food Trips ระบุว่า  ผู้บริโภคมีพฤติกรรมทานอาหารว่างน้อยลง แต่เพิ่มทานอาหารมื้อหลักอย่างมื้อเช้า กลางวัน เย็น มากขึ้น เทียบปี 2559 โดยมื้อเย็น เติบโตสูงสุด 5%  

เทรนด์ที่สาม การเติบโตและมนต์เสน่ห์ของร้านคาเฟ่ (ชา/กาแฟเติบโตอย่างน่าสนใจ ทั้งนี้อัตราการเข้าถึงของคอฟฟี่ชอปทั่วประเทศอยู่ที่ 60% กรุงเทพฯ มีอัตราสูง 69% เทียบต่างจังหวัดอยู่ที่ 53% ผู้บริโภคชาวไทยเข้าร้านชา/กาแฟเฉลี่ย 6 ครั้งต่อเดือน ขณะที่ชาวกรุงเทพฯ เข้าร้านกาแฟเฉลี่ย 8 ครั้งต่อเดือน เพื่อความรู้สึกสดชื่นและตื่นตัวระหว่างวัน

แต่หากมองลึกถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ดื่มกาแฟแยกเป็นแต่ละประเภท สัดส่วนของกลุ่มที่ดื่มกาแฟเพราะว่า “แบรนด์ของกาแฟ” สะท้อนและส่งเสริมภาพลักษณ์ของตนมีจำนวนที่เติบโตขึ้น ดังนั้นนอกเหนือจากคุณภาพและบริการที่ดีแล้ว การสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งและมีจุดยืนชัดเจนก็เป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจกาแฟควรคำนึงถึงเพื่อดึงดูดลูกค้า 

เทรนด์สุดท้าย อาหารพร้อมทานจับใจผู้บริโภคต่างจังหวัด  หรือ Ready to Eat เป็นหนึ่งทางเลือกที่ผู้บริโภคชาวไทยนิยมมากขึ้น และตลาดต่างจังหวัดเติบโตมากกว่ากรุงเทพฯ ทั้งนี้กว่า 7 ใน 10 ของผู้บริโภคต่างจังหวัดบริโภคอาหารพร้อมทาน โดยประเภทแช่เย็น (Chill RTE) เติบโต 9% แช่แข็ง (Frozen RTE) เติบโต 7% และอาหารพร้อมทานในอุณหภูมิห้อง (Ambience RTE) เติบโต 1%  

ผู้บริโภคไม่ต้องการทำอาหารเอง เพราะต้องใช้เวลาในการเตรียมวัตถุดิบต่างๆ และไม่ชอบในส่วนของการทำความสะอาดหลังทำอาหาร”

ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนทำให้เกิดปรากฏการณ์สองขั้ว (polarizing phenomenon) ในกลุ่มผู้บริโภคที่ทานข้าวนอกบ้าน นั่นคือมีกลุ่มคนที่ทานข้าวนอกบ้านมากขึ้น และอีกกลุ่มที่ “เลือก” มากขึ้นในการทานข้าวนอกบ้าน ผู้บริโภครายได้ระดับกลางถึงต่ำซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มระมัดระวังในการทานข้าวนอกบ้านมากขึ้น ทำให้รูปแบบการทานอาหารนอกบ้านมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละปี 

 แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และความสามารถในการตามทันการเปลี่ยนแปลง “จำเป็น” อย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการในการรับมือการแข่งขัน