คอกาแฟเฮ!นักวิจัยพบสารลดไขมันในเนื้อกาแฟสู่ 2ผลิตภัณฑ์สุขภาพ

คอกาแฟเฮ!นักวิจัยพบสารลดไขมันในเนื้อกาแฟสู่ 2ผลิตภัณฑ์สุขภาพ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่รับโจทย์เอกชนวิจัยเพิ่มมูลค่าเนื้อกาแฟ ซึ่งเข้มข้นด้วยสารสำคัญช่วยลดการดูดซึมไขมันในตับ ส่งต่อองค์ความรู้ให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พัฒนา 2 ผลิตภัณฑ์รับเทรนด์สุขภาพ หวังต่อยอดวิจัยเชิงคลินิกต่อยอดเชิงพาณิชย์ในตลาดโลกด้วย วทน.

เนื้อกาแฟ (Coffee Pulp) เป็นของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตกาแฟ ที่บางรายนำไปทิ้งเป็นขยะหรือนำไปเป็นปุ๋ย แต่บางครั้งก็ใช้ไม่ได้เพราะมีกรดมากเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมอย่าง “ฮิลล์คอฟฟ์” ธุรกิจกาแฟครบวงจรรายใหญ่ในภาคเหนือซึ่งครอบคลุมถึงบริการฝึกอบรมการชงเครื่องดื่มรวมถึงบริการซ่อมเครื่องชงกาแฟด้วย มุ่งมองหางานวิจัยที่จะมาตอบโจทย์โดยในช่วงแรกพัฒนาเป็นกาแฟเชอร์รี่และยังต้องการพัฒนาต่อในเชิงลึก

สารยับยั้งคลอเลสเตอรอล

“โครงการวิจัยเชิงลึกเพิ่มมูลค่าเนื้อกาแฟ ได้รับทุนวิจัยอินโนเวชั่นฮับจากโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) พบว่า ในเนื้อกาแฟอุดมด้วยสารโพลีฟีนอลที่ชื่อว่า คลอโรเจนิก แอซิด (Chlorogenic Acid) มีฤทธ์ที่น่าสนใจในการลดคลอเลสเตอรอล” ผศ.ชุติมา ศรีมะเริง อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงที่มาของงานวิจัย

ขณะเดียวกันในเนื้อกาแฟยังมีสารสำคัญอีกหลายตัว อาทิ สารอิพิคาเซซินที่พบในชาเขียว ทีมวิจัยจึงศึกษาเชิงลึกในเซลล์เพาะเลี้ยงของมนุษย์ ซึ่งเป็นเซลล์ตับ เซลล์ลำไส้และสัตว์ทดลอง ตามลำดับ ผลการศึกษาในเซลล์เพาะเลี้ยงพบฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการดูดซึมคลอเลสเตอรอลในลำไส้ ที่จะช่วยลดภาวะไขมันพอกตับที่มักพบในคนอ้วนและผู้ป่วยเบาหวาน

ในขณะที่ผลการทดลองในสัตว์ทดลอง ที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ใช้ยาลดไขมันมาตรฐาน กลุ่มที่ใช้สารคลอโรเจนิก แอซิดจากเนื้อกาแฟ และกลุ่มที่ใช้สารออกฤทธิ์จากเนื้อกาแฟร่วมกับยาลดไขมันมาตรฐาน

ผลการทดลองพบว่า ใน 2 กลุ่มแรก สามารถลดไขมันได้ราว 50% ในขณะที่สัตว์ทดลองกลุ่มที่ใช้สารคลอโรเจนิก แอซิดร่วมกับยาลดไขมันมาตรฐานนั้นสามารถลดไขมันได้ถึง 70% นอกจากนี้ เมื่อทดสอบในหนูที่เป็นโรคอ้วนและมีภาวะดื้ออินซูลิน พบว่า สารนี้มีฤทธิ์ในการลดภาวะดื้ออินซูลินอีกด้วย

เมื่อพบสารสำคัญที่มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาต่อยอด ผศ.ชุติมา จึงส่งต่อโจทย์ให้กับนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อนำสารสำคัญพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ โดยคงฤทธิ์ของสารให้มากที่สุด

“เราพัฒนากระบวนการผลิต และสูตรของผลิตภัณฑ์ โดยใช้กระบวนการทำแห้งออกมาเป็นผงชงดื่ม และเครื่องดื่มสกัดเข้มข้นแบบพร้อมดื่ม โดยต้องแก้ปัญหาของเนื้อกาแฟที่มีรสเปรี้ยว เฝื่อน ไม่อร่อย” กาญจนา นาคประสม นักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ อธิบาย พร้อมชี้ว่า หลังจากลองผิดลองถูกสูตรต่างๆ กระทั่งพบสูตรที่สารสำคัญยังอยู่ครบ รสชาติดีโดยอาสาสมัครทดสอบแล้วได้รับการยอมรับที่สุด

หวังขยายทดสอบทางคลินิก

จากผลผลิตที่ได้ในอุตสาหกรรมกาแฟที่ไม่มีมูลค่าเลย กระทั่งพบคลอโรเจนิกแอซิดที่มีถึง 11 กรัมในเนื้อกาแฟ 1 กิโลกรัมนั้น จะตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการลดการดูดซึมคลอเลสเตอรอลหรือลดเสี่ยงไขมันพอกตับ ทำให้มีโอกาสที่จะต่อยอดเชิงพาณิชย์สำหรับตลาดในประเทศในรูปของอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ

“หากแต่ผู้ประกอบการอย่างฮิลล์คอฟฟ์ ไม่ได้มองแค่ตลาดในประเทศ แต่ต้องการที่จะส่งออก เพราะตัวผลิตภัณฑ์มีโอกาสบนเวทีโลก โดยเฉพาะในยุคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ จึงต้องการต่อยอดสู่การทดสอบทางคลินิกแบบครบวงจร เพื่อศึกษาสารคลอโรเจนิก แอซิดแกับไขมันและคลอเลสเตอรอลทั้งระบบ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 10 เดือน แม้จะต้องใช้งบวิจัยสูงแต่มีโอกาสที่จะสร้างรายได้ในตลาดโลก เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างมาก” นักวิจัย กล่าว

โครงการวิจัยนี้ดำเนินการแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างขั้นตอนจดอนุสิทธิบัตร 4 ชิ้น ทีมวิจัยยังมีแผนการที่จะต่อยอดแตกไลน์จากสารคลอโรเจนิกแอซิด ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็มีโจทย์วิจัยอีกมากจากเมล็ดกาแฟเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตทางการเกษตร สร้างรายได้ สร้างโอกาสทางการตลาดทั้งในไทยและตลาดโลก