ดอยหลวงเชียงดาว...ขุนเขาในตำนาน

ดอยหลวงเชียงดาว...ขุนเขาในตำนาน

เรื่องเล่าระหว่างเส้นทางสู่ยอดภูสูงเสียดฟ้า ที่ซึ่งธรรมชาติยังคงยิ่งใหญ่และน่าค้นหาเสมอ

หลังกระแสท่องเที่ยว “ย่านเก่า - จิบกาแฟแทะเค้ก” ค่อยๆ แผ่วลง กระแสท่องเที่ยวแนวแอดเวนเจอร์ก็กำลังมา และนี่จึงทำให้ “ดอยหลวงเชียงดาว” กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง

“อีกครั้ง” ในที่นี้หมายถึงดอยเชียงดาวเคยดังครึกโครมเมื่อราวๆ 10 ปีที่แล้วกรณีมีแนวคิดจะสร้างกระเช้าลอยฟ้าเพื่อพานักท่องเที่ยวที่ “อยากเที่ยว” แต่ “ไม่อยากเดิน” ขึ้นไปสัมผัสลมหนาว และชมพระอาทิตย์ตก บนจุดสูงสุดของภูเขาแห่งนี้ด้วยสองเท้าของตัวเอง

และด้วยแรงต้านจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งกลุ่มนักพัฒนา นักวิชาการ รวมทั้งชาวบ้านที่อยู่รอบดอยหลวง ทำให้ “เมกะโปรเจค” ถูกเก็บใส่ลิ้นชักที่รอการเปิดออกมาปัดฝุ่นอีกครั้งด้วยใจระทึก ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าวันไหน

“มีกระเช้าดีมั๊ยน้าเหลิม” ผมถาม ”น้าเหลิม” หรือ เฉลิม อินสม หัวหน้าไกด์จากกลุ่มรักษ์ดอยหลวงเชียงดาว ไกด์ชาวบ้านที่มีดีกรีเป็น “นักวิจัยชาวบ้าน” หลังเดินพ้นจุดปล่อยตัวบ้านเนินมะกอกมาสักระยะ....เพราะเริ่มเหนื่อย จึงเปิดประเด็นหาเรื่องหยุดพักหายใจ

“มันก็ไม่น่าจะดีหรอก” น้าเหลิมทำเสียงเข้มแต่ก็ไม่พูดอะไรต่อ ผมจึงยกกล้องขึ้นถ่ายรูปนกที่เพิ่งบินมาเกาะกิ่งไม้ตรงเนินเขาด้านล่าง…เพราะตัวสีเทาหน้าขาวปากแดงของมันจึงทำให้มันได้ชื่อว่า “ปรอดเทาหัวขาว” อาศัยอยู่เฉพาะบนเขาที่มีความสูงมากกว่า 2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

จริงๆ แล้วเส้นทางจากด่านมะกอก (เด่นหญ้าขัด) เป็นเส้นทางที่เดินค่อนข้างง่าย ไม่มีเนินชั้นให้ต้องปีนป่าย เหมาะสำหรับมือใหม่หัดเดิน เส้นทางสวยงาม แต่เดินไกล ระยะทางราวๆ 8.5 กิโลเมตร เดินแบบสบายๆ ก็ใช้เวลาราวๆ 6 ชั่วโมง มีจุดแวะพักและถ่ายรูปหลายจุด แต่ต้องใช้เวลาในการนั่งรถเพื่อมายังด่านเด่นหญ้าขัดราวๆ 1 ชั่วโมง

สำหรับทางขึ้นตรงบ้านนาเลาเป็นทางลัด ใช้ระยะทางสั้นกว่า แต่ก็สูงและชันกว่า และยังไม่ต้องพูดถึงหากดวงดีฝนตกใส่ อาจต้องเผชิญกับการลื่นไถลก็เป็นได้ เส้นทางนี้เหมาะสำหรับพวกที่ขี้เกียจเดินไกล และต้องการทดสอบกำลังขาของตนเอง…เพราะมันชันมาก

ซึ่งคณะของผมเลือกทางเส้นนี้เป็นทางลง…จะว่าเลือกเองก็ไม่ถูกอีก คนเลือกคือคนนำทาง เพราะคงเห็นสภาพลูกทัวร์สิบกว่าคนแล้ว เด่นหญ้าขัด - อ่างสลุงคือเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับพวกเรา

แต่เอาเข้าจริงไม่ว่าจะเลือกเดินไปบนเส้นทางไหนก็ตาม ทั้งสองเส้นทางมีความยากให้ต้องตัดสินใจและฝ่าข้าม ซึ่งเรื่องนี้คนเคยเดินป่า หรือเดินเขารู้ดีว่า ทางขึ้นที่ลาดชันแม้จะเหนื่อยล้าสาหัส แต่ก็ปลอดภัยกว่าทางลงที่ลาดชันเหมือนหุบเหว เพราะมันต้องใช้ทักษะในการเดินลงอย่างไรไม่ให้ลื่นไถลตกเขา การวางเท้าลงไปในแต่ละก้าว หมายถึงต้องมั่นใจแล้วว่าวางลงไปในจุดที่จะไม่ลื่น และไม่พลาดพลั้งหรือกลิ้งลงไป และยังไม่รวมถึงว่าหากมีอายุอานามพ้นเลขสี่ หมายถึงหัวเข่าจะได้รับแรงกระแทกมากกว่าการเดินขึ้นเป็นสองเท่า

และสมาชิกส่วนใหญ่ในกรุ๊ปล้วนเลยป้ายหลักสี่มาไกลแล้ว…

....................

ถึงกระนั้นก็ตาม ทางขึ้นทั้งสองเส้นทางคือปางวัวและเด่นหญ้าขัด จะไปบรรจบกันที่ “ดงไผ่” และจากตรงนี้ก็จะเป็นเส้นทางที่ไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ผ่าน “ดงเย็น” ที่โดยมากจะใช้เป็นจุดแวะพักสำหรับกินมื้อกลางวัน ผ่าน “กิ่วป่าคา” ที่เมื่อก่อนเคยเป็นไร่ฝิ่น

“แต่ก่อนปางวัวเป็นเส้นทางลำเลียงฝิ่น เราเดินนำนักท่องเที่ยวขึ้นไป พวกเขาขนฝิ่นลงมา เราก็ใช้ทางเดียวกับเขานี่แหละ ต่างคนต่างใช้เส้นทาง ไม่มีปัญหา” น้าเหลิมเล่า

“ตอนนี้เลิกปลูกฝิ่นกันหมดแล้ว เลิกโดยเด็ดขาด พอเลิกปลูก บางคนก็มาเป็นลูกหาบ หลายคนทำบ้านพักรับนักท่องเที่ยว เปิดร้านอาหาร เขาก็มีรายได้จากการท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน”

และในท่ามกลางแดดร้อนและลมหนาว ผมมโนเห็นสีสันสวยงามของดอกฝิ่น และผีเสือสมิงเชียงดาว ซึ่งเมื่อก่อนมีชุกชุม แต่ปัจจุบันเหลือเพียงชื่อ…

“ตอนนั้นมีการจับขายกันตัวละ 500 ผมก็ออกมาจับกับเค้าด้วย แต่จับไม่เคยได้” น้าเหลิมบอก

ขณะที่ อรุณ อุลัย อดีตนักวิจัยชาวบ้านเล่าข้อสันนิษฐานจากการร่วมเป็นหนึ่งในทีมวิจัย ด้านพรรณพืชและพันธุ์สัตว์บนดอยหลวงเชียงดาวว่า ผีเสื้อสมิงเชียงดาวมักกินน้ำหวานจากดอกฝิ่น เมื่อฝิ่นถูกกำจัดจนหมด แหล่งอาหารของสมิงเชียงดาวจึงไม่มี...

และผีเสื้อสมิงเชียงดาวก็หายไปเมื่อฝิ่นต้นสุดท้ายถูกตัด

แน่นอนว่า หากข้อมูลนี้เป็นจริง ชาวบ้านอาจหลุดพ้นจากการตกเป็นจำเลยว่าจับผีเสื้อไปขายต่างชาติ

.......................

ผมยังนั่งซุกอยู่ในพงกอหญ้ากอเล็กๆ ตรงกิ่วป่าคาเพื่อหลบแดด และพักเหนื่อยรอสมาชิกในกรุ๊ปมาสมทบ ขณะที่นักท่องเที่ยวคนอื่นๆ จากกรุ๊ปอื่นพากันไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยอาการเหนื่อยหอบโดยไม่สนใจบรรยากาศอันงดงามสองข้างทาง…

จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะ “การเดินป่า” หรือ “การเดินขึ้นภูเขา” เหตุผลที่ทำให้เราไม่สนใจระหว่างทางก็คือ “ความเหนื่อยล้า” เราจึงสนใจจะไปให้ถึงที่หมายเพื่อที่จะ “พิชิต” ภูเขาลูกนั้น แม้จะมีคำพูดสวยๆ เช่น “เป้าหมายไม่สำคัญเท่าระหว่างทาง” แต่ในชีวิตจริงมันไม่เป็นเช่นนั้น

ในชีวิตจริง คนมักไม่สนใจเรื่องเล็กๆ ระหว่างทางเหมือนที่น้าเหลิมบอก...“เมื่อถึงกิ่วป่าคา เราก็จะก้มหน้าก้มตาเดิน เพราะบริเวณนี้มีสิ่งน่าสนใจเยอะมาก”

สิ่งน่าสนใจของน้าเหลิมมีตั้งแต่ตำนานไร่ฝิ่น และความปราดเปรื่องในการทำแหล่งน้ำสำหรับการปลูกฝิ่นของเกษตรกรผู้ปลูกฝิ่น เพราะดังที่ทราบ บนดอยหลวงไม่มีแหล่งน้ำ ดังนั้น น้ำที่นักท่องเที่ยวใช้คือน้ำที่ลูกหาบต้องหาบไปจากหมู่บ้าน

และไม่ว่าจะยืนอยู่ตรงจุดไหนของกิ่วปาคา จะมองเห็นค้อเชียงดาว หรือ “ปาล์มรักเมฆ” ซึ่งเป็นหนึ่งต้นไม้เฉพาะถิ่นของดอยหลวงเชียงดาวที่มีมากกว่า 2,000 ชนิด

และถ้าเดินไปถึงในเวลาที่เหมาะเจาะจะเห็นดวงอาทิตย์ที่ลับไปหลังยอดดอยสามพี่น้องซึ่งให้ความสวยงามแปลกตา...เหล่านี้จะทำให้การเดินขึ้นดอยหลวงมีความหมายมากกว่าการได้พิชิต

 “เคยมีเรื่องเล่าว่า มีการนำนักท่องเที่ยวมาคณะหนึ่ง หลังเดินไปถึงจุดกางเต้นท์และถอดบทเรียน” น้าเหลิมหาเรื่องมาเล่าให้พวกเราฟังเพื่อคลายความเหนื่อย

“ผู้หญิงหน้าตาดีคนหนึ่งเล่าในกลุ่มว่า ตัวเองเป็นคนสวย และมั่นใจว่าการมาเที่ยวดอยหลวงเชียงดาว ถ้าเดินเหนื่อยๆ จะต้องมีหนุ่มๆ มาช่วยพยุง หรือช่วยแบกเป้แน่นอน แต่ปรากฏว่า ระหว่างทางเดินตรงกิ่วปาคา ซึ่งเป็นทางขึ้นเขาและโล่ง ไม่มีแม้ที่จะหลบแดด ผู้ชายหลายคนเดินผ่านเธอไปโดยไม่เหลียวแล สุดท้ายเธอต้องพยุงตัวเอง และสัมภาระติดตัวเดินมาจนถึงจุดพัก เธอบอกว่า ค้นพบสัจธรรมบางอย่าง...ความสวยมันช่วยอะไรเธอไม่ได้ในขณะที่ทุกคนอยู่ในสถานการณ์ที่เหนื่อยยาก”

ดังนั้น เราจึงเห็นคนก้มหน้าก้มตาเดินด้วยอาการเหนื่อยหอบ โดยหลงลืมความสวยงามระหว่างทาง ซึ่งบางทีถ้าไม่รีบ การหยุดพักฟังเรื่องเล่าระหว่างทางอาจทำให้อาการเหนื่อยกายทุเลาเบาลง และทำให้การเดินขึ้นภูเขามีคุณค่ามากกว่าการได้ไปพิชิตภูเขาสักลูก

แม้จะไม่ได้ถือตัวเป็นผู้พิชิต แต่ในที่สุดผมก็มาถึงจุดสูงสุดของดอยหลวงเชียงดาวพร้อมกับเพื่อนร่วมทางเพื่อเฝ้ารอแสงสุดท้ายที่เราต่างเห็นตรงกันว่า...สวยจนลืมเหนื่อย แต่ถ้าถามถึงความประทับใจแล้ว แน่นอนว่า...มันคือทั้งหมดของภาพและเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนเส้นทางนี้

*****************

-กายพร้อม ใจพร้อม-

สำหรับคนที่เคยเดินป่าครั้งแรกหรือห่างเหินจากการเดินที่สูงไปนาน แนะนำว่าควรเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมก่อนออกเดินทาง มิฉะนั้นการไปถึงจุดหมายอาจกลายเป็นความทุกข์ทรมาน(สังขาร)

การเตรียมตัว

หลังจองทริปเรียบร้อย แนะนำว่าควรออกกำลังกายโดยเฉพาะการวิ่ง หรือฝึกเดินขึ้นเดินลง บันได เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อขามีกำลังในการเดิน ไม่เป็นตะคริว และไม่อักเสบหลังเดินทางกลับ สำหรับคนที่ไม่เคยเดิน หรือเดินไม่บ่อย สเปรย์ฉีดเพื่อคลายกล้ามเนื้อจะช่วยให้การเดินดอยหลวงเชียงดาวสนุกขึ้น

การเตรียมใจ

สำหรับคนที่เดินป่ามาบ้างอาจไม่ลำบากมากนัก สำหรับคนที่ไม่เคยเดิน ต้องเตรียมใจว่า ที่หลับที่นอนบนดอยไม่ได้สะดวกสบาย เพราะนอนเต้นท์ ไม่มีน้ำให้อาบ ห้องน้ำก็ขุดหลุมและมีผ้าใบกัน อาหารการกินก็ขึ้นอยู่กับการพูดคุยกับคนนำทาง

การเตรียมพร้อม

ก่อนออกเดินทางแนะนำตรวจสอบสภาพอากาศล่วงหน้า 3 วัน เพราะช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย และการตรวจสอบสภาพอากาศจะส่งผลต่อการเตรียมเสื้อกันหนาว เสื้อกันฝน หรือถุงนอน

Trick

วิธีทีแยบยลของการขึ้นเขาแบบไม่ให้เหนื่อยมากคือการเดินเคียงคู่ไปกับไกด์นำทาง ซึ่งจะทำให้เกิดข้อดี 2 ประการคือ หนึ่งสามารถพักเหนื่อยแบบเนียนๆ โดยที่คนอื่นไม่รู้ว่าเหนื่อย และสอง ยังได้ความรู้ติดตัวเก็บไว้คุยให้กับพวกที่ไม่เคยลิ้มรสการท่องเที่ยวด้วยการเดินเท้า

เพราะระหว่างทาง ไกด์จะหยุดเพื่ออธิบายเรื่องราวของต้นไม้ใบหญ้าแต่ละต้นที่เดินผ่าน หรือบางกรณีก็รอเก็บตกกลุ่มที่เดินช้า เราก็สามารถถือโอกาสนี้แอบไปยืนหอบและเงี่ยหูฟังไกด์กำลังชี้นกชมไม้และเล่าเรื่องให้กับผู้ร่วมทางคนอื่นๆ แต่ถ้าจะให้เนียนยิ่งกว่านั้นแนะนำว่าควรพกกล้องตัวเล็กๆ สักตัวคล้องคอไว้ เมื่อเวลาหอบเหนื่อยก็อาจจะยกกล้องขึ้นมาเล็งๆ หรือจะถ่ายสักสองสามช็อทพอเป็นพิธี

วิธีการนี้ใช้ได้ผลกับการเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาวครั้งที่สองของผม เพราะสามารถประคองตัวจากจุดเริ่มต้นตรงด่านมะกอก (เด่นหญ้าขัด) ตอนราวๆ 10 โมงเช้า จนถึงเส้นชัยคือจุดกางเต้นท์บริเวณอ่างสลุงบนยอดดอยที่จัดว่าสูงเป็นอันดับสามของประเทศในเวลา 4 โมงเย็นได้อย่างสบายๆ และยังมีเวลาเหลือๆ สำหรับนอนเอาแรงก่อนปีนเขาลูกสุดท้ายคือ จุดสูงสุดของดอยหลวงเชียงดาวเพื่อชมพระอาทิตย์ตกดินที่ได้ชื่อสวยที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศ

-การเดินทาง-

เชียงดาวมีกฏเหล็กคือนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางขึ้นไปได้ด้วยตัวเองเหมือนภูกระดึง เพราะฉะนั้นต้องมีไกด์นำทางซึ่งสามารถหาได้ตามเว็บไซต์เพียงแค่เสิร์ช “ดอยหลวงเชียงดาว” แต่ในที่นี้ขอแนะนำ “กลุ่มรักษ์ดอยหลวงฯ” ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ทำวิจัยเพื่อหาแนวทางการจัดการรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยติดต่อผ่าน อรุณ อุลัย ซึ่งเป็นผู้ประสานงานได้ที่ 08 1748 4871

การติดต่อจองทริปต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน โดยทางกลุ่มรักษ์ดอยหลวงมีการจัดทริปสองรูปแบบคือ 2 วัน 1 คืน ราคา 2,550 บาทต่อคน และ 3 วัน 2 คืน ราคา 3,150 บาทต่อคน ราคานี้่ไม่ร่วมค่ารถรับส่ง 1,800 บาท ค่าลูกหาบ 500 บาทต่อคน