'บิ๊กฉัตร' ตรวจเยี่ยมโครงการเพิ่มน้ำอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาร
อธิบดีและรองอธิบดีกรมชลฯ ต้อนรับ "บิ๊กฉัตร" ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและสรุปผลการดำเนินงานก่อสร้างโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา
ในการนี้ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่างๆ นั้น ในส่วนของกรมชลประทาน พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีได้ให้ กรมชลประทาน เร่งดำเนินงานโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ ให้แล้วเสร็จตามแผนงานภายในปี 2564 ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว จะมีการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำแบ่งเป็น 2 ช่วง ด้วยกันคือ ช่วงที่ 1 การขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำช่วงอ่างเก็บน้ำแม่งัดฯ-อ่างเก็บน้ำแม่กวงฯ และอาคารประกอบ ระยะทาง 22.975 กิโลเมตร ปัจจุบันสามารถขุดได้ระยะทาง 4,713 เมตร คิดเป็นความก้าวหน้าร้อยละ 27 ส่วนช่วงที่ 2 เป็นการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำช่วงลำน้ำแม่แตง-อ่างเก็บน้ำแม่งัดฯ และอาคารประกอบ ระยะทาง 25.624 กิโลเมตร ปัจจุบันสามารถขุดได้ระยะทาง 647 เมตร คิดเป็นความก้าวหน้าร้อยละ 10
ดร.ทองเปลว กล่าวว่า เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้เฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพื่อใช้ในการเกษตร อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ ช่วยเพิ่มเสถียรภาพการส่งน้ำของพื้นที่ชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จำนวน 175,000 ไร่ และเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกช่วงฤดูแล้งของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง จำนวน 14,550 ไร่ นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม ในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน จากปีละ 13.31 ล้าน ลบ.ม. เป็น 49.99 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งยังจะเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิงตอนบน ซึ่งกรมชลประทานจะนำระบบโทรมาตรและระบบเตือนภัยน้ำท่วมมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำและเตือนภัยจากน้ำหลากที่เกิดขึ้นล่วงหน้าอีกด้วย