ทิศทางพลังงานไทย กระแสโซลาร์มาแรง

ทิศทางพลังงานไทย กระแสโซลาร์มาแรง

ท่ามกลางความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ในตลาดโลก ไทยต้องเร่งวิจัยรองรับ ขณะที่ภาครัฐต้องมีกลไกจูงใจให้ใช้นวัตกรรมในประเทศ ด้านเอกชน-กฟผ.-กกพ. เร่งเดินหน้าขยายการใช้พลังงานแดดและพลังงานหมุนวียนอื่นๆ

บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดเสวนา “ทิศทางพลังงานไทย ในกระแสโซลาร์มาแรง” หวังสร้างการรับรู้เรื่องของพลังงานทางเลือกให้กับประชาชน วิทยากรเริ่มจาก บุญรอด สัจจกุลนุกิจ นักวิชาการจากเจจีซี กล่าวว่า หากมองเรื่องเทคโนโลยีตัวโซลาร์เซลล์ ไทยเราตามไม่ทันจีนแน่นอน ด้วยมีจุดแข็งทั้งเรื่องของประสิทธิภาพและราคา ที่แม้สหรัฐหรือเยอรมนีที่เป็นผู้นำด้านนี้มาก่อนก็ต้องยอมแพ้


“นักวิจัยด้านนี้ของเรามีอยู่น้อย ในขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตัวก้อนเซลล์ที่หากเราจะเร่งวิจัยก็ตามผู้นำอย่างจีนไม่ทันแน่นอน ทำให้ภาคธุรกิจของไทยที่ทำเรื่องโซลาร์เซลล์นิยมนำเข้ามาประกอบ ส่วนที่เหลืออีกราว 80% ของระบบจะใช้วัสดุในประเทศ ดังนั้น หากจะวิจัยและพัฒนาด้านนี้ ต้องมองข้ามช็อตไปในอนาคต หรือเลือกที่จะพัฒนาในส่วนของ 80% ที่เหลือ เช่น อินเวอร์เตอร์ ที่เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นและเรามีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ ที่สำคัญคือ ภาครัฐต้องสนับสนุน วางกลไกจูงใจ ดังเช่นในมาเลเซียที่รูปแบบการใช้โซลาร์เซลล์เหมือนไทย และรัฐจูงใจด้วยการให้ค่าแอดเดอร์ที่สูงขึ้นสำหรับคนที่ใช้ระบบโซลาร์เซลล์ที่ใช้อินเวอร์เตอร์ที่พัฒนาและผลิตในประเทศนั่นเอง"


มุมมองเช่นนี้ ตรงกับความต้องการใช้งานของภาคอุตสาหกรรมที่ ศ.ดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย มองว่า พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นเร็วที่สุด จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี 2558-2579 ที่ตั้งเป้าว่าภายใน 20 ปีข้างหน้า จะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 20% ของประเทศ หรือประมาณ 1.9 หมื่นเมกะวัตต์ สิ่งที่เอกชนต้องการเพื่อส่งเสริมเรื่องของโซลาร์รูฟ หรือการใช้แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคานั้น ต้องการกลไกสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระเบียบโซลาร์รูฟเสรี โซลาร์รูฟภาคประชาชน และเรื่องของ Third Party Access (TPA) ที่เอื้อให้เอกชนสามารถใช้ระบบจำหน่าย ระบบสายส่งเป็นทางผ่านได้


ในขณะเดียวกัน ก็เรียกร้องให้แก้ไขกฎกระทรวงเพื่อยกเลิกบัญชีแนบท้ายลำดับที่ 88 (รง.4) โดยมีระเบียนรองรับโรงไฟฟ้าแทน รง.4 และยกเลิกใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) ที่ซ้ำซ้อนกับใบอนุญาตผลิตพลังงาน รง.4 ที่สำคัญคือ มีกาเรรียกร้องให้ปรับปรุงกริดโค้ด (Grid Code) ของ กฟน. และกฟผ. เช่นเรื่องของรีเลย์ ค่าบริการที่ไม่มีเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน ระยะเวลาที่นาน รวมถึงเรื่องของค่าธรรมเนียม Back Up Fee อีกด้วย
เอกชน-รัฐต้องร่วมใจ


ภาครัฐอย่าง วีรพล จิรประดิษฐกุล กรรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ สหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่าผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มองในทิศทางเดียวกันทั้งในเรื่องของค่าธรรมเนียม ที่ต้องคำนวณต้นทุนการวางระบบให้ตอบความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ แต่หากมีการผลิตไฟฟ้าใช้เอง ความต้องการจะลดลง แต่ต้นทุนค่าระบบเท่าเดิม ทำให้อาจต้องปรับขึ้นค่าไฟ ส่งผลกระทบต่อคนที่ไม่ได้ผลิตไฟใช้เอง ค่าธรรมเนียมจะมาลดภาระด้านนี้ ในขณะเดียวกัน เรื่องของ “กริดโค้ด” จะเป็นการป้องกันในกรณีที่กระแสไฟจากระบบผลิตไฟจากโซลาร์เซลล์ที่จะย้อนกลับเข้ามาในระบบไฟฟ้า ส่งผลต่อความถี่ของพลังงานในระบบไฟฟ้าที่ผันผวนจากปริมาณพลังงานที่เข้าและออก รวมถึงอาจมีตัวกวนระบบจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่คุณภาพไม่ดี ทั้งหมดจะส่งผลต่อระบบหลัก และอาจสร้างความเสียหายในระดับประเทศได้
สำหรับวิธีแก้ที่มีการเตรียมการเอาไว้มีทั้งการติดตั้ง Energy Storage เพื่อให้ระบบไฟฟ้าทำงานอย่างราบรื่น ควบคุมความถี่และการเปลี่ยนผ่านของพลังงานได้ โดยปัจจุบัน กฟผ. มีโครงการ Battery Energy Storage System Project ที่แม่ฮ่องสอน กำลังไฟฟ้า 4 เมกะวัตต์ จะช่วยลดเวลาในการเกิดไฟดับเหลือน้อยกว่า 500 นาทีต่อปี จากเดิมที่สูงถึง 2,614 นาทีต่อปี และมีอีก 2 โครงการที่อยู่ระหว่างการอนุมัติโครงการคือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ กำลังไฟฟ้า 16 เมกะวัตต์ และ สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี กำลังไฟฟ้า 21 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวนมาก และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง