ส.ผู้ส่งออกแนะชาวนาปลูก 'ข้าวพื้นนิ่ม' ป้อนตลาดจีน
ส.ผู้ส่งออกเดินสายพบชาวนาทั่วไทย แนะปลูก "ข้าวพื้นนิ่ม" ป้อนตลาดจีน
จากข้อมูลการแถลงของอธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ “อดุลย์ โชตินิสากรณ์” ที่ระบุว่าในช่วง 7 เดือน(1 ม.ค.-8 ส.ค.) ที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกข้าวได้กว่า 6.79 ล้านตัน มูลค่ากว่า 3,425 ดอลลาร์สหรัฐ โดยส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกตลาด อาทิ อินโดนีเซีย 4.5 แสนตัน เพิ่มมากถึง 695% มาเลเซีย 2 แสนตัน เพิ่มขึ้น 53% ฟิลิปปินส์ 2 แสนตันเพิ่มขึ้น 25% แอฟริกาใต้เพิ่ม 12% แองโกลาเพิ่มขึ้น 7% เป็นต้น แต่ตลาดข้าวหอมมะลิกลับลดลงเช่น ฮ่องกง ลดลง 14.64% จีน ลดลง 35.89% เนื่องจากข้าวหอมมะลิไทยมีราคาสูงขึ้นตันละเกือบ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ
ถึงกระนั้นการส่งออกข้าวไทยจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากต่างชาติต้องการซื้อข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากเอเชียและแอฟริกา โดยขณะนี้กำลังมีการเจรจาส่งมอบข้าวให้แก่จีนอีก 1 แสนตัน จากที่ส่งมอบไปแล้ว 5 แสนตัน ตามสัญญาซื้อขายข้าวรัฐต่อรัฐรวม 1 ล้านตัน รวมทั้งจะเร่งผลักดัน จีนให้ลงนามในสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจีกับไทยอีก 1 ล้านตัน หากตกลงกันได้จะทำให้มีตลาดรองรับข้าวไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า
“ขณะนี้ไทยเตรียมเข้าร่วมประมูลข้าวให้แก่รัฐบาลฟิลิปปินส์ที่จะเปิดประมูลข้าวอีก 5 แสนตัน แบ่งเป็นจีทูจี 2.5 แสนตัน และประมูลซื้อจากเอกชนอีก 2.5 แสนตัน อีกทั้งยังมีการเจรจาลงนามบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู)ซื้อข้าวแบบจีทูจีกับรัฐบาลอิรัก ทำให้มั่นใจว่าปีนี้ไทยจะส่งข้าวออกได้ 11 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปี 2560 ที่ส่งออกได้ถึง 11.6 ล้านตัน ครองตำแหน่งส่งออกข้าวสูงสุด” อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ เผยสถานการณ์ส่งออกข้าวไทย
อย่างไรก็ตามจากการรายงานสถานการณ์ข้าว-ประจำเดือนกรกฎาคม 2561 ซึ่งกรมการข้าวได้คาดการณ์ข้าวในฤดูกาลผลิตปี 2561/62 ผลผลิตข้าวโลกได้ 487.35 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 0.02% เมื่อเทียบกับปี 2560/61 เนื่องจากจีน อินเดีย และปากีสถาน ประสบภัยแล้ง ปริมาณน้ำฝนลดลง โดยอินเดียจะส่งออกข้าวมากเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 12.80 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้ส่งออกแล้ว 6.23 ล้านตัน (1 ม.ค.-26 มิ.ย.) ส่วนปี 2562 การค้าข้าวโลกจะมีปริมาณ 49.50 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.71% เนื่องจากไนจีเรีย โกตดิวัวร์ มาเลเซีย อิหร่าน และ อิรัก จะนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ไทย อินเดีย จีน สหรัฐ และกัมพูชาจะส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น
ส่วนราคาข้าวเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคม ข้าวหอมมะลิตันละ 16,835 บาท ข้าวหอมปทุมตันละ 10,335 บาท ข้าวเจ้าตันละ 7,750 บาท และข้าวเหนียวเมล็ดยาวตันละ 9,928 บาท ราคาข้าวทุกชนิดอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากเดือนมิถุนายน เนื่องมาจากตลาดชะลอ
ขณะเดียวกันสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ประสานพลังกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าจัดโครงการ “พลังประชารัฐ พัฒนาข้าวไทย” ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมจัดสัมมนาเสริมสร้างความรู้และชี้แจงมาตรการข้าวของรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อพัฒนาและยกระดับข้าวไทยอย่างยั่งยืน ที่ห้องประชุมอเนกประสงค์โรงเรียนบ่อวิทยบางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน ประกอบด้วยผู้แทนสภาเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ และกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ กลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการค้าข้าวและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพาะปลูกภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์
พร้อมกันนี้ได้มีการเสวนาในหัวข้อ “ราคาข้าว…ใครกำหนด” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิได้แก่ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้อกข้าวไทย, วิจักร วิเศษน้อย อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, พัชรี พยัควงษ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร 2 กรมการค้าภายใน และ ณรงค์ ชัยจิตรารัชต์ ผู้แทนผู้ประกอบการโรงสีข้าว โดยมี สมชาติ สร้อยทอง ที่ปรึกษางานพาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าโครงการ ‘พลังประชารัฐ พัฒนาข้าวไทย’ เป็นการรวมพลังของสมาคม กับภาครัฐ ได้แก่ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งสมาคม เป็นหนึ่งใน 4 มิติของการขับเคลื่อนพัฒนา ‘เพื่อข้าว – เพื่อชาวนา – เพื่อการค้า และเพื่อประชาสังคม’ โดยเป็นการลงพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพื่อรับฟังปัญหาและร่วมหาแนวทางแก้ไขอย่างใกล้ชิด รวมทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนาการผลิตให้ตรงความต้องการของตลาด การให้ความช่วยเหลือด้านวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่พี่น้องเกษตรกรชาวนาไทย ซึ่งดำเนินไปพร้อมกับขับเคลื่อนและพัฒนาด้านการค้าและการส่งออกข้าวไทยเพื่อให้ข้าวไทยเป็นหนึ่งในตลาดโลก
“ตอนนี้ตลาดต้องการข้าวพื้นนิ่มมากโดยเฉพาะตลาดจีน แต่เรายังผลิตไม่พอขาย อยากให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวพื้นนิ่มเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดบนอย่างหอมมะลิไม่มีปัญหา มีตลาดชัดเจนอยู่แล้ว” นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเผยข้อมูล
ขณะที่ พัชรี พยัควงษ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร 2 กรมการค้าภายใน กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวว่า กรมการค้าภายใน ได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวผ่านหลากหลายโครงการ อาทิ การจัดหารถเกี่ยวให้เกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมาก ช่วยให้ชาวนาเกี่ยวข้าวได้ครบอายุพันธุ์ ได้ข้าวคุณภาพดีขายได้ราคาดี โดยเกษตรกรสามารถจองรถเกี่ยวได้ผ่านแอพพลิเคชั่น ‘จองรถเกี่ยว’ การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรทุกราย ไร่ละ 1,200 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่
การให้สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ให้เก็บข้าวเปลือกเข้ายุ้งฉาง รอราคาดีแล้วค่อยขาย เพื่อไม่ให้ราคาลดลงในช่วงผลผลิตออกมาก การให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อรวบรวมหรือแปรรูปข้าว โดยผู้กู้เสียดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 การชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าว ในการเก็บข้าวในสต็อก ซึ่งรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 การจัดตลาดนัดข้าวเปลือกให้เกษตรกรมีทางเลือกในการขาย ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2561 โดยมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือ ให้ความเป็นธรรมในการขาย ดูแลเครื่องชั่ง เครื่องวัดความชื้นที่ได้มาตรฐานและดูแลการตรวจสิ่งเจือปนและสุดท้ายการเชื่อมโยงการตลาดข้าวอินทรีย์และข้าวจีเอพี โดยสนับสนุนค่าตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การจัดสรรโควตาส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรป การอุดหนุนเงินให้เกษตรกร เพื่อส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ปีที่ 1-3 เป็นเงิน 2,000-3,000 บาท และ 4,000 บาท ตามลำดับ
ด้าน สมชาติ สร้อยทอง ที่ปรึกษางานการพาณิชย์ในประเทศ ย้ำว่ารัฐบาลได้กำหนดมาตรการสินค้าเกษตร รวมทั้งมาตรการสินค้าข้าว เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาอย่างเป็นระบบ นำไปสู่เสถียรภาพของราคาสินค้าและรายได้ที่แน่นอนคุ้มค่ากับต้นทุนการผลิตของเกษตรกร อีกทั้งยังเตรียมความพร้อมเพื่อรับปัญหาเรื่องการแข่งขันทางการค้าที่สูงขึ้น โดยทำให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพและตรงความต้องการของตลาด การปกป้องผลประโยชน์ของตนเองให้ได้รับความเป็นธรรมในการจำหน่ายข้าวเปลือก ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ
ส่วน วิจักร วิเศษน้อย อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ความเห็นว่าการลงพื้นที่เพื่อพบปะกับพี่น้องเกษตรกรของผู้ประกอบการส่งออกข้าว นอกจากจะได้รับฟังปัญหา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันแล้ว ยังช่วยให้ชาวนาได้รับรู้ถึงสถานการณ์ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งสถานการณ์การตลาดปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมาก ดังนั้น ชาวนาไทยต้องเร่งปรับตัว เพื่อเตรียมพร้อมรับมืออย่างเท่าทัน
"หากถามว่าใครเป็นคนกำหนดราคาข้าวก็ต้องบอกว่าไม่มีใครไปกำหนดได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดโลกและการผลิตของเราที่ต้องให้สมดุลกัน สิ่งสำคัญที่จะต้องทำคือ ทำอย่างไรให้ต้นทุนการผลิตของเราต่ำที่สุด และทำอย่างไรให้ข้าวไทยของเรามีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกันคนละไม้คนละมือ ก็จะสามารถขับเคลื่อน และยกระดับข้าวไทยได้ตลอดทั้งกลไกการตลาด และเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน” วิจักรกล่าวยืนยัน
ภายใต้ โครงการ “พลังประชารัฐ พัฒนาข้าวไทย” กรมการค้าภายในและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จะร่วมกันจัดคณะลงพื้นที่ในภาคต่างๆ จนสิ้นเดือนกันยายนรวม 8 ครั้ง เพื่อพบปะผู้แทนเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จาก 30 จังหวัด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาข้าวไทยอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนของประเทศชาติและชาวนาไทย