ศาลสั่ง 'ฟอร์ด' ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 23 ล้าน หลังผู้ใช้รถ308รายยื่นฟ้อง
ศาลสั่ง "ฟอร์ด" ชดใช้ค่าเสียหาย กว่า 23 ล้าน หลังผู้ใช้รถ308รายยื่นฟ้อง ยกฟ้องสมาชิกกลุ่มจำนวน 12 ราย เนื่องจากได้มีการดัดแปลงสภาพรถ
วันนี้ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลนัดฟังคำพิพากษา ในคดีแบบกลุ่มผู้บริโภค กรณีเหยื่อรถยนต์ฟอร์ด 308 คน รวมตัวยื่นฟ้องบริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย ) จำกัด เพราะเป็น บริษัทที่รับผิดชอบการผลิตโดยตรง โดยยื่นฟ้องในความผิดฐานสั่งผลิตและรถยนต์ชำรุดบกพร่องออกจำหน่าย ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย และเป็นคดีผู้บริโภค ที่มีการเรียกค่าเสียหายเชิงลงโทษและจิตใจ รวมกว่า 24ล้านบาท
ซึ่งกลุ่มผู้เสียหาย ทั้ง 308ราย พร้อมทนายความ เดินทางมาฟังคำพิพากษา
โดยศาลได้อ่านคำพิพากษา พิเคราะห์แล้วเห็นว่า บริษัทฟอร์ดสั่งประกอบและผลิตรถยนต์ทั้ง 2 รุ่นออกมาจำหน่ายในประเทศไทยจำนวน 9 หมื่นคันต่อปี แต่พบรถยนต์ที่มีปัญหาไม่เกิน 500 คันเท่านั้น และยังไม่มีผู้เสียหายรายใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
แม้ทางบริษัทฟอร์ดจะยอมรับว่า มีข้อบกพร่องชำรุด ในเรื่องชุดคลัชและชุดเกียร์ แต่ก็เป็นปัญหาที่สามารถซ่อมแซมและเปลี่ยนอะไหล่ได้ ยังไม่ถือว่ารถยนต์ทั้ง 2 รุ่นเป็นสินค้าที่ไม่มีความปลอดภัย หรือไม่ได้มาตรฐาน ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งให้ทางบริษัทฟอร์ด ซื้อคืนรถที่มีปัญหาจากผู้เสียหาย หรือห้ามจำหน่ายหรือเรียกเก็บรถทั้ง 2 รุ่นที่ยังอยู่ในท้องตลาดได้
แต่ให้ทางบริษัทฟอร์ด ชดใช้ค่าเสื่อมราคาจากการซ่อมครั้งละ 2 หมื่นบาท / และค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้รถระหว่างซ่อมวันละ 1,000 บาท ให้กับโจทก์และสมาชิกกลุ่มรวมทั้งสิ้น 296 ราย ตกรายละ 15,000 บาท ถึง 240,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 23 ล้านบาท และให้จ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้อง โดยให้ชำระเงินคืนให้กับผู้เสียหายภายใน 7 วัน
ส่วนผู้เสียหายอีก 12 รายศาลให้ยกฟ้อง เนื่องจากผู้เสียหายนำรถยนต์ไปดัดแปลงสภาพติดตั้งระบบแก๊ส LPG จำนวน 6 ราย และ ไม่เคยนำรถยนต์เข้าซ่อมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนชุดคลัตช์และชุดเกียร์ที่มีปัญหา จำนวน 6 ราย
ทนายความ จิณณะ แย้มอ่วม บอกภายหลังศาลมีคำสั่งว่า คำสั่งครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่ ยืนยันว่า ผู้บริโภคชนะคดี จากการรวมตัวกันของผู้เสียหาย แสดงให้เห็นถึงพลังว่าสามารถต่อสู้คดีได้จริงๆ
ส่วนเรื่องสินค้าที่ไม่ปลอดภัย/และผู้บริโภคที่ไม่เคยซ่อม และศาลเห็นว่าความเสียหายไม่เป็นรูปธรรม รวมถึง ผู้บริโภคการดัดแปลงเครื่องยนต์ ที่ศาลมองว่า ไม่ต้องจ่ายเงิน ทางทีมทนายความก็จะกลับหารือว่า จะนื่นอุทรณ์ประเด็นนี้เหล่านี้หรือไม่ ซึ่งกระบวนการอุทรณ์มีกรอบระยะเวลาภายใน 30วัน
ทนายความยังบอกอีกว่า กลุ่มผู้เสียหายต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปกฎหมายและหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. และอยากผลักดันกฎหมาย Lemon Laws หรือตั้งองค์กรณ์อิสระ ให้มาคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริงเหมือนในต่างประเทศ ซึ่งมีการคืนเงินให้กับผู้เสียหายที่รถมีปัญหาภายใน 3 เดือน หรือ เปลี่ยนคันใหม่ให้หากพบว่ารถยังมีปัญหาอยู่ใน 6 เดือน
ขณะที่ กอปศักดิ์ นุ่มน้อย หนึ่งในตัวแทนผู้เสียหายที่เป็นโจทย์ร่วมในการฟ้องร้องคดี บอกด้วยว่า วันนี้ถือเป็นวันที่ประสบความสำเร็จ ในการแสดงจุดยืนของผู้บริโภคที่รวมตัวกัน และให้มีการตัดสินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งก็พึงพอใจในระดับหนึ่ง และตัวเลขค่าเสียหายที่ได้รับเป็นแค่การประเมิณคร่าวๆจากศาล ทั้งนี้ ผู้เสียหายก็มีทั้งที่พึงพอใจ และไม่พึงพอใจ โดยขั้นตอนต่อไป จะเข้าสู่การยื่นอุทรณ์ เพราะเป็นสิทธิของผู้บริโภคโดยจะมาดูในรายละเอียดทุกข้อ ว่ามีส่วนไหนที่ยังไม่สมประโยชน์ และไม่ได้รับการเยียวยา ก็จะอุทรณ์ในประเด็นนั้น ส่วนจะมีประเด็นใดบ้าง ขอไปหารือก่อน
สำหรับนายกอปศักดิ์ ส่วนตัวยังใช้รถยนต์ฟอร์ดอยู่ แต่ใช้ในระยะทางใกล้ๆ เพราะยังไม่มั่นใจว่ารถจะปลอดภัย แม้จะมีการเปลี่ยนชุดครัช ชุดเกียร์ แล้วก็ตาม แต่รถแค่อาการดีขึ้นในระยะหนึ่งเท่านั้น เมื่อถูกใช้งานไปเรื่อยๆ ก็กลับมาเสียเช่นเดิมเหมือนเดิม
ทั้งนี้ ก็ขอเรียกร้องด้วยว่า อยากให้มีกฎหมาย คุ้มครองดูแลประชาชนผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง และมีการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับคดีนี้ ผู้เสียหายที่ใช้รถยนต์ฟอร์ด รุ่นเฟียสต้า โฟกัส และอีโค่สปอร์ต ได้รวมตัวกันยื่นฟ้องต่อศาล เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2560 และศาลได้รับฟ้องเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา