ภาคี FLR พลิกดอยแม่แจ่ม คนต้นน้ำส่งสุขปลายน้ำ
ป่าต้นน้ำคือแหล่งน้ำและอาหารหล่อเลี้ยงคนในชาติ กลไกกองทุน FLR จึงเป็นเครื่องมือดึงคนในชุมชนออกจากห่วงโซ่ทุนนิยม ปลูกป่าตามรอยศาสตร์พระราชา ฟื้นผืนป่า ปลดภาระหนี้สิน แม่แจ่มโมเดลที่หวังสเกลอัพสู่ระดับประเทศ ปลดล็อกปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
หลายปีที่ผ่านมา ภาคเหนือของประเทศป่าต้นน้ำ แหล่งกำเนิดแม่น้ำเส้นเลือดใหญ่แหล่งน้ำ และอาหารเลี้ยงคนไทยเกือบทั้งประเทศ เผชิญวิกฤติหนักทุกๆ ปีมีทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และหมอกควันไฟป่าปล่อยมลพิษให้คนในประเทศ จนถูกมองเป็นผู้ร้ายไม่แตกต่างกันกับกระแสของภูเขาหัวโล้น ในจ.น่าน นี่เป็นหนึ่งในหลายๆ แห่งของป่าต้นน้ำไทยเข้าสู่วิกฤติสิ่งแวดล้อม
ปมปัญหาหลักที่หลายหน่วยงานพยายามเข้าไปคลี่คลายวิกฤติป่าและชุมชน สาเหตุหลักมาจากการบุกรุกป่า เผาป่าปลูกพืชเดี่ยวเพื่อการดำรงชีพ เป็นแหล่งรายได้หลักของพวกเขา วิธีการมีชีวิตที่ไม่มีทางเลือก เพราะรู้เท่าไม่ถึงการว่าสิ่งพวกเขาทำนั้นได้ส่งผลกระทบมหาศาลต่อโลก ต้นน้ำ และคนปลายน้ำผู้ใช้น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค
ไพรัตน์ โตวิวัฒน์ ผู้อำนวยการกองทุนฟื้นฟูป่าและสร้างระบบอาหารยั่งยืน (FLR349 -Forest Landscape) โครงการนำร่องแห่งแรกที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ หนึ่งในแหล่งต้นน้ำและอาหารสำคัญของประเทศ เปิดฉากเล่าถึงการเข้าไปคลี่ปมปัญหาใหญ่ของชาติโดยชวนคนต้นน้ำ เลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีรายได้จากการขายข้าวโพดกว่า 1,500-3,000 บาทต่อไร่ต่อปี เป็นอาชีพเดียวที่ใช้เลี้ยงตัวนั้น เกิดโทษมหาศาลมูลค่าถึง 40,000 บาทต่อไร่ ที่คิดคำนวณมาจากป่าต้นน้ำถูกบุกรุก เสื่อมโทรม และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นมหันตภัยที่คนเกือบทั้งประเทศรับเคราะห์ร่วมกัน
ยาและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกษตรกรใช้ ไหลลงสู่ผืนดินและกระจายสู่แหล่งแหล่งผลิตอาหารสำคัญ ยกตัวอย่างที่อ.แม่แจ่ม สัดส่วน 40%ของน้ำจากแม่แจ่มไหลไปสู่แม่น้ำปิง และสัดส่วนที่ไหลเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 17% เมื่อแหล่งอาหาร และน้ำต้นน้ำสำคัญของชาติ ปนเปื้นสารเคมี ก็หนีไม่พ้นที่จะส่งต่อไปยังปลายน้ำ คนในเมืองหลวง กรุงเทพฯ และที่สำคัญเกษตรกรได้เงินจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวกลับยังต้องซื้ออาหารกินถึง 60%
กองทุน FLR349 ที่ร่วมกันกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ที่เข้ามาร่วมให้การสนับสนุนอีกทาง รวมมูลค่า13.7 ล้านบาท โดยน้อมนำศาสตร์พระราชา ปลูกป่า3อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่9 ดึงให้เกษตรกรที่บ้านสองธาร (แม่ขี้มูก) อ.แม่แจ่ม กว่า 26 ครัวเรือน ครอบคลุม 130 ไร่ หันมาทำเกษตรสร้างประโยชน์กับตัวเอง สิ่งแวดล้อม คนในชุม และผู้บริโภคในประเทศ
โดยกองทุนมีเงินสนับสนุนให้ทำเกษตรเชิงนิเวศโดยมอบให้เกษตรกรครอบครัวละ 2,000 บาทต่อไร่ต่อปีต่อเนื่อง 5 ปี มากกว่าปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อจูงใจในร่วมฟื้นฟูป่า พัฒนาแหล่งน้ำ และอาหารปลอดภัย สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการยังชีพและมีสุขภาวะที่ฟื้นคืนกลับมา หลุดจากวังวนหนี้สิน ถูกเอาเปรียบกดราคารับซื้อจากระบบทุนนิยม
“เราต้องการทวงคืนผืนป่าโดยใช้กองทุน FLR349 เป็นเครื่องมือจูงใจเกษตรกรสู้กับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ตามศาสตร์พระราชา ที่นอกจากช่วยฟื้นผืนป่า ยังมีรายได้จากการปลูกพืช หลากหลายทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชเป็นอาหาร โดยมีแหล่งรับซื้อจากภาคีเครือข่าย บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (CSE) เป็นผู้รับซื้อ และกระจายสินค้า ”
พลาย ภิรมย์ ผู้จัดการโครงการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF-Thailand) เล่าถึงวัตถุประสงค์ของกองทุน FLR349 เป็นกองทุนที่ฟื้นผืนป่า โดยให้เกษตรกรปลูกอาหาร และสร้างอาชีพ โดยไม่ต้องเข้าอยู่ในวังวนของการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาจากความร่วมมือหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคม เอกชน ซึ่งล้วนเป็นผู้มีส่วนได้เสีย นำเงินเข้ากองทุน
โดยโมเดลแม่แจ่ม ในหมู่บ้านแม่ขี้มูก จะเป็นโครงการนำร่อง ที่มีการบริการจัดการยึดหลักธรรมาภิบาลโปร่งใส จัดการผลประโยชน์ให้เหมาะสม ยั่งยืน เพื่อเป็นตัวแทนนำร่องขยายจากระดับหมื่นไร่ที่ทดแทนสองสามแสนไร่ที่ถูกบุกรุก ให้เข้ามาเห็นความสำเร็จ และส่งต่อโมเดลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ รวมถึงระดับโลก
โครงการนี้ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs-Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ถึง 12 ข้อ จาก 17 ข้อ ประกอบด้วย ลดความยากจน ขจัดความหิวโหย สุขภาพดี การศึกษาเท่าเทียม ความเท่าเทียมทางเพศ การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำ การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน การรับมือกับการเปลงแปลงของสภาพภูมิอากาศ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล การใช้ประโยชน์จากนิเวศทางบก และการสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
“เราเป็นโมเดลที่เชื่อมกับ UN ที่จะมีโอกาสสเกลอัพกองทุนไปสู่ระดับประเทศ และต่างประเทศ นำโมเดลที่แก้ไขปัญหาจากจุดเล็กๆ ต้นน้ำ ขยายไปสู่ระดับโลก”
รัฐภัทร์ ศรีจันกลัด ตัวแทนจากมูลนิธินวัตกรรม เกษตรอินทรีย์ไทย เล่าถึงการทำงานร่วมกับชุมชนตลอดเวลาเกือบ 3ปีที่ผ่านมาพบว่า เกษตรกรบนดอยปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพราะไม่มีทางเลือกด้านอาชีพเลี้ยงตัวเพื่อดำรงชีวิต จึงเข้าไปให้ข้อมูลว่าพืชเชิงเดี่ยวถือเป็นฆาตกรทางอ้อมปล่อยสารเคมีลงในดิน เกิดมหันตรายทำลายประเทศ ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยอมหักดิบ
เป้าหมายของการพัฒนาต้องการลดภาระการซื้อาหารจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวไปซื้ออาหาร 60% เพราะมีแหล่งอาหารปลูกเอง และผลผลิตยังช่วยสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ 25% ผลจากการดูแลรักษาป่ายังมีอาหารและผลผลิตรายได้จากป่าอีก 20%
“คุยกับชุมชนชาวบ้านยินดีอยู่กับป่า หากมีอาชีพพร้อมที่จะกลับไปใช้ชีวิตย้อนหลังไปเหมือน 20 ปีที่แล้ว หากปลดภาระหนี้สิน ก็ยินดีที่จะเป็นผู้ดูแลรักษาป่า ปีแรกที่ชวนมาชาวบ้านยอมหักดิบ และเป็นปีที่ข้าวโพดขึ้นราคาขึ้นเพื่อนบ้านเยาะเย้ยนี่คือสิ่งกินได้จริงหรือจนเริ่มเห็นผลในปีที่2”เขาเล่า
ภานิต ภัทรสาริน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธกส. หนึ่งในภาคีเครือข่ายกล่าวว่า ธกส.ตั้งเป้าหมายเป็นหนึ่งในวาระการทำงานของธกส.ที่จะผลักดันให้โมเดลการฟื้นป่าของบ้านแม่ขี้มูก สำเร็จ เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบส่งต่อไปยังพื้นที่ชุมชนอยู่คู่กับป่า ทั่วประเทศ จึงทำต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี โดยทำคู่ขนานกับการลดภาระหนี้สินระหว่างที่เข้าร่วมกับโครงการ
ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานกรรมการ บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กลุ่มธุรกิจปลูกข้าวโพดหวานสำหรับรับประทานที่มีมูลค่าการส่งออกกว่าพันล้านบาทไป 70-80 ประเทศ มองว่ากลุ่มภาคธุรกิจส่งเสริมโมเดลนี้ ทั้งที่มีความมั่งคั่งในธุรกิจแล้ว เพราะไม่สามารถเติบโตได้ในอนาคตบนสภาพแวดล้อมของประเทศที่เสื่อมโทรมลง
“ภาคธุรกิจเป็นผู้ได้ประโยชน์สร้างความมั่งคั่งบนฐานทรัพยากร แต่เราตะหนักรู้ว่าไม่สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้หากมองเห็นปัญหาสังคมวนเวียนไปมา น้ำท่วม น้ำแล้ง หมอกควันบนฐานทรัพยากที่สร้างความมั่งคั่งให้เรา “ เขาจึงนิยมตัวเองว่าเป็นเสือตัวใหม่ นักธุรกิจกลุ่มใหม่ที่ไม่ใช่เพียงสร้างความมั่งคั่ง แต่ช่วยฟื้นฟูปัญหาระดับชาติ
เขาเชื่อว่าการแก้ปัญหาไม่ใช่การโยนบาปไปโทษใครทั้งรัฐ และเกษตรกร สิ่งที่พวกเขาจะลุกขึ้นมาทำ คือ ร่วมมือกันกับภาคีเครือข่าย ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดโดยอาศัยเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วนจึงจะเป็นแรงผลักดันที่ฟื้นฟูต้นน้ำของชาติได้ เพราะปัญหานั้นใหญ่เกินไปกว่าใครคนใดคนหนึ่งจะลุกมาทำเพียงคนเดียว จึงตั้งกลุ่มบริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม(CSE) เพื่อรวบรวมกลุ่มภาคธุรกิจ อาทิ วนัสนันท์ โอ้กระจู๋ เป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายจังหวัดเชียงใหม่ เป็นมือตลาดให้กับผลผลิตในหมู่บ้านนำร่อง FLR349 นำอาหารปลอดภัย ไปส่งต่อถึงมือผู้บริโภค
นิคม พุทธา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่ปิง ดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนภาคผู้บริโภค มองว่าการปลูกจิตสำนึกของผู้บริโภคด้วยกันเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกซื้อ เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์และไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออาหารยั่งยืน จึงต้องเริ่มจากการเข้าใจเชื่อมโยงธรรมชาติที่เกิดจากในใจ สร้างจิตสำนึกการบริโภคที่ยั่งยืน