อาณาจักรธุรกิจ 'คิงเพาเวอร์' เมื่อไร้เจ้าพ่อดิวตี้ฟรี
การจากไปของเจ้าพ่อดิวตี้ฟรี "วิชัย ศรีวัฒนประภา" มหาเศรษฐีอันดับ 5 ของไทย ซึ่งครอบครองสินทรัพย์มูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านบาท จะมีผลอย่างไรต่ออาณาจักรธุรกิจ "คิงเพาเวอร์"
ทีมข่าวเศรษฐกิจ เนชั่นทีวี เผยธุรกิจหลักที่สร้างรายได้มายาวนานและทำให้ วิชัย ศรีวัฒนประภา เป็นที่รู้จักในแวดวงนักการเมืองและนักธุรกิจของไทย คือร้านค้าปลอดอากร หรือดิวตี้ฟรี ซึ่งมีทั้งดิวตี้ฟรีในสนามบิน และดิวตี้ฟรีในเมือง ทำให้วิชัยถูกเรียกขานว่าเป็นเจ้าพ่อดิวตี้ฟรี
ก่อนจะขึ้นชั้นเป็นนักธุรกิจระดับโลก หลังจากซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ หนึ่งในทีมพรีเมียร์ลีกของอังฤษ ถือเป็นมหาเศรษฐีไทยคนที่ 2 ที่ครอบครองสโมสรฟุตบอลอาชีพของอังกฤษต่อจากอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร
จุดเริ่มต้นของธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินของคิงเพาเวอร์ เริ่มต้นในปี 2536 จากการเป็นผู้จำหน่ายสินค้าและของที่ระลึกในสนามบินดอนเมือง ซึ่งในขณะนั้นเป็นสนามบินหลักของประเทศและอยู่ในการกำกับดูแลของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. ก่อนจะรุกคืบสู่ธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินปี 2540
ต่อมา ทอท. ได้ก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเป็นสนามบินหลักแห่งใหม่ของประเทศแทนสนามบินดอนเมืองที่มีความแออัด และไม่สามารถขยายพื้นที่รองรับการให้บริการได้ โดยเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิในปี 2549 โดยคิงเพาเวอร์ได้สัมปทาน2สัญญาหลักในสุวรรณภูมิ คือสัมปทานร้านดิวตี้ฟรี และสัมปทานบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นสัมปทานที่สร้างความมั่งคั่งอย่างก้าวกระโดดให้กับเจ้าพ่อดิวตี้ฟรีมาจนถึงปัจจุบันสำหรับธุรกิจที่อยู่ภายใต้อาณาจักรคิงเพาเวอร์ในปัจจุบัน
นอกเหนือจากดิวตี้ฟรี เช่นธุรกิจป้ายโฆษณาในอาคารผู้โดยสารสนามบินกรุงเทพฯและภูเก็ต ธุรกิจโรงแรม พูลแมน กรุงเทพ คิง เพาเวอร์ ซอยรางน้ำ
ล่าสุดคือการซื้อโครงการมหานครในส่วนของโรงแรม จุดชมวิว และอาคารรีเทลมหานครคิวป์ ในวงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท และเปลี่ยนชื่อเป็น คิงเพาเวอร์ มหานคร เพื่อต่อยอดธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม โดยวางแผนพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ และประเทศไทย
ต้องจับตาดูว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจของคิงเพาเวอร์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เมื่อขาดหัวเรือใหญ่ในช่วงที่ 2 สัมปทานหลักในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของคิงเพาเวอร์ ใกล้จะครบกำหนดและอยู่ระหว่างขั้นตอนการเปิดประมูลรอบใหม่ซึ่งจะมีขึ้นในเร็วๆนี้