หวั่นรัฐเสียค่าโง่รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินซีพี
หวั่นรัฐเสียค่าโง่รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินซีพี
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยและเครือข่ายภาคประชาชนพร้อมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบใน eec เตรียมยื่นหนังสือจี้รัฐบาลเปิดเผยรายละเอียดสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 28 พ.ค. นี้ หวั่นรัฐเสียค่าโง่ซ้ำรอยโฮปเวลล์
นายพิพัทธ์ ชนะสงคราม ประธานกลุ่มธรรมาภิบาลไทย กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท รัฐบาลอาจเสียประโยชน์จากสัญญาร่วมทุนกับกลุ่ม CP และพันธมิตร โดยรัฐบาลควรจะระมัดระวังในการร่างสัญญามากกว่านี้ ไม่ให้ถูกมองว่าเป็นสัญญาเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนในโครงการที่จะนำมาพัฒนาประเทศ ซึ่งได้เห็นการต่อรองจากกลุ่มทุนที่ชนะประมูลมีหลายข้อต่อรองของกลุ่ม CP ที่ไม่ชอบมาพากลเช่นให้รัฐการันตีว่าจะไม่ขาดทุน หรือรัฐต้องอุดหนุนตั้งแต่ปีแรก พร้อมกับหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำยังไม่นับรวมการขอขยายเวลาสัญญาเป็น 99 ปีหรือแม้กระทั่งการขอปรับเส้นทางการเดินรถไม่ว่าจะขึ้นลอยฟ้าหรือบนดิน แม้ข้อเสนอดังกล่าวจะถูกกลุ่ม CP ถอนออกไปแล้วแต่ รายละเอียดของสัญญาจริงๆยังไม่มีใครรู้เห็น
จากการเฝ้าจับตามองโครงการนี้สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือค่าโง่ที่จะตามมา ปัจจุบันมีหลายโครงการของรัฐถูกนำเรื่องขึ้นอนุญาโตตุลาการและส่วนใหญ่ลงเอยด้วยการที่รัฐบาลต้องเสียค่าโง่เช่นโครงการโฮปเวลล์ เพราะฉะนั้นโครงการนี้ถ้ากลุ่ม CP ต่อรองมากๆและรัฐบาลไม่รอบคอบ เมื่อผิดพลาดขึ้นมา ประเทศชาติเสียหายดูจากที่กลุ่ม CP ชนะการประมูลมาในการเสนอราคาที่ต่ำมากก็กลัวว่าจะมีการเสียค่าโง่ในอนาคต
ล่าสุดกลุ่มเครือข่ายสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย เครือข่ายภาคประชาชน และชาวบ้านในพื้นที่ EEC ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมีมติร่วมกัน จะยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จะมีการพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวโดยจะ ขอให้ ขอให้ 1.รัฐบาลดำเนินโครงการใน EEC ไม่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุน และ 2. ขอให้มีการเปิดเผยสัญญาที่จะต้องลงนามกับกลุ่ม CP ว่ามีการต่อรองหรือมีเงื่อนไขใดๆหรือไม่ ซึ่งมีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า CP สามารถที่จะแก้ไขสัญญาเองได้ซึ่งอาจทำให้รัฐเสียผลประโยชน์
นายสาวิตรยังบอกอีกว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงการรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถดำเนินการโครงการนี้ได้เองทั้งหมดโดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งการรถไฟสามารถที่จะนำเงินจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินมักกะสันหรือศรีราชามาลงทุนก่อสร้าง โครงการนี้ได้เองในงบประมาณไม่เกิน 2 หมื่นกว่าล้านบาทซึ่งการรถไฟมีรางที่สร้างไว้อยู่แล้วเพียงแต่สร้างรางคู่เพิ่มเติมขึ้นมาก็สามารถดำเนินการได้ในงบประมาณที่ต่ำกว่าให้เอกชนดำเนินการ.