กรมแพทย์แผนไทยฯขยับลงนามแหล่งปลูกกัญชา 5 จังหวัด 4 ภูมิภาค

กรมแพทย์แผนไทยฯขยับลงนามแหล่งปลูกกัญชา 5 จังหวัด 4 ภูมิภาค

กรมแพทย์แผนไทยฯ ขยับลงนามแหล่งปลูกกัญชา 5 จังหวัด 4 ภูมิภาค ใช้วัตถุดิบผลิตตำรับยาไทย เบื้องต้นต้องใช้กัญชาสด 11 ตัน คาด 4 เดือนใช้ประโยชน์จากใบได้

วานนี้(4 มิ.ย.) มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทย ระหว่างกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กับสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)อีสาน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร โดยนพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า จากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวเป็นความร่วมมือด้านการปลูกพืชกัญชาเพื่อส่งผลิตเป็นตำรับยาตามกฎหมาย โดยมีแหล่งปลูกกระจายทั้ง 4 ภูมิภาค และส่งให้หน่วยผลิตที่กำหนด ดังนี้ ภาคเหนือ โดยสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ มีจ.ลำปางเป็นแหล่งปลูกและผลิตกัญชาสด ส่งมอบให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช(รพร.)เด่นชัย จ.แพร่


ภาคอีสาน สำนักงานสภาเกษตรกรฯ จ.บุรีรัมย์เป็นแหล่งปลูกและผลิตกัญชาสด ส่งมอบให้ รพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ มทร.อีสานและมก. สกลนคร เป็นแหล่งปลูกและผลิตกัญชาสด ส่งมอบให้รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร ภาคกลาง สำนักงานสภาเกษตรกรฯจ.กาญจนบุรีเป็นแหล่งปลูกและผลิตกัญชาสด ส่งมอบให้รพ.ดอนตูม จ.นครปฐม และศูนย์พันธุกรรมวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เป็นแหล่งปลูกและผลิตกัญชาสด ส่งให้กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร และภาคใต้สำนักงานสภาเกษตรกรฯจ.สุราษฎร์ธานีเป็นแหล่งปลูกและผลิตกัญชาสด ส่งมอบให้รพ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี


“ทุกหน่วยงานที่จะเป็นแหล่งปลูกและผลิตนี้จะต้องยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ก่อน และทุกแห่งจะต้องปลูกให้ได้ตามมาตรฐานทางการแพทย์(Medical Grade) ไม่มีสิ่งเจือปน 3 สิ่ง คือ ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก และจุลชีพอื่นๆ เช่น แบคทีเรียหรือเชื้อรา ส่วนปริมาณความต้องการใช้กัญชาเบื้องต้นหากใช้ในการผลิต 16 ตำรับยาแผนไทย เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ 1-2 เดือน แต่ละตำรับมีคนใช้ 1,000 คน คาดว่าใน 1 ปีจะใช้กัญชาสด 11 ตัน โดยแบ่งการปลูกเป็นส่วนของสภาเกษตรกรฯ 7 ตัน มทร. 2 ตัน มก.สกลนคร 1 ตัน ที่เหลือเป็นของไบโอเทค”นพ.มรุต กล่าว


นพ.มรุต กล่าวอีกว่า ส่วนการจัดทำเครื่องกัญชากลางเพื่อให้แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านใช้ในตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา หลังจากนี้ 3 เดือนซึ่งพ้นช่วงเวลาของการอนุโลมให้ครอบครองกัญชาได้จนกว่าระบบตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562จะมีความชัดเจนนั้น เบื้องต้นกรมฯจะมีการใช้กัญชาจากรพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่มีกัญชาแห้งอยู่ 20 กิโลกรัม และจะใช้ของกลางจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ซึ่งมีการส่งตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วพบว่ามีกัญชาแห้งประมาณ 7 กิโลกรัมที่มีความสะอาดไม่พบสิ่งปนเปื้อนทั้ง 3 สิ่ง ทั้งนี้ ในวันที่ 5 มิ.ย.2562 จะมีการหารือร่วมกันระหว่างกรม ป.ป.ส. อย.และองค์การเภสัชกรรม(อภ.) เพื่อจัดสรรกัญชาของกลางนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์


สำหรับกัญชาของกลางที่พบว่ามีจำนวนหนึ่งที่ผ่านการตรวจสอบแบบเฉียดฉิว คือมีโลหะหนักและยาฆ่าแมลงตกค้างอยู่บ้าง กรมจะดำเนินกาขอของกลางส่วนนี้เพื่อให้กองพัฒนายาและสมุนไพรที่ร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนำไปลองสกัดโดยวิธีพิเศษเพื่อแยกสิ่งตกค้างออกจากกัญชาของกลาง เนื่องจากสิ่งที่ปนเปื้อนในกัญชาเกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ 1.ปนเปื้อนโดยการดูดจากราก ซึ่งจะสามารถดึงสิ่งตกค้างออกได้ยาก และ2.ปนเปื้อนโดยฉาบบนผิว ซึ่งกัญชาของกลางส่วนใหญ่จะเป็นการปนเปื้อนจากการพ่นยาเชื้อรา ทำให้มีการตกค้างด้วยการฉาบผิว จะสามารถดึงสิ่งปนเปื้อนออกได้ง่าย เมื่อดึงที่ปนเปื้อนฉาบผิวออกแล้วหลังจากนั้นจะตรวจอีกครั้งว่ามีส่วนที่ปนเปื้อนในเนื้อหรือไม่ ก่อนนำมาใช้ประโยชน์ทางแพทย์แผนไทย


ด้านรศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร รองอธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวว่า มทร.อีสานอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อขออนุญาตจากปลูกจากอย.คาดว่าจะยื่นเรื่องได้ในเร็วๆนี้ การปลูกจะเป็นระบบปิด และออแกนิกส์ ซึ่งมหาวิทยาลัยมีการศึกษาวิจัยมาก่อนหน้านี้นานแล้ว ทั้งนี้ ประมาณการว่าน่าจะเริ่มปลูกได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้ ใช้เวลา 4 เดือนนำส่วนใบมาใช้ประโยชน์ได้ ขณะที่ส่วนของช่อดอกจะใช้เวลา 7-8 เดือน โดยขณะนี้มีเมล็ดพันธุ์พร้อมใน 8 สายพันธุ์ จำนวน 3-4 กิโลกรัม
รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มก.วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า มก.มีองค์ความรู้ในการปลูกกัญชาแบบเมดิคัลเกรดอยู่แล้ว ซึ่งการปลูกนั้นนอกจากมุ่งหวังให้กับกรมการแพทย์แผนไทยฯแล้ว จะมุ่งในเรื่องของการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้ได้คุณภาพคงที่ด้วย เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีการพัฒนาสายพันธ์มานานทำให้ผลิตผลที่ได้ไม่มีความนิ่งมากเพียงพอ


นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า กัญชาที่จะนำมาปลูกเป็นสายพันธุ์ไทย คือ สายพันธุ์หางกระรอก โดยจะปลูกแบบออร์แกนิค ซึ่งต้องได้มาตรฐานทางการเกษตรที่ดี (GAP) และมาตรฐานทางการแพทย์หรือเมดิคัล เกรด ไม่มีสิ่งปนเปื้อน ซึ่งจะปลูกทั้งในโรงเรือนที่มีการควบคุมปัจจัยต่างๆ และการปลูกนอกโรงเรือนควบคู่กันไป แต่เป็นแบบพื้นที่ปิด เพื่อวิจัยไปด้วยในการเปรียบเทียบความแตกต่างการปลูกระหว่างสองแบบว่า มีการเจริญเติบโตและสรรพคุณทางยาหรือสารสำคัญแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร สำหรับการปลูกจะใช้พื้นที่ 2x2 เมตรต่อต้น ดังนั้น 1 ไร่น่าจะปลูกได้ประมาณ 400 ต้น โดยขณะนี้มีความพร้อมในการปลูกโดยมีเกษตรกรที่เป็นอาสาสมัคร เพราะการปลูกให้กับกรมการแพทย์แผฯไทยฯเป็นการปลูกแบบให้เปล่า ไม่ได้มีการซื้อขาย เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์สำหรับผู้ป่วย


“การปลูกของสภาเกษตรกณฯจะเป็นลักษณะของการศึกษาวิจัย โดยยินดีที่จะให้นักวิชาการและนักวิจัยต่างๆเข้ามาร่วมศึกษา เพื่อศึกษาวิจัยสายพันธุ์ รวมถึง ต้นทุนการผลิตเพื่อให้หน่วยงานรัฐใช้เป็นข้อมูลในการที่จะการร่วมมือผลิตกับเกษตรกรได้ในอนาคต และวิจัยเรื่องการควบคุมศัตรูพืชกัญชา เป็นต้น”นายประพัฒน์กล่าว